สถิติการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นทุกปี...ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุชัด ช่วงปี 2550-2555 อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นจาก 3,756 ราย เป็น 3,985 ราย
เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 เมื่อปี2554 มีการหารือเพื่อกำหนดมาตรการเรื่องการจัดการปัญหาการฆ่าตัวตาย ภายใต้แนวคิด "สุขใจ ไม่คิดสั้น"
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการจัดการปัญหาการ ฆ่าตัวตาย เพื่อรายงานความคืบหน้าในการแก้ปัญหาของหน่วยงานต่างๆ เสนอต่อเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 วันที่ 18-20 ธ.ค.นี้ ที่หอประชุมสหประชาชาติ ภายใต้แนวคิด "สานพลัง สร้างสุขภาวะชุมชน"
นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล ในฐานะรองประธานในที่ประชุม กล่าวว่า สถานการณ์การฆ่า ตัวตายของประเทศไทยแตกต่างจากต่างประเทศ โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า สาเหตุของการฆ่าตัวตายของคนส่วนใหญ่เกิดจาก ภาวะ "โรคซึมเศร้า" แต่ส่วนของไทยมาจากความรู้สึก "ความหุนหันพลันแล่น" ซึ่งเป็นพื้นฐานของชาติ ในเอเชีย
สิ่งที่น่ากังวลมาก คือ ในระยะ 2 ปีหลังจากนี้ อัตราการฆ่าตัวตายของไทยสูงขึ้น สาเหตุหลักมา จากปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจที่เลวร้ายลง โดย เฉพาะปัญหา "หนี้สิน" ที่ทำให้คนถูกติดตามทวงหนี้ โดนยึดบ้าน หรือขายที่ดินให้นายทุน ทำให้ต้องกลายเป็นผู้เช่าบ้านอยู่อาศัย ส่วนเกษตรกรต้องกลายเป็นผู้เช่าที่ดินทำนา ทำสวน ทำไร่ ปัญหารองลงมา คือ โรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ทำให้ความสุขในการมีชีวิตอยู่ลดลง
ปัญหาหลักเรื่องหนี้สินถ้าวิเคราะห์สาเหตุได้ดี จะพบว่า มาจากชาวบ้านขาดความรู้ในการบริหารจัดการทางการเงิน ดังนั้นแนวทางที่จะป้องกันได้ อย่างหนึ่ง คือ ฝึกให้ชาวบ้านบริหารรายรับรายจ่าย ให้เป็นและกำจัดเครื่องมือที่นำไปใช้ในการฆ่าตัวตายไปพร้อมกัน อาทิ สารพิษทางการเกษตรที่ใช้ในการฆ่าตัวตาย ซึ่งประเทศศรีลังกาเคยทำประสบความสำเร็จมาแล้ว
สำหรับประเทศไทยมีโจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย คือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการฆ่าตัวตายอยู่ในบ้าน ดังนั้นเมื่อเกิดความรู้สึกหุนหันพลันแล่นก็สามารถฆ่าตัวตายได้ทันที
นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ ประธานในที่ประชุม กล่าวว่า ไม่อยากให้มีการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ต้องเน้นวิธีป้องกัน ด้วยการสร้าง "วัคซีนทางสังคม" และสื่อสารไปยังทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดความร่วมมือป้องกันปัญหาร่วมกัน พร้อมกับลงไปป้องกันในระดับ พื้นที่ชุมชน โดยอาศัยกลไกขององค์กรปกครองท้องถิ่น
ที่สำคัญต้องทำอย่างต่อเนื่องยกตัวอย่างปัญหาการฆ่าตัวตาย ที่ จ.น่าน ก็มีสาเหตุไม่แตกต่าง จากพื้นที่อื่นหากเป็นผู้ใหญ่จะมาจากโรคร้าย ความเจ็บป่วย และปัญหาหนี้สิน ส่วนวัยรุ่นจะเป็นเรื่องความรัก
ความยากในการแก้ปัญหาการฆ่าตัวตายมาจากการที่เราไม่สามารถเข้าถึงปัญหาและจิตใจกลุ่มเสี่ยงได้อย่างแท้จริง ทำให้บางครั้งป้องกันได้ลำบาก ส่วนใหญ่เป็นความคิดหุนหันพลันแล่น ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องแก้ไขทุกวิถีทางและลงไปให้ถึงในระดับพื้นที่ รวมถึงการขยายสายด่วน "Hotline" ให้ ครอบคลุมและเฝ้าระวังกลุ่มป่วย
เบ็ญพรรณ คำก้อน พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลสารภี จ.เชียงใหม่ ระบุว่า หากจะแก้ปัญหา ในเรื่องนี้อย่างจริงจังต้องเริ่มต้นจากการค้นหาว่าใครมีความเสี่ยงกับการฆ่าตัวตายและเร่งช่วยเหลือ โดยร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่ ปราชญ์ชาวบ้าน พระ เป็นต้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้มองโลกในแง่บวก
จิตรา ดุษฎีเมธา นักวิชาการจากโครงการศูนย์ พัฒนาความสุขมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ย้ำว่า การแก้ปัญหาการฆ่าตัวตาย ความร่วมมือกับสื่อเป็นเรื่องสำคัญไม่เพียงทำหนังหรือละครเพื่อสะท้อนปัญหาและสร้างทางเลือกใหม่ๆ ในช่วงที่คนคิดจะฆ่าตัวตาย เช่น มีข้อคิดดีๆ มอบให้ ส่วนในระดับพื้นที่ต้องทำไปพร้อมกัน คือ "ลานสร้างสุข" โดยจัดพื้นที่ในชุมชนให้เป็นที่พบปะ หรือที่ทุกคนในชุมชนเข้ามาร่วมแล้วเกิดความสุข
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 26 ตุลาคม 2556
- 27 views