ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16-20 กันยายน 2556 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยฝ่ายไทย ดร. โอฬาร ไชยประวัติเป็นหัวหน้าคณะเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ส่วนฝ่ายสหภาพฯ มีนาย Joao Aguiar Machado รองปลัดกระทรวงการค้าคณะกรรมาธิการการค้ายุโรป เป็นหัวหน้าคณะเจรจา

ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจา เปิดเผยว่า การเจรจาในรอบที่ 2 นี้ มีการเจรจาในหลายเรื่อง อาทิ การเปิดตลาดสินค้าและการค้าบริการการลงทุน มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคทางการค้า กฏว่าด้วยถิ่นกำเนิดของสินค้าพิธีการทางศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญาการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ มาตรการเยียวยาทางการค้า และการค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ดร.โอฬาร กล่าวว่า การเจรจาในรอบนี้ส่วนใหญ่เป็นการหารือและทำความเข้าใจเกี่ยวกับร่างข้อบทที่ทั้งสองฝ่ายเสนอ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญเพราะเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของแต่ละฝ่ายถือเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการเจรจาในรอบต่อๆไป ซึ่งจะเริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆหลังรอบนี้  ทั้งนี้ หลังจากที่ประชุมที่เชียงใหม่เสร็จแล้วคณะเจรจาของทั้งสองฝ่ายก็จะไม่ได้อยู่เฉย แต่จะมีการหารือกับภาคเอกชน ประชาชนวิชาการ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและอัพเดทท่าทีในการเจรจาต่อไปโดยจะดูความเชื่อมโยงของแต่ละเรื่องที่เจรจาด้วย เช่น เรื่องการคุ้มครองแรงงานและสิ่งแวดล้อมจะมีผลต่อเรื่องการลดภาษีสินค้าอย่างไรบ้าง

 “ประเด็นเรื่องความเชื่อมโยงของแต่ละข้อบทมีความสำคัญเพราะเราจะต้องดูภาพใหญ่ทั้งของความตกลงทั้งฉบับ จะมาดูแค่แต่ละเรื่องแยกกันไม่ได้  ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ท่าทีของแต่ละเรื่องไปในทางเดียวกันและส่งเสริมซึ่งกันและกันเช่น เราต้องมั่นใจว่าถ้าอียูยอมลดภาษีสินค้าผักผลไม้ให้ไทยแล้ว เขาจะต้องไม่ใช้มาตรการ SPSมากีดกันไม่ให้ไทยส่งผักผลไม้เข้าไปในตลาดอียูอย่างไม่เป็นธรรม เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุดจากการเจรจาในภาพรวม นอกจากนี้ ก่อนการเจรจารอบต่อไปคณะเจรจาของไทยและสหภาพยุโรปจะหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันต่อไปทางอิเลกทรอนิกส์เพื่อกรุยทางสำหรับการเจรจารอบที่สามที่จะมีขึ้นในเดือนธันวาคม 2556 ณกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม” ดร.โอฬาร กล่าว

สำหรับประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาเรื่องการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ที่ภาคประชาสังคมแสดงความกังวลนั้น ดร.โอฬารได้ย้ำกับฝ่ายสหภาพยุโรปว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพของประชาชนเป็นหลักแนวทางการเจรจาของไทยก็จะยึดหลักการของความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า(TRIPs) ภายใต้ WTO และยึดถือความยืดหยุ่นตามปฏิญญารัฐมนตรีโดฮาในส่วนที่เกี่ยวกับ TRIPs และการสาธารณสุข ฝ่ายสหภาพยุโรปก็ตระหนักถึงข้อกังวลของฝ่ายไทย และยืนยันว่าท่าทีของสหภาพยุโรปในเรื่องนี้มีความยืดหยุ่นและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนของทั้งสองฝ่าย

ปัจจุบันสหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกสำคัญลำดับ 5 ของไทย ในปี 2555 โดยไทยส่งออกไปสหภาพยุโรปมูลค่า 21,729 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า6,272.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยนำเข้าจากสหภาพฯ มูลค่า 19,933.4ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในแง่ของการลงทุน สหภาพยุโรปเป็นนักลงทุนอันดับ 2 ในไทย โดยการลงทุนมีมูลค่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ไทยออกไปลงทุนในสหภาพยุโรปสูงเป็นอันดับ2 รองจากอาเซียน มีมูลค่าการลงทุน 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