เจรจาเอฟทีเอไทย-อียูส่อลากยาว หลังยุบสภารัฐบาลรักษาการไม่กล้าเดินหน้าต่อ ขณะศาลรัฐธรรมนูญชี้แก้ไข ม.190 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองยิ่งทำนักการเมืองแหยง เอกชนฟันธงกว่าจะได้รัฐบาลใหม่เดินหน้าเจรจาต่อคาดเสร็จไม่ทันสิ้นปีนี้ จับตาตกขบวนเสียเปรียบคู่แข่งขัน 5 ชาติอาเซียนอื้อ ฟันธงปี 58 ยอดส่งออกไทยไปตลาดอียูวูบกว่าแสนล้าน หลังถูกตัดจีเอสพีทุกรายการ
ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ ประธานกรรมการร่วม สภาธุรกิจไทย-สหภาพยุโรป เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" โดยแสดงความกังวลใจอย่างมากต่อกรณีที่เวลานี้รัฐบาลเป็นรัฐบาลรักษาการ ไม่สามารถที่จะไปเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงระหว่างประเทศได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจรจาเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ที่เป็นหนึ่งในตลาดหลักของไทย และได้มีการเจรจาเอฟทีเอกันมาแล้ว 3 รอบต้องหยุดชะงักลง ซึ่งกว่าจะได้รัฐบาลใหม่ และตั้งหลักเจรจาใหม่ได้คาดจะใช้เวลาจากนี้ไปไม่ต่ำกว่า 3-6 เดือน
ส่วนที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรม นูญได้มีคำวินิจฉัยกรณีที่สมาชิกรัฐสภา 383 คนได้ร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่จำกัดอำนาจรัฐสภาในการให้ความเห็นชอบการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศของฝ่ายบริหาร เข้าข่ายเป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครอง และได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองที่ไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งคงต้องจับตาว่าในเรื่องการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูจะต้องมีเรื่องใดที่จำเป็นต้องเสนอผ่านรัฐสภาใหม่หรือไม่ แต่ส่วนตัวมองว่าหากเป็นเรื่องที่เคยผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้วไม่ควรนำมาเสนอใหม่
"ถ้าดีเลย์อย่างนี้การเจรจาคงเสร็จไม่ทันสิ้นปีนี้แน่ ขณะที่ปีนี้ไทยจะถูกอียูตัดสิทธิจีเอสพี (สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร) 3 รายการใหญ่ในกลุ่มประมงและอาหาร และในปี 2558 ไทยจะถูกอียูตัดจีเอสพีสินค้าทุกรายการตามเงื่อนไขมีรายได้ประชากรต่อหัวต่อปีเกินเกณฑ์ที่กำหนด ดังนั้นเราจึงหวังได้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอมาทดแทน แต่ดูแล้วปี 2558 คงไม่ได้ และมีปัญหาแน่"
ขณะเดียวกันเวลานี้คู่แข่งขันจากอาเซียนหลายประเทศต่างอยู่ระหว่างเจรจาเอฟทีเอระดับทวิภาคีกับอียูเช่นกัน โดยในส่วนของมาเลเซีย และฟิลิปปินส์คาดการเจรจาจะแล้วเสร็จในปีนี้ ส่วนเวียดนาม และอินโดนีเซีย อาจเสร็จช้ากว่า เพราะเป็นประเทศใหญ่มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ภายใน แต่ในภาพรวมประ เทศเหล่านี้น่าจะเจรจาเอฟทีเอกับอียูแล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้เร็วกว่าไทยที่ยังติดหล่มการเมือง ส่วนสิงคโปร์มีการลงนามเอฟทีเอกับอียูไปแล้วทำให้ยิ่งได้เปรียบในการแข่งขันส่งออกไปยังตลาดอียู
ด้านนายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ ประธานคณะกรรมการความยั่งยืนทางธุรกิจ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรอบเอฟทีเอไทย-อียูได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ขัดรัฐธรรมนูญคงไม่มีผลให้ต้องนำกรอบเจรจานำเสนอต่อรัฐสภาใหม่ แต่ปัญหาในเวลานี้คือสภาถูกยุบไปแล้ว และรัฐบาลก็เป็นรัฐบาลรักษาการ ทุกอย่างหยุดหมดเจรจาต่อไม่ได้ เพราะฝ่ายข้าราชการประจำที่ทำหน้าที่เจรจาก็ไม่กล้าทำอะไร จนกว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่มาสานต่อการเจรจาในรอบที่ 4
"น่าเสียดายเรื่องเอฟทีเอไทย-อียูควรเจรจาได้ตั้งแต่ 3-4 ปีที่แล้ว เพราะทุกฝ่ายก็ทราบดีว่าไทยจะถูกอียูตัดจีเอสพีสินค้าทุกรายการในปี 2558 จากที่เราเป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวของประ ชากรเกิน 2.990 พันดอลลาร์สหรัฐฯติดต่อกัน 3 ปี ต้องถูกตัด ซึ่งขณะนี้คนไทยมีรายได้ต่อหัวต่อปีเฉลี่ย 4 พันดอลลาร์สหรัฐฯถือมีรายได้ระดับปานกลาง แต่นักการเมืองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการตัดสินใจเจรจา เพราะห่วงแต่แสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งจากที่ไทยจะถูกตัดจีเอสพีสินค้าทุกรายการในปี 2558 โดยที่ไม่มีสิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอมาชดเชย คาดการส่งออกของไทยไปตลาดอียู (ปัจจุบันมี 28 ประเทศ) ที่เคยใช้สิทธินำเข้าภายใต้จีเอสพีอียูปีละกว่า 3 แสนล้านบาทจะหายไปไม่ต่ำกว่าครึ่ง หรือมากกว่า 1 แสนล้านบาท โดยเสียไปให้กับคู่แข่งขัน"
ขณะที่นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี และแกนนำกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ วอตช์) เผยว่า ทางกลุ่มยังติดตามความเคลื่อนไหวการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปต่อไปเพราะเกรงไทยจะเสียเปรียบในหลายเรื่อง ขณะเดียวกันยังจับตาการเจรจาเปิดเสรีการลงทุนของอาเซียน (ACIA) ที่ยังมีข้อน่ากังวลในหลายเรื่องที่อาเซียนต้องหาข้อสรุปให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องใหญ่ที่ต้องรอรัฐบาลชุดใหม่
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 12 - 15 ม.ค. 2557
- 2 views