จากการที่ชมรมแพทย์ชนบทยื่นเอกสารหลักฐานให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบการอนุมัติจัดซื้อเครื่องซักผ้าอัตโนมัติแบบอุโมงค์ที่ตั้งราคาสูงถึงเครื่องละ 39.3 ล้านบาท และเครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมในสภาพจริง (เครื่องตรวจ DNA) เครื่องละ 8.5 ล้านบาท โดยระบุว่าสูงกว่าราคาจัดซื้อจริงที่ 3.58 ล้านบาท รวมทั้งรายการครุภัณฑ์ทางการแพทย์อื่นๆ ในเงินงบลงทุนค่าเสื่อมของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จำนวน 502.6 ล้านบาท ที่เป็นอำนาจอนุมัติของกระทรวงสาธารณสุขนั้น
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทเปิดเผยว่าหลังจากที่ชมรมและผู้อำนวยการ รพ.ชุมชน จำนวนหนึ่งได้ยื่นเอกสารหลักฐานให้ ปปช. และผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 19 มิย. ที่ผ่านมา เพื่อให้ตรวจสอบการชะลออนุมัติเครื่องมือทางการแพทย์ในโครงการไทยเข้มแข็งเดิม วงเงินสามพันกว่าล้านบาทที่มีข่าวภายในว่ามีการถ่วงเวลาให้ผู้ขายไปเคลียร์เงินทอนก่อนและการอนุมัติงบลงทุนค่าเสื่อมจำนวน 502.6 ล้านบาทที่อยู่ในอำนาจอนุมัติของกระทรวงสาธารณสุขและพบว่ามีหลายรายการตั้งและอนุมัติราคาสูงกว่าตลาดปกติถึง 100 %
“ข่าวการเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้มีหลาย รพ.และกลุ่มคนรักกระทรวงสาธารณสุข ได้ทยอยส่งเอกสารหลักฐานเปิดโปงขบวนการหาเงินทอนจากงบประมาณบริการคนไข้ดังกล่าวมายังชมรมแพทย์ชนบทอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนว่าหลังจากที่กลุ่มผลประโยชน์เอกชนและฝ่ายการเมืองได้เข้ายึดครองเสียงข้างมากในคณะกรรมการ สปสช. แล้วได้มีการส่งคนใกล้ชิดซึ่งวงการภายในเรียกกันว่า “ไอ้เสือโหย” ร่วมกับพ่อค้าในเครือข่ายเรียกประชุมผู้บริหาร รพ.บางแห่ง ในภูมิภาคที่โรงแรมแห่งหนึ่งพร้อมส่งรายการและราคาเครื่องมือทางการแพทย์ให้ผู้บริหาร รพ.ทำคำขอตามแบบฟอร์มที่กำหนดไว้แล้ว เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขและเขตตรวจราชการบางเขตอนุมัติงบประมาณ โดยมีการอ้างว่าผู้มีอำนาจมากในกระทรวงได้เตรียมงบลงทุนค่าเสื่อมจำนวนกว่า 500 ล้านบาทและงบช่วยน้ำท่วมจำนวนมากกว่า 300 ล้านบาทไว้แล้ว” นพ.อารักษ์ กล่าว
อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ล่าสุด นพ.ไพจิตร วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามอนุมัติครุภัณฑ์จากงบลงทุนค่าเสื่อมแล้วจำนวน 307.7 ล้านบาทเมื่อปลายเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา จัดสรรให้รพ.ต่างๆ ทั้งที่ได้ทำคำขอเข้ามาและไม่ได้ขอโดยครุภัณฑ์ดังกล่าวมีหลายรายการที่มีปัญหาความเหมาะสมหรือ รพ.ไม่มีความจำเป็นต้องใช้และมีราคาสูงกว่าตลาดปกติมาก เช่นจัดสรรเครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมในสภาพจริง (เครื่องตรวจ DNA) ที่ส่วนใหญ่ใช้กับ รพ.ในสถาบันการแพทย์ชั้นสูง ในราคาเครื่องละ 8.5 ล้านบาทให้กับ รพ.พระนครศรีอยุธยา รพ.พระนั่งเกล้า รพ.นครพิงค์ รพ.ราชบุรี รพ.สรรพสิทธิประสงค์ และ รพ.หาดใหญ่ในราคาที่สูงกว่าที่มหาลัยนเรศวรเพิ่งทำสัญญาจัดซื้อเครื่องดังกล่าวกับบริษัทไบโอราด แลมบอราทอรีส์ จำกัด เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่เพิ่งผ่านมาในราคาเพียง 3.38 ล้านบาท สูงต่างกันกว่าเท่าตัว
นพ.อารักษ์ เปิดเผยต่อว่า จากเอกสารที่ได้รับจากรพ.ต่างๆ และภายในกระทรวงสาธารณสุขยังมีการอนุมัติเครื่องมือทางการแพทย์ราคาสูงอีกหลายรายการที่มีการประสานงานกันอย่างเป็นขบวนการจากผู้ใกล้ชิดผู้มีอำนาจภายในกระทรวงสาธารณสุข ออกเดินสายบังคับให้รพ.ต่างๆ ทำคำขอตามแบบฟอร์มที่บริษัทเอกชนกำหนดไว้แล้วเหมือนกรณีทุจริตยาในอดีต หรือกรณีงบไทยเข้มแข็งสมัยรัฐบาลที่แล้วที่ถูกสังคมตรวจสอบอย่างหนักจนมีการทบทวนรายการครุภัณฑ์การแพทย์เหลือเฉพาะเท่าที่จำเป็นและลดราคาประหยัดงบประมาณได้หลายพันล้านบาท
อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าวว่า ขบวนการเขมือบงบลงทุนค่าเสื่อมกว่า 500 ล้านบาทและงบช่วยน้ำท่วมอีก 300 กว่าล้านบาททำกันอย่างโจ่งแจ้ง รีบร้อน คล้ายกับผู้มีอำนาจมีเวลาจำกัดโดยไม่เกรงกลัวกฎหมายและประชาคมภายในกระทรวงสาธารสุขที่มีระบบตรวจสอบที่ไม่กลัวต่ออำนาจมืดทางการเมืองเหมือนกระทรวงอื่นๆกลัวกัน ดูตัวอย่างการอนุมัติเครื่องซักผ้าอัตโนมัติแบบอุโมงค์ที่ตั้งให้ รพ.ตรัง จำนวน 1 เครื่องราคา 39.3 ล้านบาท โดยไม่คำนึงถึงขนาดของ รพ. ความจำเป็นต้องใช้งานและภาระการบำรุงรักษาซ่อมแซมในอนาคตว่าคุ้มค่าหรือไม่ และไม่เกรงกลัวว่าเครื่องดังกล่าวเคยตั้งที่ รพ.วชิระพยาบาล กรุงเทพมหานครในราคา 34.0 ล้านบาท และถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สอบและเปิดเผยเป็นข่าวว่ามีมูลเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ
“ขบวนการหาประโยชน์จากงบเครื่องมือแพทย์ของ รพ.ต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุข ทำกันโดยไม่รู้สึกว่าเป็นงบประมาณสำหรับบริการผู้ป่วย สำหรับคนยากคนจน สำหรับรพ.ที่ถูกน้ำท่วม ทำกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็นขบวนการเหมือนอย่างที่อดีต รมว.สาธารณสุขที่ต้องคดีจำคุกกรณีทุจริตยา เคยเปิดเผยว่าทุจริตในวงราชการ จะขึ้นจากวงจรอุบาทว์ ที่เริ่มจากพ่อค้าที่หวังกำไรโดยมิชอบเป็นผู้เสนอ และผู้มีอำนาจทางการเมืองที่แสวงหาประโยชน์เป็นผู้สั่งผ่านคนใกล้ชิด โดยมีข้าราชการประจำระดับสูงที่หวังเกาะตำแหน่งนานๆ หรือผู้ที่วิ่งเต้นซื้อตำแหน่งใหญ่ๆ เป็นผู้สนอง เมื่อครบองค์ประกอบทั้งสามอย่างแล้ว ขบวนการทุจริต กินคำใหญ่ๆจากงบบริการผู้ป่วยจึงเกิดขึ้น ซึ่งสังคม สื่อมวลชน ต้องตรวจสอบ โดยชมรมแพทย์ชนบท ขอเรียกร้องทุกภาคส่วนและพรรคการเมืองฝ่ายค้านเข้ามาตรวจสอบขบวนการทุจริตนี้อย่างจริงจัง” นพ.อารักษ์ กล่าว
- 3 views