สสจ.พิษณุโลก ยันให้คงงบผู้ป่วยใน 8,350 บาทต่อหน่วย (ADjRW) ตามนโยบายรัฐมนตรี "สมศักดิ์" หลังพบหลายพื้นที่พยายามปรับลดต่ำกว่าเดิม ห่วงกระทบคุณภาพการให้บริการประชาชน

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม นพ.ไกรสุข เพชระบูรณิน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก กล่าวถึงอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณผู้ป่วยในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่า สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้ทำการศึกษาวิจัยต้นทุนการรักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยใน พบว่ามีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 13,142 บาทต่อ AdjRW ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คำนวณวงเงินระดับประเทศและกำหนดจ่ายในอัตรา 8,350 บาทต่อ AdjRW ซึ่งห่างจากต้นทุนเฉลี่ยอยู่ประมาณ 36.46% ทำให้ที่ผ่านมาโรงพยาบาลต้องหาวิธีบริหารงบประมาณค่าใช้จ่ายในส่วนต่างๆ ทั้งบุคลากร อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงใช้เงินบริจาคจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ประชาชนยังคงได้รับบริการทางการแพทย์ตามมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่เป็นแม่ข่ายยังต้องช่วยสนับสนุนโรงพยาบาลขนาดเล็กในพื้นที่ด้วย

นพ.ไกรสุขกล่าวต่อว่า ต่อมาเมื่อ สปสช.มีการออกประกาศปรับลดอัตราการเบิกจ่ายงบผู้ป่วยในเหลือ 7,000 บาทต่อ ADjRW จึงยิ่งส่งผลกระทบต่อการให้บริการของโรงพยาบาลต่างๆ มากขึ้น ซึ่งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ได้รับทราบและช่วยแก้ไขปัญหา โดยมีนโยบายชัดเจนว่า ปี 2567 ให้ สปสช.ยังคงคำนวณวงเงินในระดับประเทศอยู่ที่ 8,350 บาทต่อ AdjRW และผลักดันให้มีการสนับสนุนงบกลางกว่า 5,900 ล้านบาท เพื่อให้คงการจ่ายในอัตราเดิม

โดยในปีงบประมาณ 2568 ได้เพิ่มงบประมาณรายหัวผู้ป่วยในจาก 1,528.54 บาท เป็น 1,790.73 บาท คิดเป็นวงเงินกว่า 12,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากนโยบายตั้งวงเงินบริหารระดับเขตของ สปสช. ผ่านคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ (อปสข.) ทำให้พบว่า ขณะนี้ในหลายพื้นที่มีความพยายามผลักดันให้ปรับลดอัตราเบิกจ่ายงบผู้ป่วยในลงต่ำกว่า 8,350 บาทต่อ AdjRW ซึ่งนอกจากไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการแก้ไขปัญหาแล้ว ที่สำคัญคือจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพในการรักษาพยาบาลประชาชนด้วย จึงขอยืนยันให้คงอัตราเบิกจ่ายงบผู้ป่วยในในอัตราเดิมตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข