Hfocus -ประเด็น “ขยายอายุสิทธิบัตรยาและการผูกขาดข้อมูลทางยา” เป็นหนึ่งในความกังวลที่มีต่อการเจรจาการค้าเสรี ไทย-สหภาพยุโรป หรือ เอฟทีเอ ไทย-อียู เพราะจะทำให้เกิดการผูกขาดทางยา ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชน ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมา ทางภาคประชาชนจึงได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อขอให้รัฐบาลรวมถึงผู้แทนเจรจาของ ไทยไม่ตอบรับข้อเรียกร้องดังกล่าว เนื่องจากมองว่าจะก่อให้เกิดผลเสียในระยะยาวโดยคิดเป็นค่าอย่างมหาศาล
ล่าสุดกลุ่มภาคประชาชนยังได้เข้าพบหัวหน้าคณะทีมเจรจาฝ่ายสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมา ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยประเด็นยาได้เรียกร้องให้ฝ่ายสหภาพยุโรปต้องไม่ยื่นข้อเรียกร้องที่เกินไปกว่าข้อตกลงทริปขององค์การการค้าโลก (WTO)
ดร.จิราพร ลิ้มปนานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ประเด็นการขอ “ขยายอายุสิทธิบัตรยาคุ้มครองออกไปอีก 5 ปี” และ “การผูกขาดข้อมูลทางยา” เป็นประเด็นที่อยู่ในข้อเรียกร้องทรัพย์สินทางปัญญา ไม่แต่เฉพาะเรื่องของยาแต่รวมถึงเมล็ดพันธุ์พืชด้วย ซึ่งหากไทยไม่ระวังจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก เนื่องจากการผูกขาดที่เกิดขึ้น ในเรื่องของยานั้นจะส่งผลให้ราคายาแพงขึ้น เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงทั้งที่ยาเป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นข้อเรียกร้องที่เกินจากข้อตกลงทริป และจากที่ได้ทำการศึกษาวิจัยถึงผลกระทบหากมีการยอมรับข้อตกลงตามที่สหภาพ ยุโรปเรียกร้อง โดยได้จำลองสถานการณ์ พบว่าในกรณีการขยายอายุสิทธิบัตรออกไปเพียงแค่ 2 ปี จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะเพียงแค่ปีแรกค่าใช้จ่ายด้านยาจะเพิ่มสูงขึ้น 2-3 หมื่นล้านบาท และเพิ่มสูงขึ้นในปีถัดไป เนื่องจากจะมีจำนวนยาที่ถูกขยายอายุสิทธิบัตรมากขึ้น ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ยังไม่นับรวมผลกระทบที่เกิดจากการผูกขาดข้อมูลทางยา
ส่วนข้อเรียกร้องการผูกขาดข้อมูลทางยาจะยิ่งส่งผลต่อประเทศ อย่างมาก เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนายาสามัญใหม่ เพราะระหว่างการรอหมดอายุสิทธิบัตร การผูกขาดข้อมูลทางยาจะทำให้เราไม่สามารถพัฒนายาสามัญใหม่ได้ จะเห็นได้ว่าแค่เฉพาะประเด็นยาความสูญเสียที่เกิดขึ้นก็มากแล้ว ซึ่งหากนำมาเปรียบเทียบกับผลประโยชน์แลกเปลี่ยนที่ไทยจะได้รับในระยะสั้น โดยเฉพาะการได้สิทธิประโยชน์ทางการค้า หรือ จีเอสพี จะเห็นได้ว่าไม่คุ้มค่า เนื่องจากหากเราไม่รับสิทธิ์จีเอสพีนี้จะเสียหายเพียงแค่ 3 หมื่นล้านบาทต่อปีเท่านั้น
อย่างไรก็ตามจากที่ได้เข้าพบกับทีมเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู ฝ่ายไทย ได้รับปากแล้วว่าในการรับข้อเรียกร้องในด้านทรัพย์สินทางปัญญานั้น จะต้องไม่เกินไปจากข้อตกลงทริป ถือเป็นหลักการของการเจรจาครั้งนี้ ซึ่งก็ทำให้สบายใจในระดับหนึ่ง แต่ยังกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันของฝ่ายนักลงและการล็อบบี้ของทางสหภาพยุโรปที่ อาจส่งผลต่อหลักการเจรจาในภายหลังได้
