ข่าวการเคลื่อนไหวทำให้มีหลายโรงพยาบาล รวมทั้งกลุ่มคนรักกระทรวงสาธารณสุข ได้ทยอยส่งเอกสารหลักฐานเปิดโปงขบวนการหาเงินทอนจากงบประมาณบริการคนไข้มายังชมรมแพทย์ชนบทอย่างต่อเนื่อง
สะท้อนว่าหลังจากมีกระแสที่กลุ่มผลประโยชน์เอกชนและฝ่ายการเมืองได้เข้ายึดครองเสียงข้างมากในคณะกรรมการ สปสช.แล้ว จริงเท็จอย่างไรไม่ทราบ...มีเสียงเล่าลือกันว่าได้มีการส่งคนใกล้ชิดซึ่งวงในเรียกกันว่า...ไอ้เสือโหย ร่วมกับพ่อค้าในเครือข่าย เรียกประชุมผู้บริหารโรงพยาบาลบางแห่งในภูมิภาค ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง
พร้อมส่งรายการราคาเครื่องมือทางการแพทย์ให้ผู้บริหารทำคำขอ ตามแบบฟอร์มที่กำหนดไว้แล้ว เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขและเขตตรวจราชการบางเขตอนุมัติงบฯ โดยมีการอ้างว่าผู้มีอำนาจมากในกระทรวงได้เตรียมงบลงทุนค่าเสื่อมจำนวนกว่า 500 ล้านบาท และงบช่วยน้ำท่วมจำนวนมากกว่า 300 ล้านบาทไว้แล้ว
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท บอกว่า ประจวบเหมาะกับความเคลื่อนไหวล่าสุด นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามอนุมัติครุภัณฑ์จากงบลงทุนค่าเสื่อมแล้วจำนวน 307.7 ล้านบาท เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
น่าสนใจว่า...งบก้อนนี้มีการจัดสรรให้โรงพยาบาลต่างๆ ทั้งที่ได้ทำคำขอเข้ามาและไม่ได้ขอ
ครุภัณฑ์หลายรายการมีปัญหาความเหมาะสม บางอย่างโรงพยาบาลก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ แถมมีราคาสูงกว่าราคาตลาดปกติมาก เช่น จัดสรรเครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมในสภาพจริง (เครื่องตรวจ DNA) ที่ส่วนใหญ่ใช้กับโรงพยาบาลในสถาบันการแพทย์ชั้นสูง
ราคาเครื่องละ 8.5 ล้านบาทให้กับโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลราชบุรี โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ โรงพยาบาลหาดใหญ่
ที่ว่าราคาที่สูงกว่า เพราะมหาวิทยาลัยนเรศวรเพิ่งทำสัญญาจัดซื้อเครื่องนี้ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ในราคาเพียง 3.38 ล้านบาท มีส่วนต่างมากกว่ากันถึงกว่าเท่าตัว
งบค่าเสื่อมเครื่องมือแพทย์ อาจเป็นมหากาพย์อีกเรื่องของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องติดตามขุดคุ้ยกันต่อไป อีกประเด็นที่น่าสนใจคือความเหลื่อมล้ำของระบบหลักประกันสุขภาพในประเทศไทย
สัปดาห์ที่ผ่านมา นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข บอกว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายสร้างความเสมอภาคการรักษาพยาบาล 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐนั้น เป็นเรื่องที่ดี น่าชื่นชม
ซึ่งหลังจากเริ่มนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวแล้ว ทราบว่ารัฐบาลจะลดความเหลื่อมล้ำโรคเอดส์และโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ต่อไป
ในฐานะนักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขเสนอให้รัฐบาลควรดำเนินการสร้างความเสมอภาคการรักษาโรคมะเร็งของ 3 กองทุนสุขภาพโดยเร่งด่วนด้วย เพราะโรคมะเร็งเป็นปัญหาที่สำคัญของสังคมไทย เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่าในปี 2548-2552 มะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่ง ในปี 2552 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งและเนื้องอกทุกชนิด 56,058 คน คิดเป็นอัตราการตาย 88.34 ต่อประชากร 100,000 คน รองลงมาคือ อุบัติเหตุและการเป็นพิษ 35,304 คน คิดเป็น 55.63 ต่อ 100,000 คน และลำดับที่สามคือ โรคหัวใจ 18,375 คน คิดเป็น 28.96 ต่อ 100,000 คน
นพ.พงศธร ย้ำว่า แต่จากการศึกษาสิทธิประโยชน์การรักษามะเร็งของ 3 กองทุน พบว่ามีความแตกต่างกันมาก ทั้งที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของคนไทย มีความต่างกันทั้งเรื่องวิธีการจ่ายเงิน...
