เว็บไซต์Way Magazine เผยแพร่บทความที่น่าสนใจยิ่ง "ยาครึ่งหนึ่งในฝรั่งเศส ไม่มีประโยชน์" ข้อมูลอ้างอิงจากหนังสือชื่อ4,000 Useful, Useless and Dangerous Medicines เขียนขึ้นโดย 2 ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข
หนึ่งคือ ฟิลิปป์ เอวอง อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลเนคเกอร์ กรุงปารีส อีกหนึ่งคือ แบกนาร์ ดูเบร นายแพทย์ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครีพับลิกัน
ข้อมูลระบุชัดชาวฝรั่งเศสใช้ยา 47 แพ็กต่อปี ค่าใช้จ่ายอยู่ที่คนละ 532 ยูโรหรือ 2.1 หมื่นบาท... หากรัฐบาลสามารถหยุดการกระจายยาที่ไม่จำเป็นได้ จะประหยัดงบประมาณได้ถึง 1 หมื่นล้านยูโร หรือ 4 แสนล้านบาท
"พวกเขาให้ข้อมูลว่า แรงกดดันในตลาดยาส่วนใหญ่มาจากฟากอุตสาหกรรมยา ซึ่งมีรัฐบาลและแพทย์คอยหนุนอยู่" บทความระบุ สถานการณ์ในประเทศฝรั่งเศส เป็นสภาพการณ์เดียวกันกับที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้หารือร่วมกับ "นักธุรกิจสหรัฐอเมริกา" เมื่อสิ้นสุดการประชุมนายกรัฐมนตรีรับปากว่าจะตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับบริษัทยาข้ามชาติ เพื่อกำหนดราคายาและเวชภัณฑ์ให้อยู่ในระดับเหมาะสม
แม้ยังไม่ประจักษ์รูปธรรมของคณะกรรมการชุดดังกล่าว แต่ได้ปรากฏร่องรอยความเคลือบแคลงขึ้น นั่นเพราะที่ผ่านมาบริษัทยาสหรัฐได้เดินสายล็อบบี้รัฐบาลทั่วโลกใน 2 ลักษณะ คือ 1.เข้าพบรัฐบาลในสถานะสภานักธุรกิจอเมริกัน (เช่นเดียวกับการเข้าพบยิ่งลักษณ์) 2.ให้รัฐบาลสหรัฐเป็นผู้เจรจาต่อรองภายใต้ข้อตกลงกรอบการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ
กระทั่งเข้าสู่เดือน ก.ย. มีความพยายามจากบริษัทยาข้ามชาติเข้ากดดันฝ่ายการเมืองอีกครั้ง ข้อเสนอคือ ต้องการให้จัดปรับอำนาจของหน่วยงานที่ดูแล "กลไกราคายา"ใหม่กล่าวคือ ต้องการถ่ายอำนาจของอนุกรรมการพิจารณากำหนดราคากลางยาและ อนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ (มีระบบตรวจสอบการต่อรองราคายา และการกำหนดราคากลางยาที่เข้มงวด จากหลายภาคส่วน) มาขึ้นตรงกับคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัยและค่าบริการทางการแพทย์ (กรรมการส่วนใหญ่เป็นฝ่ายการเมือง กับข้าราชการประจำ)
คำถามคือ หากมีการจัดปรับอำนาจใหม่จริง จะมีหลักประกันใดที่ยืนยันได้ว่า 2 คณะอนุกรรมการข้างต้นยังจะทรงประสิทธิภาพเหมือนเช่นที่ผ่านมา
โครงการ Measuring Transparency in Medicines Registration, Selection and Procurement ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลออสเตรเลีย (AusAID) และองค์การอนามัยโลก ทำการสำรวจและตีพิมพ์เป็นรายงานในปี 2549
จากคะแนนเต็ม 10 ...ประเทศไทยได้ 7 คะแนน ด้านธรรมาภิบาลในกระบวนการขึ้นทะเบียนยา สำหรับการจัดซื้อยาและการคัดเลือกยาบรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ ประเทศไทยได้ถึง 8 และ 7.1 คะแนน ตามลำดับ
ที่มา: นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 17 กันยายน 2555
- 3 views