หลังจากที่นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้ามารับตำแหน่งได้เพียงไม่ถึงสัปดาห์ ก็ลุยกวาดล้างผู้ประกอบการที่ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายไปกว่า 3 แห่งมีมูลค่าหลายล้านบาท เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคอย่างเข้มข้น พร้อมกันนี้ได้เปิดเผยถึงนโยบายการทำงานเชิงรุกให้สยามรัฐ ฟังว่า ขณะนี้มีอยู่ 2-3 เรื่องที่ อย.จะรีบดำเนินการ ซึ่งบางเรื่องจะเป็นการสานต่อนโยบายเลขาธิการ อย. คนเก่า เช่น เรื่องของการสนับสนุนสินค้าในระดับชุมชน หรือโอทอป ให้มีคุณภาพมาตรฐานในการผลิต เพื่อขยายช่องทางการจำหน่ายให้กับผลิตภัณฑ์โอทอป รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีความพร้อมในการแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ที่มาจากประเทศอื่นๆ ในระยะยาวและประสานกับสำนักงานจังหวัดทั่วประเทศ จัดงานโอทอปช่วงเดือนพฤศจิกายน หรือธันวาคม เพื่อประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์โอทอปให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้น
เรื่องที่สองจะเน้นไปที่การปรับขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยา หรืออาหาร เพื่อให้มีความคล่องตัวและรวดเร็วมากขึ้น บางอย่างหากมีระยะเวลานานเกินไปก็ต้องปรับลดลง ส่วนขั้นตอนไหนที่ไม่จำเป็นก็จะตัดออกนโยบายดังกล่าว ถือเป็นการบ้านข้อใหญ่ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายวิทยา บุรณศิริ) มอบหมายให้อย. ดำเนินการ โดยจะเน้นเรื่องความเสี่ยงเป็นหลักพร้อมตั้งเป้าว่าภายใน 3 เดือนนี้ จะลดให้ได้ ส่วนจะลดอะไรแค่ไหนอย่างไรนั้น จะต้องพิจารณากันต่อไป
"ขณะเดียวก็จะส่งเสริมและสนับสนุนให้เริ่มกระบวนการผลิตยาสามัญ ซึ่งจะทำให้ราคายาลดลง มีการแข่งขันกับยาต้นแบบอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าที่เลขาธิการ อย. คนเก่าทำมาแล้ว แต่ยังไม่เป็นรูปธรรมชัดเจน ดังนั้นจะเร่งทำเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพื่อให้มีผู้มาขอขึ้นทะเบียนยาชื่อสามัญมากขึ้น เป็นทางเลือกสำหรับแพทย์และผู้ประกอบวิชาชีพที่จะเลือกใช้ยาที่ผลิตในประเทศไทยที่มีราคาถูกกว่ายาที่นำเข้าจากต่างประเทศ สิ่งดังกล่าวเป็นนโยบายหลักๆ ที่จะดำเนินการใช่ช่วง 3 เดือนแรก"นายแพทย์บุญชัย กล่าว
ส่วนเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภคจะมีทั้งงานทางด้านการดูแลผลิตภัณฑ์ก่อนออกสู่ท้องตลาด และการดูแลผลิตภัณฑ์หลังจากที่ได้วางขายในท้องตลาดแล้ว กรณีแรกจะดูแลด้วยกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะการขออนุญาตขึ้นทะเบียน ด้วยการลดขั้นตอนต่างๆ เพื่อความสะดวกและรวดเร็วต่อผู้ประกอบการ ซึ่งจะเน้นไปที่คุณภาพความปลอดภัยและประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์เป็นหลัก
กรณีที่วางขายในท้องตลาดแล้ว จะต้องมีมาตรการที่เข้มงวดในการออกตรวจสอบ โดยทาง อย. จะส่งทีมไปตรวจซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันกับตำรวจ กองบังคับการป้องกันและปราบปรามคดีที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือบก.ปคบ. อย่างใกล้ชิด ออกไปดำเนินการตามข้อร้องเรียนของประชาชนหรือที่ได้รับเบาะแสว่ามีการผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งในช่วง6 วันที่มารับตำแหน่งก็ดำเนินการไป 3 ครั้ง ในเรื่องของผลิตภัณฑ์ต่างๆ