ด้าน นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า จากการติดตามข้อเรียกร้องเรื่องยาจากสหภาพยุโรปยังคงเดิมและไม่เครียนแปลง โดยแฝงอยู่ในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา ในการพยายามขอสิ่งที่เกินเลยจากข้อตกลงทริป ไม่ว่าจะเป็นการขยายอายุสิทธิบัตรยาและการขอความคุ้มครองปกป้องทะเบียนยา โดยเฉพาะประเด็นหลังจะส่งผลให้การผลิตยาสามัญที่หมดสิทธิบัตรล่าช้า ซึ่งก่อนอื่นต้องทราบว่าปัจจุบันข้อมูลทางยา เราถือเป็นข้อมูลสาธารณะที่ใครสามารถเข้าไปดูเพื่อต่อยอดได้ ซึ่งหากเรารับข้อตกลงตามที่สหภาพยุโรปเสนอ จะทำให้บริษัทยาสามัญในประเทศไม่สามารถดูข้อมูลเหล่านี้เพื่อนำไปเตรียมการ เพื่อผลิตยาสามัญทันทีที่หมดสิทธิบัตรได้
"ในการผลิตยาสามัญผู้ผลิตต้องใช้เวลา เพราะกระบวนการผลิตยาเป็นเรื่องยาก แม้ว่าจะทราบส่วนประกอบของยาก็ตาม ซึ่งหากมีการให้ความคุ้มครองทะเบียนยาตามที่กลุ่มประเทศอียูร้องขอ บริษัทผลิตยาสามัญจะได้ทราบข้อมูลยาเมื่อสิ้นสุดอายุสิทธิบัตรคุ้มครองแล้ว นั่นหมายถึงกระบวนการคิดค้นการผลิตยาสามัญพึ่งเริ่มต้น และกว่าที่จะสามารถผลิตได้ ประชาชนจะได้มียาสามัญใช้ก็ต้องรอต่อไปอีก 5-10 ปี จากที่แต่เดิมเมื่อสิ้นสุดสิทธิบัตรจะมียาสามัญใช้ทันที" ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวและว่า นอกจากนี้ยังทำให้การพัฒนากระบวนการผลิตยาล่าช้าไปอีก 5-10 ปี ประชาชนยังคงต้องทนใช้ยาแพงต่อไปอีก 5-10ปี
นายนิมิตร์ กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเนื่องไปหมด ทั้งยังทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศพุ่งขึ้น เป็นภาระค่าใช้จ่ายของกองทุนรักษาพยาบาล และที่สำคัญคือหากกองทุนแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหวเนื่องจากยามีราคาแพงมาก ทำให้ผู้ป่วยขาดโอกาสเข้าถึงการรักษา และอาจต้องเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก
"โรคมะเร็งมีอัตราการตายอันดับหนึ่งของประเทศ เรามีระบบกองทุนรักษาพยาบาลทำให้สามารถจ่ายค่ายามะเร็งที่มีอยู่ในขณะนี้ได้ แต่ในอนาคตเมื่อมียามะเร็งใหม่ๆ ออกมา โดยมีการเพิ่มอายุสิทธิบัตรไปอีก 5 ปี แถมคุ้มครองข้อมูลทางยา จะทำให้ยามะเร็งที่เป็นยาสามัญกลุ่มใหม่ไม่มีการผลิตออกมา ทำให้ผู้ป่วยที่ควรได้รับยาใหม่ถูกยืดเวลาออกไป"
นายนิมิตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราจึงยืนยันมาตลอด โดยขอให้การเจรจาหยุดแค่ที่ทริปเท่านั้น และต้องไม่ให้คุ้มครองข้อมูลยา ซึ่งประเทศไทยเราถอยได้แค่นี้ มากกว่านี้ไม่ได้ โดยทริปนับเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศดีที่สุด และได้ผ่านการประนีประนอมในเวทีโลกมาแล้ว เรียกว่าเป็นฉันทามติที่ยอมรับได้ทั่วโลก แต่ที่ผ่านมาทางบริษัทยาข้ามชาติไม่หยุดแค่ข้อตกลงนี้ จึงพยายามให้มีการเจรจาที่มากกว่าทริป ซึ่งบางประเทศที่รับข้อเรียกร้องนี้ไป ปรากฎว่าประสบปัญหาการเข้าถึงยาอย่างมาก อย่างประเทศในกลุ่มอเมริกาใต้ แม้แต่ประเทศสิงคโปร์เองซึ่งเป็นประเทศที่มีจีดีพีสูง คนชั้นกลางในประเทศยังได้รับผลกระทบ ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีประเทศสิงคโปร์ต้องมาหิ้วยาต้านไวรัสจากประเทศไทย โดยส่งตัวแทนมาซื้อ
อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ คือประชาชนทั่วไป ส่วนใหญ่ยังไม่รับรู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากข้อเรียกร้องนี้ จำเป็นที่ต้องเร่งให้ข้อมูล เพื่อให้เกิดความเข้าใจและตื่นตัวเพื่อคัดค้านข้อเรียกร้องดังกล่าว
