นักวิชาการ ภาคประชาสังคม จับตาเจรจา “เอฟทีเอไทย – อียู” รอบ 4 ที่กรุงเทพฯ หวั่นผลตกลงกระทบระบบสาธารณสุขไทย ส่งผลการเข้าถึงยาผู้ป่วย ทำยาแพง บังคับเครื่องมือแพทย์ใช้แล้ว เตรียมพบผู้แทนเจรจา 28 พ.ย.นี้
ตามที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจาเอฟทีเอไทย – สหภาพยุโรป (อียู) รอบ 4 ระหว่างวันที่ 25 - 29 พฤศจิกายน 2567 ที่กรุงเทพฯ ปรากฎว่าเครือข่ายภาคประชาชนต่างมีความห่วงใยถึงข้อตกลงที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขไทย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เครือข่ายภาคประชาสังคมไทย ประกอบด้วย กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ เอฟทีเอ ว็อทช์ (FTA Watch) เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เครือข่ายเกษตรทางเลือก สภาองค์กรของผู้บริโภค และเครือข่ายนักวิชาการ ร่วมกันแถลงข่าว “เอฟทีเอไทย-อียู ขัดแย้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: ยาแพง เกษตรหนี้เพิ่ม บัตรทองพัง” โดยภายในงาน ทางภาคประชาสังคมไทยนัดหารือกับผู้แทนเจรจาของสหภาพยุโรปในไทยวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ เพื่อนำเสนอประเด็นข้อห่วงใยต่างๆ
ห่วงเจรจาเอทีเอกระทบเข้าถึงยาคนไทยเพียบ!
นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้ประสานงาน FTA Watch กล่าวว่า การเจรจาครั้งนี้มีข้อกังวลหลายเรื่อง โดยตนขอเน้นหนักเรื่อง ทรัพย์สินทางปัญญาเรื่องยา จากการติดตามเนื้อหาเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ซึ่งมีประเด็นอ่อนไหวและน่ากังวลโดยเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพของไทย การเข้าถึงยา ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา มีความซับซ้อน และเมื่อนำไปเปรียบเทียบ พบว่า สหภาพยุโรปเสนอที่ค่อนข้างผูกมัดเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดกว่าความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก โดยประเด็นที่กังวล อาทิ
1.เรื่องการผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) ทางสหภาพยุโรปยื่นมาพบว่า มีข้อห้ามโดยไม่ให้ทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ขึ้นทะเบียนยา หากยากำลังขอจดหรือมีสิทธิบัตรอยู่ หากบริษัทอื่นจะทำการทดลองยานั้น สิ่งที่ต้องทำคือ ไปทดลองวิจัยใหม่ตั้งแต่ขั้นตอนแรก เริ่มจากวิจัยโครงสร้างยา ทดลองในสัตว์ ฯลฯ ซึ่งใช้เวลาหลายปี แต่ปัจจุบันไม่ต้องถึงขนาดนั้น เพียงแต่เทียบให้เห็นว่า ยานั้นมีประสิทธิภาพประสิทธิผลเทียบได้กับยาต้นแบบ กล่าวคือ เมื่อสิทธิบัตรหมด บริษัทยาอื่นก็สามารถเอายานั้นออกสู่ตลาดได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดในปัจจุบัน
“การเจรจายังไม่ระบุชัดเจนว่า จะผูกขาดข้อมูลทางยากี่ปี แต่ทำให้เห็นถึงการผูกขาดที่นานขึ้น และข้อเสนอของอียู บอกว่า หากเป็นยามีข้อบ่งชี้ใหม่ ก็ยังขอเพิ่มเวลาไปอีก 1 ปี ยืดเวลาผูกขาดไปอีก”
2.เรื่องขยายอายุสิทธิบัตร โดยกฎหมายไทยและสากล ให้อายุคุ้มครองสิทธิบัตร 20 ปีตั้งแต่ยื่นขอจด แต่สหภาพยุโรปบอกว่าไม่พอ ให้เหตุผลว่า ถ้าอย.พิจารณาล่าช้า ต้องขอบวกเพิ่มจาก 20 ปีขึ้นไป เช่น หากวันที่จดสิทธิบัตรปี 2000 และได้ทะเบียนยาปี 2010 สิ่งที่ขอคือ 10 ลบ 5 คือ เพิ่มอีก 5 ปีจากอายุสิทธิบัตรขึ้นไป ตรงนี้สำคัญ เราไม่เห็นด้วย เพราะการคุ้มครอง เริ่มตั้งแต่วันแรกที่ขอจดสิทธิบัตรแล้ว ทั้งนี้ อย.เวลาทำงานต้องทำอย่างรอบคอบ เรื่องประสิทธิภาพของยา จะไปเร่งไม่ได้ บางครั้งยื่นมาเอกสารไม่ครบ ทางอย.ก็ต้องขอข้อมูลเพิ่ม เพื่อความปลอดภัยของประชาชน และ 3.สูตรยา ที่รักษาในเด็กได้ด้วย ก็จะขอขยายอายุสิทธิบัตรเพิ่มอีก น่ากังวลสรุปแล้วจะขอขยายสิทธิบัตรมากกว่า 20 ปี คนไทยจะไม่สามารถใช้ยาที่มีคุณภาพและราคาถูกลงได้
