ภาคประชาชนจวกยับ ทีมเจรจา "เอฟทีเอไทย-อียู" เมินข้อเสนอปัญหาสิทธิบัตรยาดันราคายาพุ่ง เตรียมฟ้อง ครม.มิ.ย.นี้ก่อนเปิดเจรจารอบที่ 2
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า แม้ว่านายโอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าคณะเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (เอฟทีเอไทย-อียู) จะเริ่มเปิดฉากการเจรจารอบแรกไปแล้วในวันที่ 30-31 พ.ค. 2556 ณ กรุงบรัสเซลส์ และจะมีการเจรจารอบที่ 2 เดือนกันยายนนี้ แต่ในส่วนของภาคประชาชนกลับเริ่มออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการเจรจาอีกครั้งหนึ่ง ทั้งที่มีการตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อย 14 คณะ เพื่อหาข้อสรุปในแต่ละหัวข้อที่ใช้ในการเจรจา ซึ่งประกอบด้วย การค้าสินค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า มาตรการสุขอนามัยและ สุขอนามัยพืช การค้าบริการ การลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขัน การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ แต่ภาคประชาชนกลับมองว่ารัฐบาลไม่พิจารณาข้อเสนอที่ผลักดันกันมาโดยตลอด
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานเกี่ยวเนื่องด้านสาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการ เปิดเผยว่า ในส่วนของคณะทำงานมีกำหนดจะประชุมกันทุก 2 สัปดาห์ แต่ได้มีการพูดคุยไปเพียงครั้งเดียวในช่วงเดือนเมษายน 2556 หลังจากนั้นก็ไม่ได้เจรจากันอีก เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนความเห็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว เช่น สิทธิบัตรยา ทรัพยากรชีวภาพและการเกษตร เป็นต้น แต่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร
"ก่อนหน้านี้ทางสภาที่ปรึกษาฯได้ส่งหนังสือแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีถึงผลกระทบต่อการเข้าถึงยาหากทำเอฟทีเอไทย-อียู ได้รับการตอบรับเป็นเพียงการรับทราบความคิดเห็น ทางสภาที่ปรึกษาฯจะรวบรวมข้อมูลเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในเดือนมิถุนายนนี้" รศ.ดร.จิราพรกล่าว
ดร.นุศราพร เกษสมบูรณ์ นักวิจัย HIA สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ทางเครือข่ายจะยังมีการเคลื่อนไหว แสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์นี้ต่อไป หากในท้ายที่สุดไม่สำเร็จก็จะมีการรวมกลุ่มเคลื่อนไหวกดดันภาครัฐ และติดตามการเจรจาอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาคณะทำงานย่อยด้านยาที่มีรองเลขาธิการองค์การอาหารและยา (อย.) เป็นประธาน มีความพยายามที่จะรับฟังประเด็นสำคัญที่เราให้ความสนใจ คือ ผลกระทบจากการขยายความคุ้มครองสิทธิบัตรยาจากปัจจุบัน 20 ปีตามข้อกำหนดองค์การ การค้าโลก และการผูกขาดข้อมูลยา ซึ่งจะมีผลให้ไทยต้องจ่ายค่ายาแพงขึ้น
เนื่องจากสิทธิบัตรยาส่วนใหญ่เป็นของต่างชาติมากกว่า 90% ส่วนที่เป็นของคนไทยมีไม่ถึง 0.5% จึงทำให้ต่างชาติเจ้าของสิทธิบัตรได้ผลประโยชน์มากกว่า แต่คนไทยอาจต้องเสียค่ายาแพงขึ้น และหากในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้ไทยมีแนวโน้มเข้าเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) กับสหรัฐ อเมริกาก็จะขอในลักษณะเดียวกันด้วย
ทั้งนี้ จากงานวิจัยของ ดร.ชุติมา อรรคลีพันธ์ ในปี 2548 ประเมินผลกระทบการเปิดเอฟทีเอยาระหว่างไทยกับสหรัฐว่า หากมีการขยายความคุ้มครองสิทธิบัตรยา 47 รายการที่มีการใช้สูง จากเดิมคุ้มครอง 20 ปี เพิ่มมาอีก 1 ปี จะเกิดค่าเสียหายประมาณเกือบ 3,000 ล้านบาท และหากขยายเพิ่มอีก 10 ปี มูลค่าความเสียหายสูงสุดอาจมากกว่า 2 แสนล้านบาท เทียบได้พอกับการทำเอฟทีเอไทย-อียู เพราะจากมูลค่าตลาดยาทั้งหมดของไทยอยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนล้านบาทต่อปี เป็นสัดส่วนยานำเข้าประมาณ 70% ส่วนใหญ่มาจากอียู แต่ผู้ผลิตยาในไทยครองตลาดลดลงจากร้อยละ 70 เหลือประมาณ 30% และมีแนวโน้มหดตัวลงต่อเนื่องจนสุดท้ายอาจต้องนำเข้ายาทั้งหมด
"สิ่งที่กังวลคือ คณะทำงานย่อย 14 ประเด็นไม่ได้ดูประเด็นคาบเกี่ยว อย่างในส่วนของยาจะดูเฉพาะการขยายความคุ้มครองสิทธิบัตรยาและข้อมูลยา แต่ถ้าเป็นการจัดซื้อจัดจ้างยาโดยรัฐ กลับไม่มีคนจากองค์การเภสัชกรรมเข้าไปดู หรือการสั่งยาจากต่างประเทศหากถูกกักไว้ที่ชายแดนจะทำอย่างไร เพราะไม่มีคนดูเป็นการตั้งข้อสังเกตแบบลอยๆ ไว้ หากไทยยอมรับข้อตกลงตามอียูก็ยัง ตอบยากว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป" ดร.นุศราพรกล่าว
นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน กล่าวว่า แม้ไม่มีการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู แต่กลุ่มประเทศอียูก็ยังมาลงทุนในไทย เห็นได้จากเหตุการณ์เงินทุนไหลเข้าไทยจนทำให้เงินบาท แข็งค่า เราไม่ควรมองเอฟทีเอในแง่ของภาษีอย่างเดียว แต่ควรหันมาพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ลดต้นทุนแทน
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 6 - 9 มิ.ย. 2556
- 6 views