ลือ อียูแทรกแซงทีมเจรจาไทย หวังเปลี่ยนตัวผู้เจรจาฝ่ายไทยผ่านรมว.สธ. เอฟทีเอ ว็อทช์ จี้ถามจุดยืนหมอประดิษฐ มุ่งมั่นปกป้องผลประโยชน์ประชาชนเช่นเดียวกับหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทยแค่ไหน จะยอมให้อียูแทรกแซงผู้เจรจาหรือไม่
(กรุงเทพฯ/20 ก.ย.5) นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เปิดเผยว่า ภาคประชาสังคม 28 องค์กรได้ทำหนังสือถึง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้ยืนยันจุดยืนของกระทรวงสาธารณสุขในการเจรจาเอฟทีเอเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและสุขภาพของคนในสังคม
“ดร.โอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าคณะเจรจาฯยืนยันชัดเจนต่อสาธารณะว่า จะไม่รับข้อเสนอการเจรจาที่มากกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (ทริปส์พลัส) ทั้งในเรื่องยา และทรัพยากรชีวภาพ ดังนั้น ทางกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ และเครือข่ายประชาสังคม ที่ติดตามการเจรจาเอฟทีเอ ต้องการทราบว่ากระทรวงสาธารณสุขมีจุดยืนอย่างไร ทั้งในภาพรวมการเจรจาที่เกี่ยวกับยาและประเด็นที่เกี่ยวโยงกับสุขภาพทั้งหมด และได้กำหนดนโยบาย และมาตรการในการสนับสนุนการเจรจาอย่างไร ทั้งในด้านข้อมูลวิชาการ และการมอบหมายเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่ไปทำหน้าที่เจรจา”
นอกจากนี้กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ทราบมาว่า ทางสหภาพยุโรปพยายามแทรกแซงคณะเจรจาฝ่ายไทย ด้วยการขอเปลี่ยนตัวผู้เจรจาบางคนโดยพยายามติดต่อโดยตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
“เราอยากทราบว่า มีการแทรกแซงทีมเจรจาฝ่ายไทยจากสหภาพยุโรปเช่นที่ว่านี้หรือไม่อย่างไร หากเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น หมอประดิษฐจะมีจุดยืนอย่างไร จะยอมให้มีการแทรกแซงเช่นนี้หรือไม่ พวกเราคาดหวังกับกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีความรับผิดชอบต่อระบบหลักประกันสุขภาพที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลจะมีจุดยืนที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย จะดำเนินการเจรจาอย่างอย่างรอบคอบเฉพาะอย่างยิ่งให้ความสำคัญกับผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้มีรายได้น้อย และยืนหยัดเจรจาที่จะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดของประเทศที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม”
ทางด้าน นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ สมาชิกกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวถึงการที่ภาคประชาสังคมไทยจะทำการรณรงค์ร่วมกับภาคประชาสังคมในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่โดนคุกคามจากสหภาพยุโรปในลักษณะเดียวกันผ่านความตกลงการค้าเสรี เพื่อให้คณะกรรมการรางวัลโนเบลแห่งนอร์เวย์ซึ่งเป็นผู้พิจารณารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ให้เพิกถอนรางวัลดังกล่าวที่สหภาพยุโรปได้รับไปเมื่อ ค.ศ. 2012 นั้น
“เราไม่ได้ทำอะไรเกินเลยตามที่หัวหน้าคณะเจรจาฯฝ่ายอียูกล่าวหา องค์กรที่จะได้ครอบครองรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพควรประพฤติตัวให้สมเกียรติ ดังนั้น เราจะติดตามดูพฤติกรรมของสหภาพยุโรปในการเจรจาเอฟทีเออย่างใกล้ชิด และเริ่มที่จะสื่อสารกับภาคประชาสังคมในประเทศต่างๆบ้างแล้ว เมื่อไรที่เราแน่ใจว่า สหภาพยุโรปผลักดันความตกลงระหว่างประเทศที่บ่อนทำลายระบบความมั่นคงของประเทศไทยและประเทศต่างๆอย่างชัดแจ้ง จะทำให้สังคมไทยและประเทศต่างๆโดยรวมอ่อนแอลง คนยากคนจนส่วนใหญ่ยากจนขึ้น แต่คนรวยส่วนน้อยกลับจะรวยยิ่งขึ้นไปอีก เราจะร่วมกันทำหนังสือร้องเรียนถึงคณะกรรมการรางวัลโนเบลเพื่อเพิกถอนทันที หากไม่ต้องการให้เราร้องเรียน สหภาพยุโรปก็ควรเลิกเรียกร้องเนื้อหาที่ทำลายล้างเช่นนี้”