ในโอกาสที่ไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 เลขาธิการ อย.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของ อย. ว่า ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง ประเด็นสำคัญจะต้องดูว่าหลักเกณฑ์ มาตรฐาน หรือกฎเกณฑ์ในภาพรวมของอาเซียน เขียนไว้อย่างไร ซึ่งแต่ละประเทศจะร่วมกันเขียน จากนั้นนำมาพิจารณาว่าสอดคล้องหรือเป็นไปตามหลักเกณฑ์แล้วหรือยัง ถ้ายังก็ต้องรีบเร่งดำเนินการถ้าทำดีอยู่แล้วก็รักษาระดับนั้นเอาไว้ ซึ่งขณะนี้ก็มีหลายผลิตภัณฑ์ที่ดำเนินการได้ค่อนข้างดี เช่น เรื่องของเครื่องสำอางก็ค่อนข้างจะสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของอาเซียนแล้ว ซึ่งทุกประเทศก็ใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน เพราะฉะนั้นเวลาสินค้าเข้า-ออก ก็มีความมั่นใจได้ว่าผ่านกฎเกณฑ์ ผ่านการตรวจสอบและการรับรองด้วยมาตรฐานเดียวกัน
นอกจากนี้ จะเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรให้มีศักยภาพด้วยการส่งบุคลากรเข้าร่วมประชุม และมีส่วนร่วมในเวทีต่างๆทั้งในระดับอาเซียน และระดับสากล เพื่อสร้างเครือข่ายและพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ให้มีความเป็นสากลมากขึ้นรวมถึงเตรียมความพร้อมด้านสถานที่ อุปกรณ์และกำลังคนในเรื่องด่านอาหารและยาที่มีอยู่ที่สนามบินนานาชาติทุกแห่งในประเทศไทยและท่าเรือ รวมทั้งด่านทางบก ตามจังหวัดชายแดนต่างๆ ให้มีความพร้อมในการดูแลผลิตภัณฑ์ต่างๆที่จะเข้ามาและก็ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย
"วันนี้ อย. ยังคงทำงานร่วมกับผู้ประกอบการด้วยการสนับสนุนให้มีศักยภาพในการผลิตสินค้าอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน มีความปลอดภัย สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกในระดับสากล ฉะนั้นกฎเกณฑ์ที่กำลังจะออกมาใหม่ หรือกำลังจะยกเลิก อย. จะปรึกษาหารือกับผู้ประกอบการก่อนดำเนินการ ส่วนด้านคุ้มครองผู้บริโภค ก็จะทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรเอกชน หรืออาสาสมัครสาธารณสุข อย.น้อย เพื่อให้เป็นหูเป็นตากับพี่น้องประชาชนและจะออกไปตรวจสอบ ดำเนินคดีกับรายที่ทำไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้มากขึ้น สิ่งดังกล่าวเป็นทิศทางกว้างๆ ของ อย.ที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต" เลขาธิการ อย. กล่าว
ทั้งนี้ อย.มีบทบาทหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการของไทยให้มีศักยภาพแข่งขันในตลาดโลกซึ่งสองส่วนนี้จะต้องไปด้วยกัน ตราบใดที่ยังยึดถือเรื่องคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยและประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์
ขณะนี้ยังมีปัญหาเรื่องของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่เป็นจำนวนมาก ต้องอาศัยความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนช่วยกันดูแล เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคมีความเจริญก้าวหน้าเพราะเมื่อผู้ประกอบการมีศักยภาพ ประชาชนก็จะได้บริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยมีคุณภาพ และมีประสิทธิผล
ที่มา: นสพ.สยามรัฐ วันที่ 17 ตุลาคม 2555
- 2 views