สสส.-สคอ. รวมพลังเครือข่าย 9 จังหวัด ขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนนในพื้นที่ปี 2567 หวังลดอุบัติเหตุ หลังพบ! คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 15,000 – 20,000 คน เด็กประมาณ 1.6 หมื่นคน ต้องเป็นเด็กกำพร้า อีกกว่า 7.5 หมื่นคน ฐานะครอบครัวลำบากเพราะพ่อแม่เสียชีวิต
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน โรงแรมทีเค.พาเลซแอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) และภาคีเครือข่าย 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย อุดรธานี กาฬสินธุ์ มหาสารคาม สุพรรณบุรี สิงห์บุรี สุราษฎร์ธานี และสงขลา จัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนนในพื้นที่ปี 2567 เพื่อแสดงผลงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนการดำเนินงานความปลอดภัยทางถนนร่วมหาแนวทางเร่งแก้ไขปัญหาในพื้นที่เสี่ยง ลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้มากที่สุดโดยยึดเอาแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 5 เป็นแนวทางการดำเนินงาน
นางก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย ถือเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้ปัญหาสังคมหรือปัญหาสุขภาพอื่นๆ เพราะหากสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ จะช่วยให้ประเทศลดค่าใช้จ่ายที่จะต้องจ่ายสำหรับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ปีละมากกว่า 4 พันล้านบาท และหากคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมจากอุบัติเหตุทางถนนก่อความสูญเสียสูงถึงปีละ 5 แสนล้านบาท และยังก่อภาระด้านค่าใช้จ่าย เวลา และทรัพยากร เช่น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ค่าดูแลรักษาในกรณีบาดเจ็บหนักหรือต้องพิการตลอดชีวิตและต้องมีคนในครอบครัวที่ต้องเสียสละในการดูแล
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เล็งเห็นปัญหานี้ซึ่งเกี่ยวพันกับการสร้างเสริมสุขภาพโดยตรง จึงได้ร่วมขับเคลื่อนงานความปลอดภัยทางถนน ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน โดยร่วมสนับสนุนการทำงานทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ สะท้อนข้อมูลปัญหาการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ สนับสนุนการใช้ข้อมูลวิชาการเพื่อขับเคลื่อนการสร้างความรู้ความตระหนักให้กับสังคม รวมถึงกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการจัดการหรือการปฏิบัติการในระดับจังหวัดและพื้นที่ ด้วยการกระตุ้นให้เจ้าภาพหลักในพื้นที่ที่ทราบปัญหาของตนเองอย่างดีได้เข้ามาจัดการเพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างยั่งยืน และในทศวรรษที่สามของ สสส. ก็ยังคงร่วมขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้น 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่
1) ส่งเสริมพฤติกรรมขับขี่ปลอดภัยและลดพฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน
2) ร่วมส่งเสริมมาตรการทางสังคม-ชุมชน-องค์กร เพื่อร่วมสร้างความปลอดภัยทางถนนให้กับคนในองค์กร-ชุมชน/ท้องถิ่น
3) ส่งเสริมให้พื้นที่ที่มีความเสี่ยงหรืออุบัติเหตุสูงมีเป้าหมายและแผนการทำงาน
4) ค้นหานวัตกรรม-เทคโนโลยีที่จะช่วยเสริมการลดอุบัติเหตุทางถนน
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า ทุกวันนี้คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 15,000 – 20,000 คน เป็นกลุ่มอายุ 16-40 ปี มากกว่า 8,000 คน/ปี เด็กประมาณ 16,000 คน ต้องเป็นเด็กกำพร้า และอีกกว่า 75,000คน ฐานะครอบครัวลำบากเพราะพ่อแม่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรหรือไม่ก็ยากจนลงเพราะพ่อแม่พิการ ดังนั้นปัญหาอุบัติเหตุทางถนนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับพื้นที่ต้องรีบดำเนินการแก้ไขโดยเร็วเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียมากยิ่งขึ้น ซึ่งมองว่ากลไกศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอและตำบล (ศปถ.อำเภอ-ตำบล) เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญเพราะเป็นกลไกจัดการในระดับพื้นที่ที่เข้าถึงประชาชนได้เร็ว และยังมีภาคีเครือข่ายการทำงานทุกระดับที่เกี่ยวข้องกับงานอุบัติเหตุทางถนนมาร่วมกันขับเคลื่อนการทำงาน
หากสามารถเร่งจัดการกับจุดเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยงได้เร็ว ทั้งส่วนที่สามารถจัดการได้เองหรือส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการก็จะสามารถลดความสูญเสียในระดับพื้นที่ดียิ่งขึ้น สอดคล้องกับการประชุมครั้งนี้ที่ สสส.และ สคอ. ได้เปิดเวทีให้คนทำงานในพื้นที่จากศปถ.อำเภอ ตำบล และท้องถิ่น มาแสดงศักยภาพการทำงาน วิธีการจัดการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน รวมทั้งแสดงผลงานผ่านบูธนิทรรศการ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อนำไปปรับใช้ตามความเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ตนเองต่อไป
นายบรรจง กาวิละมูล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.พาน อ.พาน จ.เชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย ใช้โครงสร้างและกลไกขับเคลื่อนศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนทั้งระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล ซึ่งระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ระดับอำเภอมีนายอำเภอ ปลัดอำเภอโรงพยาบาล และภาคีเครือข่าย ศปถ.อำเภอร่วมขับเคลื่อนทำงาน ส่วนในระดับตำบลมีกลไกศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนองค์การบริหารส่วนตำบลม่วงคำ มีนายก อบต.ม่วงคำ กำนัน หัวหน้าศูนย์สุขภาพชุมชนตำบลและ ภาคีเครือข่ายตำบลเป็นคณะทำงาน
ข้อมูลพื้นฐานตำบล มีข้อมูลรถจักรยานยนต์ 3,336 คัน รถยนต์ 1,652 คัน ยานพาหนะทางการเกษตร 259 คัน ทั้งนี้เพื่อประเมินการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในตำบล ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพ และนำมาจัดการความปลอดภัยทางถนน จึงได้ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนตำบลม่วงคำขึ้น โดยเริ่มจากการวางแผน ใช้ข้อมูลอุบัติเหตุจราจร 3 ฐาน วิเคราะห์และสอบสวนอุบัติเหตุ กำหนดแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน ตั้งการเป้าหมาย มีกติกาชุมชน จัดทำแผนที่จุดเสี่ยง ประกวดผลงาน
จากการติดตามประเมินผลจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนปี 2564-2567 (ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567) พบว่าปี 2564 มีผู้เสียชีวิตของอำเภอจำนวน 21 คน ตำบล 2 คน ปี2565 ผู้เสียชีวิตของอำเภอจำนวน 41 คน ตำบล 6 คน ปี 2566 มีผู้เสียชีวิตของอำเภอจำนวน 23 คน ตำบล 2 คน และในปี 2567 มีผู้เสียชีวิตของอำเภอ 14 คน ตำบล 1 คน ซึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากภาคีเครือข่ายทุกระดับเข้มแข็ง การมีส่วนร่วมของประชาชน มีกิจกรรมต่อเนื่อง มีข้อตกลงร่วมกันของชุมชน มาตรการชุมชน การบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องปราม และการใช้ระบบข้อมูลสารสนเทศร่วมดำเนินการ นอกจากนี้ในอนาคตจะขยายเครือข่ายความร่วมมือเพิ่มพื้นที่ดำเนินการอีก 2 ตำบลต่อไป
- 93 views