หลายคนไม่รู้ สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตอนนี้วิกฤตหนักการระบาดรุนแรงกว่าเก่าชนิดน่าหวาดวิตก นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ มันไม่ใช่เรื่องไกลตัว
จากสถิติ ... ตั้งแต่ต้นปี เดือน ม.ค. จนถึงเดือน มิ.ย.นี้ มีผู้ป่วยแล้วไม่ต่ำกว่า 4.3 หมื่นรายในจำนวนนี้เสียชีวิต 50 ราย
เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว มีผู้ป่วยเพียง 1.4 หมื่นรายเสียชีวิต 9 ราย
นั่นเท่ากับว่า ปี 2556 มีผู้ป่วยสูงกว่าปี 2555 ถึง 3 เท่าตัวหากย้อนข้อมูลกลับไปอีก 3 ปี จะพบว่าตัวเลขไม่เคยสูง เช่นนี้มาก่อน
ปี 2554 ป่วย 1.65 หมื่นรายตาย 12 รายปี 2553 ป่วย 2.6 หมื่นรายตาย 30 รายปี 2552 ป่วย 1.7 หมื่นรายตาย 16 ราย นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า จ.สงขลา เชียงใหม่ และเชียงราย เป็นพื้นที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด
ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ประสานไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อตั้งศูนย์เฝ้าระวังแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก (วอร์รูมไข้เลือดออก) ในทุกจังหวัดทั่วประเทศแล้ว
สำหรับโรคไข้เลือดออกจัดเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย และเป็นปัญหาสาธารณสุขทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในเขตร้อนชื้น
ทั่วโลกมีผู้เสี่ยงต่อการติดโรคไข้เลือดออกกว่า 2,500 ล้านคน ในจำนวนนี้ 70% หรือประมาณ 1,800 ล้านคน อาศัยอยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน
ในประเทศไทย มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกตั้งแต่ปี 2501 จากสถิติเฉลี่ยรายปีพบผู้ป่วยประมาณ 5 หมื่น-1 แสนคน และตัวเลขที่น่าตระหนกคือเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี กว่า 150 ราย ต้องมาเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคร้ายนี้ และรัฐต้องใช้งบประมาณกว่า 250 ล้านบาท/ปี ไปกับค่ารักษาพยาบาล
สาเหตุของการเกิดโรคเกิดจากยุงเป็นพาหนะของโรค อาการหลัก มีไข้สูงเฉียบพลันประมาณ 2-7 วัน เบื่ออาหารหน้าแดง ปวดศีรษะ ร่วมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน และมีอาการปวดท้องร่วมด้วย
ผู้ป่วยจะมีจุดเลือดสีแดงออกตามลำตัว แขนขา อาจมี เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน และถ่ายอุจจาระดำ อันเนื่องมาจากเลือดออกในทางเดินอาหารหนักเข้าจะมีภาวะ ช็อก โคม่า และเสียชีวิตในท้ายที่สุด
นอกจากนี้ เนื่องจากไข้เลือดออกมี4 สายพันธุ์ ซึ่งในแต่ละปีจะมีการระบาดของสายพันธุ์ต่างๆ สลับกันไป หากผู้ป่วยติดเชื้อไข้เลือดออกสายพันธุ์ใดไปแล้ว ร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นตลอดชีวิต และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันข้ามไปยังสายพันธุ์อื่นได้ระยะหนึ่งก่อนภูมิคุ้มกันในสายพันธุ์อื่นจะหายไป
ดังนั้น ผู้ที่เคยเป็นไข้เลือดออกแล้วก็ยังสามารถกลับมาเป็นได้อีกในสายพันธุ์ที่ต่างจากที่เคยเป็น แต่ทว่าการติดเชื้อครั้งที่ 2 มักจะมีอาการรุนแรงกว่าการป่วยครั้งแรก แต่โดยส่วนใหญ่แล้วคนเรามักติดเชื้อไม่เกิน 2 ครั้ง
ปัจจุบันโรคไข้เลือดออกยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ และไม่มีวัคซีนป้องกัน การรักษาเบื้องต้นจะให้ยาลดไข้ ยาลดไข้ที่ควรใช้คือ พาราเซตามอล ไม่ควรใช้ยาจำพวกแอสไพริน เนื่องจากจะทำให้เกล็ดเลือดผิดปกติและระคายกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ ต้องให้น้ำชดเชย ติดตามอาการใกล้ชิด หากหนักต้องส่งแพทย์ทันที
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 22 มิถุนายน 2556
- 59 views