“สวัสดิการข้าราชการจ่ายเงินแบบไม่จำกัด (Fee for service)... ขณะที่ 30 บาท และประกันสังคมจ่ายตามอัตราที่กำหนด”
และเมื่อพิจารณาถึงยาที่ใช้ในการรักษา พบว่า มีความเหลื่อมล้ำอย่างมากในโรคเดียวกัน แต่ 30 บาท และประกันสังคมไม่ได้รับยาตัวเดียวกับที่ข้าราชการได้รับ ส่งผลให้ผู้ป่วยใน 2 ระบบที่เข้าไม่ถึงยาจำเป็นต้องเสียชีวิตโดยเหตุไม่สมควร
จากการศึกษาราคายา 6 ชนิด ในการรักษามะเร็งต่างๆ ได้แก่ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง มะเร็งกระเพาะอาหารและลำไส้ มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ยาที่ใช้รักษามะเร็งที่ได้ประสิทธิผลดีมีอัตราการรอดชีวิตสูงนั้นเป็นยาที่อยู่นอกบัญชียาหลักทั้งหมด
ซึ่ง...ทำให้สิทธิ 30 บาท และประกันสังคมเข้าไม่ถึงยาเหล่านี้ มีเพียงข้าราชการที่เบิกได้ แต่ในระบบ 30 บาทนั้น มีโครงการพิเศษกับบริษัทยา จึงทำให้ผู้ป่วย 30 บาทได้ใช้ยาบางชนิด แต่วิธีการนี้เป็นวิธีการที่ไม่ยั่งยืน เมื่อหมดโครงการพิเศษ ผู้ป่วยก็จะไม่ได้ใช้ยานี้
“ผู้ป่วยที่รู้ว่ามียาแต่ไม่สามารถใช้ได้เป็นเรื่องเจ็บปวดมาก แม้ยาจะแพงมาก แต่ข้ออ้างว่าไม่มีงบนั้นไม่ถูกต้อง เพราะมีวิธีการที่จะทำให้ผู้ป่วยทุกคนเข้าถึงยาได้คือการจัดซื้อยารวม ซึ่ง สปสช.เคยทำมาแล้ว”
คุณหมอพงศธร ทิ้งท้ายว่า นโยบายลดความเหลื่อมล้ำด้านระบบสุขภาพถือได้ว่าเป็นนโยบายสาธารณะที่ดีที่สุดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ทำยากกว่าการทำโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค สมัยรัฐบาลทักษิณ จึงอยากเรียนคุณยิ่งลักษณ์ว่า...ไม่ว่าใครจะว่าคุณอย่างไรก็ตาม หากคุณยิ่งลักษณ์กล้าตัดสินใจเดินหน้าเรื่องนี้ให้สำเร็จ ประวัติศาสตร์จะจารึกชื่อคุณยิ่งลักษณ์ไว้ตลอดกาล
ระบบบริการสุขภาพภาครัฐยิ่งเข้มแข็ง ก็ยิ่งสะท้อนความสำเร็จในการบริหาร แต่ถ้าเมื่อไหร่ล้มเหลว ก็ต้องถามถึงเหตุปัจจัยว่าเกิดเพราะเลี่ยงไม่ได้หรือมีคนตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น.
ประจวบเหมาะกับความเคลื่อนไหวล่าสุด นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามอนุมัติครุภัณฑ์จากงบลงทุนค่าเสื่อมแล้วจำนวน 307.7 ล้านบาทเมื่อปลายเดือนมีนาคมคมที่ผ่านมา น่าสนใจว่า...งบก้อนนี้มีการจัดสรรให้โรงพยาบาลต่างๆทั้งที่ได้ทำคำขอเข้ามาและไม่ได้ขอ
ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 25 มิ.ย. 55
- 3 views