จากรายงานวารสารแพทย์สมาคม ฉบับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่ระบุถึงการพบผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเยื่อหุ้มปอดเพิ่มอีก 2 ราย ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลโรคทรวงอก ซึ่งภายหลังซักประวัติพบว่าเคยเป็นคนงานในโรงงานซีเมนต์ใช้ใยหินเป็นส่วนประกอบ นับเป็นการตอกย้ำถึงภัยร้ายที่มาจากแร่ใยหินล่าสุด ที่นำไปสู่การออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้งของเครือข่ายสังคมไทยไร้แร่ใยหิน(ทีแบน)เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้ามติ ครม.ยกเลิกนำเข้าและผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีใยหินเป็นส่วนประกอบสิ้นปีนี้ ท่ามกลางกระแสล็อบบี้ให้รัฐบาลยอมรับแผนยืดเวลายกเลิกนำเข้าใยหินออกไปอีก5ปี
นพ.อดุลย์ บัณฑุกุล เลขาธิการสมาพันธ์อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานและเครือข่ายสังคมไทยไร้แร่ใยหิน กล่าวถึงสถานการณ์ผลกระทบจากแร่ใยหินล่าสุดว่า จากวารสารแพทยสมาคมเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา (Med Assoc Thai Vol. 95 Suppl. 8 2021) ได้นำเสนอบทความโดย พญ.พงษ์ลดา สุพรรณชาติ, นพ.ณรงค์ภณ ทุมวิภาต และ นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ได้ระบุว่าพบผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดและโรคปอดแอสโตซิส ซึ่งมีประวัติสัมผัสแร่ใยหินเพิ่มอีก 2 ราย โดยเคยทำงานในโรงงานที่ผลิตซีเมนต์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบและเข้ารักษาที่โรงพยาบาลโรคทรวงอก หลังจากก่อนหน้านี้เคยพบผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดที่มีประวัติสัมผัสใยหินเสียชีวิตรายแรกในปี 2552 โดยบทความนี้ชี้ว่าแอสเบสทอสเป็นสารซึ่งมีอันตรายต่อสุขภาพ สามารถก่อโรคในคนทั้งที่เป็นเนื้อร้ายและโรคอื่นๆ ที่มิใช่เนื้อร้าย ทั้งที่โรคนี้เป็นโรคที่ป้องกันได้แต่ไม่สามารถรักษาให้หายได้
นพ.อดุลย์ เล่าว่าผู้เสียชีวิต 2 รายเป็นผู้ชาย โดยรายแรกอายุ 51 ปี มาพบแพทย์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 โดยมีอาการมาแล้ว 1 เดือน แพทย์วินิจฉัยเป็นโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด มีประวัติทำงานในโรงงานที่ใช้แร่ใยหินมาตั้งแต่ปี 2528 และเสียชีวิตภายในเวลา 4 เดือนหลังพบแพทย์ ส่วนผู้เสียชีวิตรายที่ 2 อายุ 76 ปี มีประวัติสูบบุหรี่และมีโรคอื่นๆร่วมด้วย ป่วยมากกว่า 5 ปี ได้มาตรวจในเดือนกรกฎาคม 2554 ด้วยอาการโรคปอด ไอแห้งๆ ผอมลงเรื่อยๆ จากการซักประวัติพบว่า เคยทำงานในโรงงานที่ใช้ใยหินมาเป็นเวลา 35 ปี โดยเกษียณออกจากงานเมื่ออายุ 60 ปี แพทย์จึงได้มีการเจาะชิ้นเนื้อส่งตรวจ พบว่าเป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอดร้ายแรง นอกจากนี้ยังมีการนำฟิล์มเอกซเรย์ของผู้ป่วยทั้ง 2 ราย ไปเปรียบเทียบกับฟิล์มเอกซเรย์ของทางองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) พบว่าเป็นอาการเยื่อหุ้มปอดหน้าที่เป็นอาการที่เกิดจากแอสเบสทอสเหมือนกัน
อย่างไรก็ตามมีรายงานพบผู้ป่วยจากใยหินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะโรคนี้จะปรากฏอาการหลังสัมผัสใยหิน 20-30 ปีมาแล้ว ซึ่งหากแพทย์มีการซักประวัติผู้ป่วย เชื่อว่าจะพบผู้ป่วยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะอยู่ที่ปีละ1,000 คน ทั้งนี้ ปัจจุบันเชื่อว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากที่เสียชีวิตจากใยหิน เพียงแต่ไม่ได้รับการวินิจฉัย เนื่องจากผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับโรคปอด และมีเพียงโรงพยาบาลไม่กี่แห่งที่สามารถทำการตรวจวินิจฉัยยืนยันได้
"ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากใยหินสูงมาก อยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาทต่อคน ซึ่งประเทศไทยมีการใช้แร่ใยหินมาเป็นเวลากว่า 30 ปี จึงเชื่อว่าจำนวนผู้ป่วยน่าจะมีมากกว่านี้" นพ.อดุลย์ กล่าว
สำหรับโรคปอดที่เกิดจากแอสเบสโตซิส นพ.อดุลย์ บอกว่าเบื้องต้นผู้ป่วยจะมีอาการโรคปอด ไอ มีเสมหะ หอบ เหนื่อยง่าย หากมีอาการหนักมากๆ จะไอเป็นเลือด โดยผู้ป่วยที่ยังไม่เป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอด จะมีอาการหลอดลมอุดกั้น อาการคล้ายกับคนสูบบุหรี่ที่เป็นโรคถุงลมโป่งพอง ส่วนผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอดนั้น จะมีเยื่อหุ้มปอดหนา มีก้อนเนื้อในปอดและตับ อาการคล้ายกลับโรคมะเร็งปอด โดยโรคนี้ดีที่สุดคือการป้องกัน แต่หากป่วยแล้วไม่สามารถหยุดโรคได้ อย่างไรก็ตามผู้ที่เคยทำงานสัมผัสใยหิน ควรมีการเฝ้าระวังโรคด้วยตรวจภายหลังจากสัมผัส 10 ปี หลังจากนั้นควรเอกซเรย์ปอดทุก 2 ปี และ 1 ปีตามลำดับ
ด้าน ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่าจากข้อมูลที่พบผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากใยหิน 2 รายข้างต้น เป็นสัญญาณเตือนน่ากลัว เพราะในความเป็นจริงอาจมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคนี้แล้วเป็นร้อยราย แต่เข้าสู่ระบบการวินิจฉัยแค่ 2 รายเท่านั้น และเชื่อว่าจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ที่ผ่านมาสภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียนได้แสดงความกังวลในเรื่องนี้ และได้มีมติให้ยกเลิกการใช้สินค้าจากแร่ใยหิน ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการเปิดการค้าเสรีอาเซียนที่จะมาถึง ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นความท้าทายของรัฐบาลที่จะยกเลิกการนำเข้าและผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของใยหิน ซึ่งแม้แต่ประเทศในแถบยุโรปเองได้มีการยกเลิกตั้งแต่ 20-30 ปีที่แล้ว โดยให้มีการเปลี่ยนมาใช้สารทดแทน
ดร.จิราพร บอกด้วยว่า ที่ผ่านมาทาง ครม.ได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการนำเข้าและผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีใยหินเป็นส่วนประกอบแล้ว ตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 พร้อมมอบให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินการตามเป้าหมายนี้ แต่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมกลับให้ทางมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชทำการศึกษา โดยมีการจัดทำแผนยืดระยะเวลาการยกเลิกออกไปอีก 5 ปี ที่เป็นการยื้อการดำเนินตามมติ ครม.ออกไป ทำให้ภาคประชาชนและนักวิชาการเกิดความกังวลใจ หวั่นเป็นการเอื้อให้เอกชน
ดังนั้นจึงอยากให้นายกรัฐมนตรี และ ครม.เดินหน้าตามมติ ครม.เดิมที่เห็นชอบไปแล้วในการยกเลิกการนำเข้าและใช้ใยหินในสิ้นปีนี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน อย่าได้เห็นชอบตามแผนที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะนำเสนอ ขณะที่ นางสมบุญ ศรีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย บอกว่าเราไม่รู้เลยว่ามีเพื่อนคนงานที่เสียชีวิตจากการทำงานในอุตสาหกรรมไปมากน้อยแค่ไหน เพราะการตรวจวินิจฉัยโรคที่เกิดจากการทำงานในภาคอุตสาหกรรมยังเป็นปัญหา โดยในส่วนของโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดที่เกิดจากใยหินนั้น ใช้ระยะเวลาก่อโรคค่อนข้างนานจนคนงานหลายคนออกจากงานไปแล้ว การตามวินิจฉัยโรคจึงเป็นเรื่องยาก
" หากนายกรัฐมนตรีไม่มีนโยบายให้ยกเลิกใยหิน ทางเครือข่ายที-แบนจากทั้งในและต่างประเทศจะมีการรวมตัวที่ประเทศไทยเพื่อคัดค้านในเรื่องนี้" นางสมบุญ กล่าว
ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 29 ตุลาคม 2555
- 5 views