สธ. รณรงค์วันความดันโลหิตสูงโลก 17 พ.ค. ปี 2555 ตามคำขวัญ “ใช้ชีวิตดี ความดันโลหิตดี” ชี้ข้อมูลพบว่าอัตราป่วยเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
วันนี้ (17 พฤษภาคม 2555) นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก และเครือข่ายความดันโลหิตสูงโลก(World Hypertension League) กำหนดคำขวัญเพื่อการรณรงค์เนื่องในวันความดันโลหิตสูงโลก ประจำปี 2555 คือ “Healthy Lifestyle Healthy Blood Pressure” ส่วนคำขวัญเพื่อการรณรงค์ในไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข และสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย คือ “ใช้ชีวิตดี ความดันโลหิตดี” ซึ่งคำขวัญนี้จะใช้รณรงค์เพื่อสื่อสารและสร้างกระแสให้ประชากรตื่นตัวต่อโรคความดันโลหิตสูง โดยเน้นการป้องกันโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจ โรคไต ที่มีสาเหตุจากโรคความดันโลหิตสูง และเพื่อการส่งข้อมูล การป้องกัน การคัดกรองและการดูแลไปถึงสาธารณชน
สถานการณ์โรคความดันโลหิตสูง โดยองค์การอนามัยโลก พบว่าทั่วโลกมีผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงเกือบถึงพันล้านคน สองในสามของจำนวนนี้อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยพบว่าคนในวัยผู้ใหญ่ของเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยมีประชากร 1 ใน 3 คน จะมีภาวะความดันโลหิตสูง แต่ละปีประชากรในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้เสียชีวิตจากโรคความดันโลหิตสูงประมาณ 1.5 ล้านคน ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย จากข้อมูลสถิติ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่า สถานการณ์ป่วยและเข้ารับการรักษาในสถานบริการสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขด้วยโรคความดันโลหิตสูงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกภาค เมื่อเปรียบเทียบ จากข้อมูล 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2543-พ.ศ.2553) พบว่า อัตราป่วยต่อประชากรแสนคน จะมีผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง จาก 259 เป็น 1,349 ซึ่งถือว่ามีอัตราการเพิ่มที่สูงขึ้นกว่า 5 เท่า (5.21 เท่า)
นายแพทย์พรเทพ กล่าวต่อไปอีกว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค จะมีหัวข้อหลักในการรณรงค์วันความดันโลหิตสูงโลก 3 หลัก คือ หลักที่ 1 ดูแล ควบคุม น้ำหนักตัว หลักที่ 2 เลือกสรรและบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ดังนี้ บริโภคในปริมาณที่เหมาะสมต่อมื้อและรับประทานอาหารช้าๆ ลดการบริโภคอาหารที่เค็มเกินไป รับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ต่อร่างกาย ลดการเครื่องดื่มทีมีแอลกอฮอล์ งดการสูบบุหรี่ รวมถึงหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่ด้วย หลักที่ 3ใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉงในทุกกิจกรรมที่เราทำ เช่น การขี่จักรยาน ว่ายน้ำ ทำสวน งานอดิเรก การเดิน การวิ่ง สำหรับในที่ทำงานก็ควรลุกขึ้นมายืดเส้น เดินทุกๆชั่วโมง หรือเปิดเพลงแล้วเต้นตามจังหวะ เป็นต้น หากประชาชนมีความประสงค์จะตรวจวัดความดันโลหิตหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือรพ.สต. ซึ่งอยู่ใกล้บ้านที่สุด
“สำหรับโรคความดันโลหิตสูงเกิดจากภาวะที่แรงดันหลอดเลือดแดงมีค่าสูงตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ซึ่งผู้คนจำนวนมากอยู่กับความดันโลหิตสูงโดยที่ไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะนี้ เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่ค่อยปรากฏอาการที่ชัดเจนในช่วงแรก แต่เมื่อปล่อยนานไปแรงดันในหลอดเลือดที่สูง จะไปทำลายผนังหลอดเลือดและอวัยวะที่สำคัญทั่วร่างกาย จึงเรียกโรคนี้ว่า“เพชฌฆาตเงียบ”สาเหตุเกิดจากพฤติกรรมและการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการบริโภคอาหารรสเค็ม(โซเดียม) รับประทานผักและผลไม้(รสไม่หวาน)ไม่เพียงพอ ความอ้วน ขาดการออกกำลังกาย นั่งๆนอนๆ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก สูบบุหรี่และมีภาวะเครียด รวมถึงอายุที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นได้ และเป็นสาเหตุให้เกิดหัวใจล้มเหลม หลอดเลือดสมองแตก/ตีบ และมีแนวโน้มเพิ่มการเป็นโรคไตวายระยะสุดท้ายได้ ถ้าประชาชนมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทร 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร 0 2590 3333” ดร.นายแพทย์พรเทพ กล่าวทิ้งท้าย
- 29 views