ขณะที่ ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา ในฐานะกลุ่มศึกษาข้อตกลงการค้าเสรีภาคประชาชน กล่าวว่า ทราบว่าการที่กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนไปเข้าพบหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู ฝ่ายสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมา พบว่าฝ่ายสหภาพยุโรปมีท่าทีแข็งกร้าวมาก ยืนยันที่จะเดินหน้าข้อเรียกร้องดังกล่าวต่อไป แม้ว่าจะเกินไปจากข้อตกลงทริป โดยให้เหตุผลว่าประเทศที่ไม่มีการทำข้อตกลงทริปพลัสก็ไม่ได้ทำให้ราคายาในประเทศนั้นถูกลง ซึ่งสาเหตุที่ยาของประเทศดังกล่าวมีราคาแพงมาจากการดำเนินนโยบายของประเทศเหล่านั้นเอง อย่างเช่น การเก็บภาษี เป็นต้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่า ข้อเรียกร้องไม่ว่าจะเป็นการขยายอายุสิทธิบัตรยาและการผูกขาดข้อมูลทางยา ไม่เพียงแต่จะทำให้ราคายาสูงขึ้นแน่นอน จากยาที่มีราคาถูกจะเป็นยาแพง และจากยาที่แพงอยู่แล้วก็จะแพงยิ่งขึ้น แต่ยังเป็นการทำลายระบบการพัฒนายาของประเทศ เหล่านี้จะเป็นอุปสรรคการเข้าถึงยามากขึ้น ซึ่งผู้ที่ได้ประโยชน์คือบริษัทยาข้ามชาติ
จากการศึกษานำร่องถึงผลกระทบหากไทยตกลงรับข้อเรียกร้องตามที่อียูเสนอนั้น ข้อแลกเปลี่ยนที่ไทยจะได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าหรือจีเอสพีนั้น ไม่คุ้มค่ากับความสูญเสียด้านยาที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการผูกขาดข้อมูลทางยาที่เป็นสิ่งเลวร้าย ทำลายระบบการพัฒนายาประเทศ ไม่แต่เฉพาะที่จะไม่มียาสามัญใหม่ออกมาใช้เท่านั้น แต่จะทำให้การผลิตยาในประเทศล้าหลัง เพราะจะไม่ข้อมูลทางยาเพื่อใช้ในการวิจัยผลิตยาสามัญใหม่ๆ จากเดิมที่ข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นสาธารณะ เพื่อให้มีการถ่ายทอด เนื่องจากยาเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตจึงไม่ควรผูกขาด
อย่างไรก็ตามเท่าที่ทราบ ขณะนี้การศึกษาผลกระทบจากข้อเรียกร้องในการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ซึ่งทางสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดทำร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ใกล้เสร็จแล้ว ซึ่งจะทำให้มีข้อมูลที่เป็นทางการเพื่อยืนยันผลกระทบประเทศที่เกิดขึ้น รวมถึงความไม่คุ้มค่าหากไทยเดินหน้ารับข้อตกลงตามที่อียูและนักลงทุนต้องการ เพื่อให้คณะเจรจาฝ่ายไทยมีข้อมูลที่ยืนยันจะปฏิเสธไม่รับข้อเรียกร้องดังกล่าว
“จากท่าทีล่าสุดแสดงออกชัดเจนว่า ทางอียูไม่ยอมถอดข้อเรียกร้องออกไปแน่นอน และยังคงเดินหน้าต่อ ซึ่งคงต้องขึ้นอยู่กับทีมเจรจาฝ่ายไทยว่าจะทำอย่างไร แต่ยอมรับว่าที่ผ่านมาจากท่าทีที่ต้องเร่งรัดการเจรจาให้แล้วเสร็จโดยเร็วของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นการส่งสัญญาณว่าประเทศไทยต้องการทำข้อตกลงเอฟทีเอ ซึ่งทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ” ดร.นิยดา กล่าว
ทั้งนี้... การเจรจาในครั้งนี้เป็นเพียงรอบที่ 2 ซึ่งยังต้องมีการดำเนินเจรจาต่อในอีก 5 รอบ จากนี้คงต้องจับตาดูท่าทีทีมเจรจาฝ่ายไทยว่าจะมีชั้นเชิงในการเจรจาอย่างไรเพื่อไม่ให้ประเทศไทยเสียเปรียบ โดยเฉพาะในประเด็นอ่อนไหว รวมถึงการรับต่อแรงเสียดทานที่เกิดขึ้น ทั้งจากฝ่ายอียูและภาคธุรกิจ เพื่อให้รับข้อตกลงในการรับสิทธิพิเศษทางการค้า
- 6 views