(หนังสือจากภาคประชาสังคมถามจุดยืนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข)
20 กันยายน 2556
เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์)
เรื่อง จุดยืนของกระทรวงสาธารณสุขในการเจรจาเอฟทีเอ
ตามที่หัวหน้าคณะเจรจา (ดร.โอฬาร ไชยประวัติ) ได้ประกาศจุดยืนชัดเจนต่อสาธารณชนยืนยันว่า จะไม่รับข้อเสนอการเจรจาที่มากกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (ทริปส์พลัส) ทั้งในเรื่องยา และทรัพยากรชีวภาพ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและสุขภาพของคนในสังคม และเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกร และความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย
ทางกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) และเครือข่ายประชาสังคม อันประกอบด้วยภาคประชาสังคม องค์กรวิชาการ องค์กรประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชน 28 องค์กรที่ติดตามการเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปมาโดยตลอด ต้องการทราบว่ากระทรวงสาธารณสุขมีจุดยืนอย่างไร ทั้งในภาพรวมการเจรจาที่เกี่ยวกับยาและประเด็นที่เกี่ยวโยงกับสุขภาพทั้งหมด และได้กำหนดนโยบาย และมาตรการในการสนับสนุนการเจรจาอย่างไร ทั้งในด้านข้อมูลวิชาการ และการมอบหมายเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่ไปทำหน้าที่เจรจา
นอกจากนี้กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ทราบมาว่า ทางสหภาพยุโรปพยายามแทรกแซงคณะเจรจาฝ่ายไทย ด้วยการขอเปลี่ยนตัวผู้เจรจาบางคนโดยพยายามติดต่อโดยตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่องนี้เป็นความจริงหรือไม่อย่างไร หากเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น ท่านจะมีจุดยืนอย่างไร
เครือข่ายภาคประชาสังคมมีความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่า คณะเจรจาโดยการนำของ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ในนามของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย จะดำเนินการเจรจาอย่างอย่างรอบคอบเฉพาะอย่างยิ่งให้ความสำคัญกับผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้มีรายได้น้อย และยืนหยัดเจรจาที่จะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดของประเทศที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม จึงคาดหวังว่ากระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีความรับผิดชอบต่อระบบหลักประกันสุขภาพที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลจะมีจุดยืนเช่นเดียวกันนี้อย่างมั่นคง
ขอแสดงความนับถือ
(ภญ. สำลี ใจดี)
กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, เครือข่ายองค์กรงดเหล้า, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก,
เครือข่ายความมั่นคงด้านอาหารคาบสมุทรสทิงพระ, เครือข่ายอิสระภาพทางพันธุกรรม
สภาเกษตรกร, สมัชชาคนจน, เครือข่ายสลัม ๔ ภาค, ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม,
ชมรมเพื่อนโรคไต, เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์,
คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค,
มูลนิธิเภสัชชนบท, ชมรมเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิสุขภาพไทย, กลุ่มเพื่อนแรงงาน, เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์, เครือข่ายชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์,
เครือข่ายชุมชนเฝ้าระวังภัยแอลกอฮอล์ กทม., เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่,
เครือข่ายคนทำงานด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (12D), โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา
- 4 views