รองเลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมสังเกตการณ์ "ผ่าตัดใส่แผ่นปิดกะโหลกเทียมไทเทเนียม" ครั้งแรกของโรงพยาบาล เผยปีงบฯ 67 จ่ายชดเชยค่าอุปกรณ์แล้วกว่า 4 ล้านบาท ให้บริการผู้ป่วย 130 ราย
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์วลัยลักษณ์ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อม ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. และนพ.พลลภัตม์ เสถียร รักษาการ ผอ.สปสช.เขต 11 สุราษฏร์ธานี ร่วมแถลงข้อตกลงร่วมเป็นเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อโรคทางสมองระบบประสาทไขสันหลังและนวัตกรรมแผ่นเปิดกระโหลกศรีษะด้วยวัสดุไทเทเนียมและ PMMA ระหว่างโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีนพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทีมสหวิชาชีพ และทีมศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ผู้สนับสนุนการผลักดันนวัตกรรมไทยสู่การใช้ประโยชน์ ร่วมในการแถลงข้อตกลง
นพ.จเด็จ ร่วมแถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์ โดยกล่าวว่า การแถลงข้อตกลงร่วมหน่วยบริการรับส่งต่อโรคทางสมองระบบประสาท ไขสันหลังและนวัตกรรมแผ่นปิดกะโหลกศรีษะด้วยวัสดุไทเทเนียมและ PMMA (พีเอ็มเอ็มเอ) ระหว่างโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นั้น ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีและเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ทำให้ประเทศไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายงบประมาณออกนอกประเทศ ที่ผ่านมา ต้องเสียงบประมาณอย่างมหาศาลในการนำเข้าวัสดุดังกล่าว ด้วยราคาค่อนข้างสูงมาก โดยโรงพยาบาล ศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นที่พึ่งของประชาชนภาคใต้ตอนบน แต่ก็มีประชาชนจากจังหวัดอื่น เดินทางเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลนี้เช่นกัน
ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวภายหลังสังเกตการณ์การผ่าตัดใส่กะโหลกเทียมฯ ในผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่ห้องผ่าตัด ว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อติดตามการใช้ “นวัตกรรมทางการแพทย์: การผ่าตัดใส่กะโหลกเทียมในผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุสำหรับผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)” สืบเนื่องมาจากการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2566 มีมติเห็นชอบข้อเสนอการเพิ่มสิทธิประโยชน์บริการแผ่นปิดกะโหลกศีรษะเฉพาะบุคคลผลิตจากโลหะไทเทเนียมด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ สำหรับใช้กับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดสมองและไม่สามารถใช้กะโหลกเดิมในการปิดศีรษะได้
ภายหลังจากที่บอร์ด สปสช. มติเห็นชอบสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ได้มีโรงพยาบาลติดต่อขอใช้เวชภัณฑ์แผ่นปิดกะโหลกศีรษะจากโลหะไทเทเนียมฯ แล้วจำนวนประมาณ 37 แห่ง ผลการตอบรับของโรงพยาบาลที่ค่อนข้างเร็ว ทำให้เห็นได้ว่านวัตกรรมทางการแพทย์ที่คิดค้นจากนักวิจัยไทยได้รับการยอมรับ และเป็นที่ต้องการของบุคลากรทางการแพทย์เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วย โดยคาดว่าจะมีผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาด้วยแผ่นปิดกะโหลกศีรษะ ทั้งผู้ป่วยรายใหม่ และผู้ป่วยสะสมที่รอการรักษาจำนวนประมาณ 1,000-4,000 รายทั่วประเทศ ส่วนใหญ่พบว่าเป็นผู้ป่วยในวัยทำงาน และวัยสูงอายุที่เจ็บป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ที่ต้องได้รับการฟื้นฟูหลังได้รับการรักษา รวมไปถึงผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุทางท้องถนน และได้รับบาดเจ็บศีรษะอย่างรุนแรงที่มีจำนวนมาก บางรายจะต้องเปิดกะโหลกศีรษะ เมื่อรักษาเสร็จก็ต้องปิดกลับด้วยเวชภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เพื่อป้องกันความเสียหายของเนื้อสมอง ช่วยให้ความดันภายในสมองเป็นปกติ ซึ่งจะมีผลอย่างมากต่อการฟื้นฟูสมรรถภาพ ทำให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด
“ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มนี้เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศ และใช้สิทธิบัตรทองในการรักษา ซึ่งก็จะทำให้เข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีราคาสูงได้อย่างเท่าเทียม ไม่มีค่าใช้จ่าย เนื่องจากบอร์ด สปสช. ได้อนุมัติเป็นชุดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพให้แก่คนไทยสิทธิบัตรทองแล้ว เพราะที่ผ่านมาการใช้เทคโนโลยีราคาสูงจะถูกจำกัดอยู่แค่กลุ่มคนที่มีกำลังจ่าย” ทพ.อรรถพร กล่าวและว่า
ปัจจุบันจากข้อมูลการจ่ายชดเชยนวัตกรรมแผ่นปิดกะโหลกศีรษะจากโลหะไทเทเนียมฯ ในปีงบประมาณ 2567 พบว่ามีการให้บริการผู้ป่วยไปแล้ว จำนวน 130 ราย คิดเป็นจำนวนให้บริการ 131 ครั้งในจำนวน 132 ชิ้น รวมเป็นค่าอุปกรณ์ทั้งสิ้น จำนวน 4,670,276 บาท ซึ่งนอกจากจะช่วยผู้ป่วยได้เป็นจำนวนมากแล้ว ยังถือว่าเป็นการสนับสนุนนักวิจัยภายในประเทศที่คิดค้นนวัตกรรมของคนไทยได้สำเร็จอีกด้วย
ด้าน นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า การผ่าตัดโรคทางสมอง และระบบประสาทไขสันหลัง ทางโรงพยาบาลสามารถรักษาได้ทุกประเภท ทั้งการบาดเจ็บทางสมอง เส้นเลือดโป่งพองในสมอง เนื้องอกในสมองและไขสันหลัง กระดูกคอสันหลังส่วนอกจนถึงสะเอวกดทับเส้นประสาท การระบายน้ำในช่องเยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง นอกจากนั้นยังสามารถผ่าตัดปิดกะโหลก ของผู้ป่วยที่ได้รับการบาดเจ็บ โดยใช้นวัตกรรมแผ่นปิดกะโหลกศีรษะจากโลหะไทเทเนียมฯ
พญ.ศศิกานต์ สุขห่อ แพทย์เฉพาะทางสาขาประสาทศัลยศาสตร์ ประจำ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า คนไข้ที่เข้ารับการผ่าตัดวินิจฉัย traumatic subdural hemorrhage (เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นดูราจากอุบัติเหตุ) คนไข้เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดเอาเลือดในสมองออกร่วมกับการผ่าตัดเปิดกะโหลกเพื่อระบายความดันในสมอง (decompressive craniectomy with clot removal) หลักจากนั้นจึงนัดมาปิดกะโหลก โดยมีข้อบ่งชี้ คือ
1. คนไข้มีอาการ trephination syndrome (กลุ่มอาการอ่อนแรงและความรู้สึกตัวลดลงหลังผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะเนื่องจากสูญเสียสมดุลของความดันในกะโหลก)
2. แก้ไขภาวะกะโหลกแหว่ง ( skull defect) เพื่อป้องกันเนื้อสมองและความสวยงาม
- 94 views