4.เรื่องการทำซีแอล ซึ่งเป็นมาตรการที่ให้สิทธิรัฐบาลระงับการคุ้มครองสิทธิบัตรชั่วคราว และนำเข้าหรือผลิตยาเองในราคาที่ถูกกว่าได้ แต่ด้วยเงื่อนไขการผูกขาดข้อมูลทางยา จะทำให้ไม่สามารถทำได้ เพราะยาที่ประกาศใช้ซีแอล ต้องมาขึ้นทะเบียนกับ อย.ด้วย ไม่มีข้อยกเว้น หมายความว่า อย.จะไม่รับขึ้นทะเบียนยาให้กับยาที่มาขอสิทธิบัตรไว้อยู่แล้ว คือ มาตรการซีแอลจะใช้ไม่ได้
“ล่าสุดคุยกับเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา บอกว่า อียูยังขอเพิ่มการขยายอายุสิทธิบัตร ขอเพิ่มแค่วัตถุดิบแค่นั้น นี่คือหัวใจสำคัญ เป็นตัวหลักว่าจะผลิตยาได้หรือไม่ เพราะจะผูกขาดวัตถุดิบยาหรือไม่ ผูกขาดอายุอีก นี่คือสิ่งที่กังวลมาก เพราะจะส่งผลต่อการเข้าถึงยาของคนไทย” นายเฉลิมศักดิ์กล่าว
ห่วงบังคับไทยใช้ “เครื่องมือแพทย์” ใช้งานแล้ว
น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ข้อเรียกร้องที่น่ากังวลอีกประเด็น คือ ประเทศไทยจะถูกบังคับให้นำเข้าเครื่องมือแพทย์ใช้งานแล้ว นำเข้าสู่กระบวนการผลิตซ้ำหรือผลิตใหม่ ปัญหาคือ ประเทศไทยยังไม่มีระบบตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยของเครื่องมือแพทย์ที่ผ่านการใช้งานแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยอาจได้รับ การวินิจฉัยและการรักษาโรคผิดพลาดหรือไม่ได้มาตรฐานได้ แม้แต่การจัดซื้อจัดจ้างตามโรงพยาบาลรัฐก็จะถูกบังคับห้ามปฏิเสธเครื่องมือแพทย์ re-manufacturing เหล่านี้ เกรงว่าในที่สุดไทยจะถูกเป็นที่ทิ้งขยะมือสอง นอกจากนี้ อาหารที่นำเข้ามาจำหน่ายในไทยพบว่ายังไม่มีฉลากภาษาไทยกำกับ ไม่มีการแสดงรายละเอียดของอาหารที่ชัดเจนเพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้จักที่มาของอาหารรวมไปถึงองค์ประกอบของอาหาร
อีกทั้ง ไทยไม่มีระบบที่รัดกุมเรื่องตรวจสอบการขึ้นทะเบียนหรือฉลากภาษาไทย ไม่มีระบบตรวจสอบย้อนกลับคุณภาพอาหาร ณ ด่านนำเข้า ไม่แจ้งผลให้ผู้บริโภคทราบ และถ้าเจอไม่มีระบบเรียกคืน รวมถึง การค้าออนไลน์ ต้องมีระบบให้ผู้ค้าต่างประเทศจะแสดงยืนยันตัวตนทางออนไลน์และอยู่ในระบบระเบียบกติกาของประเทศไทยมองว่าถ้าเปิดการค้าและนำเข้าต้องมีระบบเหล่านี้ก่อน
อย่าห้ามรัฐจัดซื้อจัดจ้างบัญชีนวัตกรรมของไทย
ด้าน นายนิมิตร์ เทียนอุดม คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) ในฐานะผู้แทนองค์กรเอกชนด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ป่วยเรื้อรัง กล่าวว่า สหภาพยุโรปตั้งเงื่อนไขและเรียกร้องให้ไทยเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่ผ่านมาประเทศไทยมี พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐที่สนับสนุนการใช้ยาที่ผลิตในประเทศ และยังมี พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ที่ส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม รวมถึงยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ ถ้าไทยต้องเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางยาของประเทศไทยในระยะยาว เพราะไทยต้องยกเลิกกฎหมายหรือนโยบายที่สนับสนุนการใช้ยาและเวชภัณฑ์ภายในประเทศ รวมถึงการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนายาด้วย
นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า หากไทยจะมีความมั่นคงด้านยา จำเป็นต้องมีแต้มต่อให้นักวิจัยไทยด้วย ซึ่งประเทศไทยมีพ.ร.บ. มีระเบียบกฎหมายเกี่ยวกับจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ระบุว่า หากผลิตภัณฑ์นั้นอยู่ในบัญชีนวัตกรรม ซึ่งจะปรับเปลี่ยนทุกปี ดังนั้น การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐต้องมาพิจารณาบัญชีนวัตกรรมก่อน อย่างน้อยๆ 20-30%ของการจัดซื้อต้องมาจากบัญชีนี้ ที่ต้องมี เพราะต้องการให้มีการพัฒนา สนับสนุนการวิจัยในไทยจะได้ต่อยอดได้
“แต่การเจรจาครั้งนี้ หากบอกว่าจะตัดแต้มต่อการจัดซื้อภาครัฐของไทย ไม่ให้เอื้อนักวิจัยไทย นี่เรื่องใหญ่ และไม่สมควรตัดออกไป อย่างการพัฒนายาเราห่างจากยุโรป แต่เราต้องมีแต้มต่อตรงนี้ คณะผู้เจรนาต้องคำนึงเรื่องนี้ เรายอมยุโรปไม่ได้ เพราะนี่คือการพึ่งพาตัวเองในอนาคต ที่สำคัญหากบริษัทต่างชาติมาร่วมไทย ต้องมีเงื่อนไขถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เราด้วย” นายนิมิตร์ กล่าว
