กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ภายใต้การนำของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยปักธง "สุขภาพมาตรฐานเดียว" มาตลอดปี 2555
เริ่มจาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนยันในหลักการลดความเหลื่อมล้ำ "บูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพ" เรื่อยมาถึงกลางยุครัฐมนตรี วิทยา บุรณศิริ ทำคลอดนโยบาย "เจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว" เริ่มดำเนินการ 1 เม.ย. 2555 หลักการคือ ผู้ป่วยฉุกเฉินถึงขั้นเสียชีวิต จะได้รับการรักษาฟรีทันที โรงพยาบาลจะไม่ถามว่าผู้ป่วยใช้สิทธิประกันสุขภาพระบบใด เมื่อพ้นภาวะวิกฤตแล้วโรงพยาบาลจึงไปเบิกค่ารักษากับกองทุนสุขภาพเอง
เฟส 2 ของนโยบายตระกูลมาตรฐานเดียว คือ "เอดส์-ไต มาตรฐานเดียว" เริ่มดำเนินการ 1 ต.ค. 2555 หลักการคือ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และผู้ติดเชื้อเอชไอวี จะได้รับการรักษาด้วยมาตรฐานเดียว
ทว่า หากพิเคราะห์ในรายละเอียดแล้วพบว่า ทั้งสองกลุ่มโรคนั้นยังไม่ได้เป็นมาตรฐานเดียวจริงๆ นั่นเพราะก่อนจะมีนโยบายดังกล่าว ผู้ติดเชื้อเอดส์ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ ได้รับสิทธิประโยชน์เกือบจะเท่าเทียมกันอยู่แล้ว จะมีก็เฉพาะข้อแตกต่างเล็กน้อย เช่น สูตรยา เกณฑ์การเข้าถึงยา รัฐบาลจึงแทบไม่ต้องออกแรง
ส่วนโรคไตวายเรื้อรัง เมื่อลงลึกแล้วก็พบว่าล้วนแต่มีความแตกต่างโดยสิ้นเชิง ทั้งวิธีการรักษา สิทธิการเลือกรับการรักษาชนิดยา การเข้าถึงยา รวมทั้งอัตราการเบิกจ่าย เป็นเหตุให้จนถึงขณะนี้รัฐบาลไม่สามารถปรับให้เป็นมาตรฐานเดียวจริงๆ ได้
ท้ายที่สุด นำมาสู่ความเคลือบแคลงต่อนิยามคำว่า "มาตรฐานเดียว" ว่าเป็นเพียงวาทกรรมเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองเท่านั้นหรือไม่?
อีกหนึ่งนโยบายที่ยังคงรอการสานต่อ คือ "มะเร็งมาตรฐานเดียว"
มีการตั้งโต๊ะประโคมความสำเร็จต่อเนื่องจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ว่าจากนี้เตรียมเสนอให้รัฐบาลบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพ เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งให้เป็นมาตรฐานเดียว ซึ่งจะทำให้ประชาชนกว่าล้านคนได้รับประโยชน์
จากนั้นไม่นาน สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รับลูกด้วยการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายไปยังรัฐบาล โดยต้องการให้เกิดการปรับสิทธิประโยชน์และแบบแผนการรักษามะเร็งทุกโรคให้เป็นมาตรฐานเดียว โดยเฉพาะการเข้าถึงยาราคาแพง พร้อมทั้งปรับวิธีจ่ายเงินให้กับหน่วยบริการเป็นลักษณะเฉพาะสำหรับยามะเร็งของผู้ป่วยนอก โดยให้จ่ายในอัตราเดียวกัน และแยกออกจากงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว ส่วนผู้ป่วยในให้จ่ายตามกลุ่มโรคร้ายแรง (ดีอาร์จี) ในอัตราที่เท่ากัน
อย่างไรก็ดี คงมีความจริงอยู่บ้าง หากจะกล่าวว่าในยุค นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุขคนปัจจุบัน การขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพมาตรฐานเดียวได้หายเข้ากลีบเมฆ ทั้งๆ ที่เคยประกาศเป็นยุทธศาสตร์การบริหารราชการไว้ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ
ล่าสุด รมว.สาธารณสุขรายนี้ ยืนยันหลักการอีกว่า ต้องการให้ผู้ป่วยมะเร็งได้รับสิทธิเสมอกัน แม้มีการเปลี่ยนสิทธิประกันสุขภาพ โดยผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องเบื้องต้นจะเลือกบริหารจัดการในมะเร็งที่พบมาก อาทิ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด รวมทั้งสิ้นประมาณ 4-5 ชนิด อย่างไรก็ดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบวิธีการรักษาว่าจะออกแบบให้ครอบคลุมอย่างไรได้บ้าง
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.ยกตัวอย่างแนวทางการสร้างมาตรฐานเดียวว่า ต้องใช้วิธีการรักษาที่เหมือนกันเช่น หากป่วยเป็นมะเร็งระยะที่ 1 ก็จะให้ยาสูตรเดียวทั้งหมด หรือหากต้องผ่าตัดก็ต้องมีระดับที่เหมือนกัน อาทิ ผ่าตัดมดลูกทั้งชุด หรือตัดปีกรังไข่ รวมทั้งหลังผ่าตัดจะให้เคมีบำบัด หรือฉายแสง
คาดว่าทั้งหมดจะเป็นรูปธรรมได้ในเดือน เม.ย. 2556 ปี 2556 รัฐบาลเพื่อไทยยังคงครองอำนาจ... คำถามคือ ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียวที่แท้จริงจะเกิดขึ้นหรือไม่
แน่นอนว่า ชาวไทยฝากความหวังไว้กับ รมว.สาธารณสุข ที่ชื่อนพ.ประดิษฐจะเป็นของจริง หรือเป็นแค่ความหวังลมๆ แล้งๆ กลางปีนี้รู้กัน!
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 7 มกราคม 2556
- 3 views