อียูห่วงการเมืองกระทบเอฟทีเอไทย-อียู ล่ม ชิงขอไทยลดภาษี 0% สินค้า 9,000 รายการ
แหล่งข่าวจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในการเจรจาจัดทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีระหว่างไทย-สหภาพยุโรป (เอฟทีเอไทย-อียู) ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 9-13 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เพราะเป็นช่วงยุบสภา รัฐบาลรักษาการ รวมถึงนายโอฬาร ไชยประวัติ ประธานคณะผู้แทนการค้าไทย ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจา ไม่อาจเข้าร่วมเจรจาได้ด้วยตัวเอง
จึงต้องมอบหมายให้นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นผู้นำคณะเจรจาแทน ส่วนการเจรจารอบที่ 4 ที่มีกำหนดจัดที่ประเทศไทย ในเดือนมีนาคม 2557 อาจจะต้องเลื่อนไปก่อนจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ และมีการแต่งตั้งหัวหน้าคณะเจรจาคนใหม่ด้วย ทั้งนี้ทางคณะเจรจาอียูได้แสดงความกังวล และไม่ต้องการให้การเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูชะงักไป ซ้ำรอยเดิมเช่นเดียวกับการเจรจาเอฟทีเออาเซียน-อียู ที่ประสบปัญหาของประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศจนต้องยุติการเจรจาไป
"รอบนี้ทั้งสองฝ่ายก็ตกลงว่าจะคุยกันเฉพาะในเรื่องเทคนิคก่อน เคลียร์ประเด็นปัญหาในสิ่งที่จะเจรจากันให้ได้นิยามที่ตรงกัน แต่ยังไม่คุยเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบาย สิ่งที่อียูยื่นข้อเสนอในรอบนี้ถือว่ากว้างและลึก หลายเรื่องเชื่อมโยงกัน เช่น ลดภาษีสินค้าโยงกับกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งเป็นประเด็นต้องให้มีระดับนโยบายพิจารณาอย่างรอบคอบก่อน ซึ่งไทยได้ชี้แจงกับอียูว่า เมื่อระดับการพัฒนาของทั้งสองประเทศไม่เท่ากัน แต่อียูกลับคิดว่าไทยมีระดับการพัฒนาเท่ากันและมีความพร้อมหลาย ๆ สินค้า เช่น สินค้าประมง ไทยเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดโลก เป็นต้น จึงต้องปรับความเข้าใจให้ตรงกันก่อน"
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมยังไม่ประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากสรุปการเจรจาไม่ทันตามกรอบเวลาที่วางไว้ในปี 2558 เพราะต้องรอดูความชัดเจนในด้านการเมือง ถ้าเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ และตั้งหัวหน้าคณะเจรจาใหม่ได้ทัน อาจจะมีโอกาสเจรจารอบที่ 4 ได้ แต่ในกรณีถ้าไม่ทัน การเจรจาก็อาจจะต้องลากยาวไปทั้งหมด บทบาทของกรมก็ทำได้เพียงหารือกับภาคเอกชน เพื่อเตรียมข้อมูลเป็นทางเลือกไว้เสนอสำหรับการเจรจารอบต่อไปเท่านั้น
แหล่งข่าวกล่าวว่า การเจรจารอบนี้ในประเด็นการเปิดตลาดสินค้า ทางอียูเสนอขอให้ไทยเปิดตลาดสินค้า 95% ทั้งหมดที่มีการทำการค้าระหว่างกัน หรือประมาณ 9,000 รายการ ให้ลดภาษีนำเข้าเป็น 0% โดยยังไม่กำหนดระยะเวลาในการลดภาษี ส่วนสินค้าที่เหลืออีก 5% กำหนดให้เป็นสินค้าอ่อนไหว ขณะที่ไทยเสนอขอให้นำสินค้าที่อียูจะตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ในปี 2558 ประมาณ 6,000-7,000 รายการ มาลดภาษีเป็น 0% ทันที ตามที่นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายก รัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ได้หารือระดับทวิภาคีกับนาย Carlo Calenda กระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจ อิตาลี และกรรมาธิการยุโรปด้านเกษตรและการพัฒนาชนบท (Mr. Dacian Ciolos) ก่อนหน้านี้ ในโอกาสที่เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก เพื่อให้แก้ไขปัญหาในระยะสั้น โดยการยกเว้นการเก็บอากรกับสินค้าประมงชั่วคราว หรือกำหนดโควตาภาษี (Tariff Rate Quota : TRQ) ให้กับสินค้าของไทย ซึ่งสินค้าสำคัญของไทยที่ได้รับประโยชน์จากสิทธิ์ GSP จากสหภาพยุโรป ได้แก่ กุ้งสด/แช่เย็น/แช่แข็ง ยานยนต์ ขนส่ง กุ้งปรุงแต่ง ถุงมือยาง เลนส์แว่นตา เครื่องปรับอากาศ ยางนอกรถยนต์ และสับปะรดกระป๋อง
"เราบอกเขาว่าเปิดตลาดสินค้ากลุ่มที่กำลังจะถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีเป็นสินค้านำร่องในการลดภาษีก่อนเพื่อแสดงความจริงใจ เพราะสินค้ากลุ่มที่ได้รับสิทธิพิเศษ จีเอสพีอยู่แล้วก็สมควรจะต้องลดภาษีต่อเนื่องไป เพื่อไม่ให้ผู้ส่งออกไทยและผู้นำเข้าอียูทั้งอิตาลี อังกฤษ และฝรั่งเศสได้รับ ผลกระทบ หากขึ้นภาษีผู้นำเข้าและ ผู้บริโภคในอียูด้วย ซึ่งจะต้องไปหาสินค้าเดียวกันจากแหล่งผลิตอื่น ซึ่งถือว่าเสี่ยงจะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพเช่นเดียวกันกับสินค้าไทยหรือไม่ ซึ่งอียูได้ยอมรับว่าจะนำเรื่องดังกล่าวกลับมาพิจารณา เพื่อแสดงความจริงใจในการเจรจา อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้สรุปในประเด็นดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องที่ต้องรอการ ตัดสินใจในระดับนโยบาย"
ทั้งนี้หัวข้อที่ได้มีการหารือกัน อาทิ การเปิดตลาดสินค้าและการค้าบริการ การลงทุน มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคทางการค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดของสินค้า พิธีการทางศุลกากรและ การอำนวยความสะดวกทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ มาตรการเยียวยาทางการค้า และการค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่วนเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งอียูผลักดันให้ไทยพิจารณาเรื่องการ จดทะเบียนคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาตร์ (GI) เป็นต้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 23 - 25 ธ.ค. 2556
- 7 views