สุดเจ๋ง! ม.มหาสารคาม ผุดนวัตกรรมกล้อง AI ตรวจจับการใส่หมวกกันน็อค เข้าจอด Smart Parking ปลอดภัย ไม่ต้องกลัวหมวกหาย
เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2567 ผศ.ดร.พงษ์พันธ์ แทนเกษม สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบันอัตราใส่หมวกกันน็อคของนักศึกษายังต่ำมาก ประมาณ 10% เท่านั้น หากนับทั้งคนขับและคนซ้อนแค่เพียง 4% เหตุผลหลักมากจากความขี้เกียจ รีบ ไม่มีที่เก็บ และกลัวผมเสียทรง แต่เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ และลดอัตราบาดเจ็บเมื่อเกิดอุบัติเหตุ จึงต้องส่งเสริมให้ทุกคนใส่หมวกกันน็อคมากขึ้น ซึ่งนอกจากการเปลี่ยนทัศนคติแล้ว จำเป็นต้องสร้างสิ่งแวดล้อมควบคุมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ผศ.ดร.พงษ์พันธ์ กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2567 มีนักศึกษาใหม่มากถึง 15,000 คน เมื่อรวมทุกชั้นปีและบุคคลกร ประมาณ 50,000 คน ประกอบกับที่ตั้งมหาวิทยาลัยมีถนนสายหลักผ่านหน้า มีการเดินทางเยอะมากทั้งคนในและคนนอก โดยในช่วงปี 2565 - 2566 บริเวณเส้นหลักเกิดอุบัติเหตุถึง 74 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละ 6 ครั้ง ส่วนพื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัยเกิดขึ้น 400 ครั้ง จึงถือเป็นถนนจุดเสี่ยงตามข้อกำหนดองค์การอนามัยโลก
ทั้งนี้ จากการเข้าร่วมมาตรการองค์กรเพื่อความปลอดภัยทางถนน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. องค์การอนามัยโลก และ มมส. ในการสร้างเครือข่ายรณรงค์การสวมหมวกกันน็อค 100% และจัดทำ Smart Parking โดยใช้กล้องระบบ AI ตรวจจับผู้สวมใส่หมวกกันน็อค ให้เข้าจอดได้ในโรงจอดรถใกล้อาคาร เป็นจุดจอดปลอดภัยในร่ม และไม่ต้องกลัวหมวกกันน็อคหาย เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับนักศึกษา และเป็นการปรับพฤติกรรมไปในตัว
“เพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ละเดือนจะมีการสุ่มให้รางวัลกับผู้สวมใส่หมวกกันน็อคทุกวันที่ 1 และ 16 ให้บัตรกินหมูกระทะฟรี มีการให้ดาวติ๊กตอกของมหาวิทยาลัย ถ่ายคลิปโปรโมทจุดจอดรถอัจฉริยะ และรณรงค์การสวมใส่หมวกกันน็อค พร้อมทั้งมีโครงการสนับสนุนช่วยออกค่าหมวกกันน็อค 50%” ผศ.ดร.พงษ์พันธ์ กล่าว
ผศ.ดร.พงษ์พันธ์ กล่าวเสริมว่า สำหรับอนาคตจะมีการทำระบบลงทะเบียน เพื่อสร้างฐานข้อมูลผู้ใช้จักรยานยนต์ในพื้นที่มหาวิทยาลัย แบ่งเป็นรายละเอียดและจำนวนผู้ขับขี่แต่ละคณะ เพื่อจัดทำตัวเลขอัตราการสวมหมวกของแต่ละคณะ และนำไปต่อยอดในการออกนโนบายและมาตรการรณรงค์ที่ขยายผลต่อไป
ด้าน นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ (WHO expert advisory panel on injury and violence prevention and control) กล่าวว่า องค์กรอนามัยโลก ทำงานร่วมกันกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อย่างใกล้ชิด โดยโครงการมาตรการองค์กรเพื่อความปลอดภัยทางถนนในสถาบันอุดมศึกษา เป็นการขยายต่อเนื่องมากจากมาตรการองค์กรในสถานประกอบการ โดยแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ซึ่งในเฟสแรกได้ทำในมหาวิทยาลัย 9 แห่งทั่วประเทศ หลายที่ประสบความสำเร็จ จึงต่อยอดไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งทั่วประเทศ
ความสำคัญที่ต้องมุ่งเน้นในกลุ่มนักศึกษา เนื่องจาก 20% ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นเด็กและเยาวชน กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญมาก ในหลายมิติ 1) เป็นกลุ่มเสี่ยง 2) ต้นทางของการสร้างระเบียบวินัย จะเป็นต้นแบบต่อไปเมื่อจบออกไปทำงานในองค์กร ซึ่งจะมีผลระยะยาว 20-30 ปี
“ปัจจุบันมีเด็กเกิดใหม่น้อยลง ทิศทางทรัพยากรมนุษย์ของไทยน่ากังวลมาก เพราะเข้าสู่สังคมสูงอายุแล้ว คนแก่จะไม่มีคนมาดูแล คนหนุ่มสาวแค่ดูแลตัวเองก็อยากแล้ว แต่อุบัติเหตุทางถนนทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก เพราะแต่ละปีมีคนกว่า 10,000 คน เสียชีวิตไปก่อนวัยอันควร ทำให้เราขาดแคลนแรงงาน เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องทุกส่วน ทั้งรัฐบาล หน่วยงาน ภาคีเครือข่าย และประชาชน” นพ.วิทยา กล่าว
สำหรับปัจจัยความสำเร็จของโครงการนั้น หัวใจหลักมาจากผู้บริหารต้องเห็นด้วยและประกาศเป็นนโยบาย ให้การสนับสนุนทุกด้านเพื่อเซฟชีวิตเด็ก และยังต้องมีแกนนำสำคัญของมหาวิทยาลัย ที่รักและมุ่งมั่นที่จะผลักดันด้านทัศนคติและพฤติกรรมของเด็ก (อาจารย์ความปลอดภัยทางถนน) รวมถึงต้องมีทีมงานอาสาตัวแทนอาจารย์จากคณะต่าง ๆ มาร่วมทำงานระยะยาว มีงบประมาณสนับสนุน มีการประชาสัมพันธ์ และมีการจัดแผนดำเนินการ เทคนิคสร้างความเข้าใจกับนักศึกษา และนวัตกรรมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สุดท้ายคือต้องมีระบบกำกับติดตามข้อมูลและแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
สำหรับโครงการมาตรการองค์กรเพื่อความปลอดภัยทางถนนในสถาบันอุดมศึกษา โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย นำร่อง 9 แห่ง ได้แก่
1) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต
2) มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์ประสานมิตร
3) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แม่โจ้
4) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสกลนคร
5) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
6) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
7) มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
8) มหาวิทยาลัยพะเยา
9) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
- 125 views