ค้านเจรจาแบบทริปส์พลัส
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว รองประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า เครือข่ายฯ ไม่เห็นด้วยที่สหภาพยุโรปยื่นข้อเสนอในการเจรจาเอฟทีเอให้ไทยยอมรับเงื่อนไขแบบทริปส์พลัส เพราะจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึง และอุปสรรคของผู้ป่วยไทย อย่างตอนที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 บางประเทศในสหภาพยุโรปออกกฎหมายในภาวะฉุกเฉินเพื่อแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร เพื่อจัดหายาและวัคซีนให้กับประชาชนได้โดยไม่มีเรื่องการผูกขาดด้วยสิทธิบัตรมาเป็นอุปสรรค แม้กระทั่งเมื่อการระบาดของโควิด-19 คลี่คลายแล้ว มีการเสนอกฎหมายต่อสภายุโรปเกี่ยวกับการใช้มาตรการซีแอลได้สะดวกขึ้นภายใต้ภาวะโรคระบาด แต่ในการเจรจาเอฟทีเอสหภาพยุโรปกลับยื่นเงื่อนไขแบบทริปส์พลัสให้กับประเทศไทยเต็มไปหมด ที่จะทำให้มีอุปสรรคด้านสิทธิบัตรขัดขวางการเข้าถึงยาของคนไทย ทั้งๆ ที่เพิ่งผ่านวิกฤตโควิด-19 มา ถือเป็นเรื่องสองมาตรฐาน
ต้องไม่ให้เกิดการแทรกแซงนโยบายกลุ่ม 4 ผลิตภัณฑ์
ศ.ดร.นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์และทีมเจรจาฝ่ายไทย ต้องมีบทบาทในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และป้องกันไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ จาก “ตัวกำหนดพาณิชย์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (Commercial Determinants of Health) โดย ผลิตภัณฑ์ 4 ประเภท คือ สุรา ยาสูบ อาหารแปรรูป พลังงานจากฟอสซิล เป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ องค์การสหประชาชาติ จึงขับเคลื่อนให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ใช้หลักการ “ผู้ก่อความเสียหาย ต้องชดใช้” เพราะองค์กรธุรกิจ 4 ประเภทดังกล่าว เป็นสาเหตุสำคัญของการแพร่ระบาดระดับโลกของโรคไม่ติดต่อและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 19 ล้านคนต่อปี
“จะต้องไม่ยอมให้เกิดการแทรกแซงนโยบาย และการครอบงำเพื่อโน้มน้าวผู้กำหนดนโยบายให้เอื้อต่อภาคธุรกิจมากกว่าประโยชน์สาธารณะ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ ผ่านการเจรจาเอฟทีเอด้วย ดังนั้นจึงต้องเจรจาด้วยความรอบคอบเพื่อรักษาพื้นที่ทางนโยบายของภาครัฐในการคุ้มครองประชาชน”ศ.ดร.นิทัศน์ กล่าว
ค้านอนุสัญญา UPOV กระทบความหลากหลายของไทย
ด้านนางนันทวัน หาญดี เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า ยืนยันให้ผู้เจรจาฝ่ายไทยต้องปฏิเสธการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV1991 ตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป ดังที่เคยยืนยันหนักแน่นมาแล้วในการเจรจากับสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) โดย UPOV 1991 คือ อนุสัญญาระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ โดยให้สิทธิเด็ดขาดในพันธุ์พืชใหม่แก่นักปรับปรุงพันธุ์ เป็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาด้านพืช ภายใต้ข้อบททรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอระบุว่าไทยขาดความเหมาะสม หรือไม่ควรที่จะเข้าเป็นสมาชิก UPOV 1991 โดยสิ้นเชิง เพราะไทยถือเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพค่อนข้างมาก
“เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก (ประเทศไทย) ขอยืนยันไม่เห็นด้วย และคัดค้านการเข้าร่วมการเจรจาการค้าเอฟทีเอไทย – อียูที่ต้องยอมรับเงื่อนไขของการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV (ยูปอฟ) 1991 รวมถึงความพยายามปรับ แก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ให้สอดคล้องกับอนุสัญญา UPOV 1991 ของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย” นางนันทวัน กล่าว
- 6 views