สภา กทม.เห็นชอบ กทม.เปิดให้บริการทางการแพทย์รูปแบบพิเศษ ค่าบริการสูงกว่าปกติ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้รับบริการ พร้อมอัพเกรดเทียบชั้นเอกชน แต่กำหนดต้องเปิดคู่บริการปกติ
ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 4 (ครั้งที่4) ประจำปีพุทธศักราช 2561 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าบริการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ได้รายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ เพื่อให้ที่ประชาสภากรุงเทพมหานครพิจารณาในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 โดยร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าบริการ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ฉบับนี้กรุงเทพมหานครจะปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อให้ผู้รับบริการได้รับความสะดวกรวดเร็ว ลดความแออัดของผู้รับบริการทางการแพทย์ที่มีอยู่จากการให้บริการรูปแบบเดิม และตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการด้านการแพทย์และการสาธารณสุขได้อย่างครอบคลุม
ทั้งนี้ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครไม่สามารถเก็บค่าบริการทางการแพทย์รูปแบบพิเศษและค่าบริการทางวิชาการด้านการแพทย์และสาธารณสุขได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ อีกทั้งค่าบริการทางการแพทย์ตามรูปแบบเดิมก็มีการเก็บค่าบริการที่ไม่เหมาะสม สมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าบริการ พ.ศ.2543
สำหรับการบริการทางการแพทย์รูปแบบพิเศษ หมายความถึงการบริการทางการแพทย์โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งผู้รับบริการจะได้รับการบริการอย่างสะดวก รวดเร็ว ในสถานที่ที่จัดไว้เป็นสัดส่วนเฉพาะตามความเหมาะสม ทั้งนี้ผู้รับบริการจะต้องเสียค่าบริการสูงกว่าค่าบริการปกติ
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการวิสามัญฯ มีข้อสังเกตว่า เมื่อกรุงเทพมหานครเปิดให้บริการทางการแพทย์รูปแบบพิเศษแล้ว จะต้องให้บริการทางการแพทย์รูปแบบปกติควบคู่กันไปด้วย รวมทั้งกรุงเทพมหานครควรกำหนดอัตราค่าบริการทางการแพทย์รูปแบบพิเศษโดยนำอัตราค่าบริการของโรงพยาบาลอื่นของรัฐมาประกอบในการพิจารณากำหนดอัตราค่าบริการด้วย
ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบกับร่างข้อบัญญัติเรื่อง ค่าบริการ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... และจะส่งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพิจารณาลงนามและประกาศใช้ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ กรุงเทพมหานครรายงานข้อมูลการให้บริการด้านการแพทย์ในโรงพยาบาลสังกัด กทม.ว่า ในปัจจุบัน กทม.มีโรงพยาบาลในสังกัดจำนวน 9 แห่งโดยมีจำนวนเตียงผู้ป่วยที่ให้บริการรวมทั้งสิ้น 1,845 เตียงโดยจะมีผู้ป่วยเข้ารักษาพยาบาลปีละประมาณ 3.8 ล้านคน และจำนวนผู้ใช้บริการมีแนวโน้มมากยิ่งขึ้น ทำให้ในแต่ละปี กทม.ต้องจัดสรรงบประมาณสนับสนุนในรายจ่ายต่างๆ นับพันล้านบาท
ดังนั้น กทม.จึงมีแนวทางการพัฒนาโรงพยาบาลในสังกัดให้เกิดทางเลือกในการรักษาพยาบาลแบบมีค่าใช้จ่าย เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่โรงพยาบาลมากยิ่งขึ้น ซึ่ งกทม.จะพัฒนาในรูปแบบโรงพยาบาลระบบพิเศษซึ่งจะมีการคิดค่าบริการทางการแพทย์สูงกว่าค่าบริการรูปแบบ ตามสิทธิปกติ สำหรับประชาชนที่มีความต้องการ แต่ในระบบบริการดังกล่าวจะมีการพัฒนาการบริการที่สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯให้ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งคนไข้สามารถเลือกรับบริการรูปแบบมาตรฐานหรือรูปแบบพิเศษได้
ทั้งนี้ค่าบริการในรูปแบบพิเศษ อาจมีค่าบริการทางการแพทย์สูงกว่าปกติ แต่ก็ยังถือว่าต่ำกว่าค่าบริการในโรงพยาบาลเอกชน หรือโรงพยาบาลรูปแบบพิเศษอื่น ๆ ซึ่ง กทม. จะพัฒนานำร่องในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมคือ โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลกลาง และโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โดยปรับปรุงพื้นที่โรงพยาบาลเป็นสัดส่วนให้บริการแบบพิเศษโดยเฉพาะ
ซึ่งการดำเนินการปรับปรุงร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครครั้งนี้ เพื่อดำเนินการบริหารจัดการโรงพยาบาลสังกัด กทม.แบบ 2 ระบบ และแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานครเรื่องค่าบริการทางการแพทย์ เพื่อให้สามารถเรียกเก็บจากประชาชนได้ในอัตราที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้แก้ไขระเบียบ ให้สามารถจ่ายค่าตอบแทนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลบริการสุขภาพรูปแบบพิเศษ ซึ่งเป็นการทำงานนอกเวลาราชการ ดังนั้นค่าตอบแทนก็จะต้องเหมาะสมจากปกติ
- 99 views