ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง “สิทธิบัตรทอง” เผย หลังล้างไตด้วย “เครื่อง APD” สะดวก ล้างไตตอนกลางคืนครั้งเดียว ช่วงกลางวันใช้ชีวิตทำงาน เรียนหนังสือ ได้ตามปกติได้ พบแพทย์ติดตามการรักษาเดือนละครั้ง ไม่เสียค่าใช้จ่าย
เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2567 นายธีรวัฒน์ เดชวิเศษ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะท้ายสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) อายุ 26 ปี อาศัยอยู่ใน จ.ภูเก็ต ทำงานประจำที่ร้านอุปกรณ์ก่อสร้าง เปิดเผยว่า เป็นผู้ป่วยไตที่ต้องเข้ารับการบำบัดทดแทนไตเมื่อ 3 ปีก่อน และได้เข้ารับการรักษาด้วยสิทธิบัตรทอง 30 บาท ที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โดยเลือกวิธีการล้างไตทางช่องท้อง (CAPD) เนื่องจากได้ปรึกษาร่วมกันกับแพทย์อายุกรรมโรคไตแล้ว เห็นว่าเป็นแนวทางการบำบัดที่เหมาะสม ซึ่งก็ถือว่าสะดวก เพียงแต่ติดตรงที่ต้องล้างไต 5 ครั้งต่อวัน
ทั้งนี้ เมื่อประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา ได้ปรึกษากับแพทย์ฯ เพื่อขอเปลี่ยนมาใช้เครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ (APD) แทน ที่เป็นการล้างไตอีกวิธีหนึ่งและอยู่ในสิทธิประโยชน์บัตรทอง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และจากที่ได้ทำการบำบัดด้วยเครื่อง APD ก็ยิ่งมีความสะดวกกว่าการล้างไตด้วยตนเองมาก เพราะทำการล้างไตเพียงแค่ครั้งเดียวต่อวันในช่วงเวลากลางคืน พอตื่นเช้ามาก็ไปทำงานได้ตามปกติ ไม่ต้องมาล้างไตระหว่างวัน ซึ่งต้องขอบคุณที่บัตรทองมีสิทธิประโยชน์ดูแลผู้ป่วยโรคไตที่ครอบคลุม ทำให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย
“ตั้งแต่ใช้งานมาก็พบว่าเครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ ไม่ได้มีปัญหาใดๆ จะมีบ้างที่นอนทับสายน้ำยาล้างไตเท่านั้น ส่วนระบบการล้างไตของเครื่องก็ทำงานได้อย่างดี เพราะผลการตรวจสุขภาพประจำเดือนกับแพทย์ก็พบว่าสภาพไตไม่ได้มีปัญหา แต่ส่วนตัวก็ต้องระมัดระวังเรื่องรับประทานอาหาร ที่อาจมีผลต่อไตได้” นายธีรวัฒน์ ระบุ
ด้าน นางอ๊อด วงศ์วรรณะ อายุ 61 ปี ยายของเด็กหญิงผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังสิทธิบัตรทองวัย 14 ปี อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย กล่าวว่า อยู่กับหลานสาวเพียง 2 คน เพราะพ่อแม่เด็กเสียชีวิตไปตั้งแต่หลานยังเด็ก ต่อมาหลานป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ทำให้ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตมาตั้งแต่อายุ 12 ปี โดยใช้สิทธิบัตรทองเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก ซึ่งเลือกวิธีล้างไตทางช่องท้องที่บ้าน (CAPD) เพราะอยู่ห่างไกล ไม่สามารถไปฟอกเลือดที่หน่วยบริการได้ โดยได้รับการจัดส่งน้ำยาล้างไตถึงบ้าน ไม่มีค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม วิธีดังกล่าวแม้ว่าจะให้ผลการบำบัดที่ดี แต่ก็ไม่สะดวกเพราะหลานต้องล้างไตด้วยตนเองทุกๆ 4 ชั่วโมง อีกทั้งต้องทำช่วงไปเรียนที่โรงเรียนด้วย รวมถึงต้องตื่นตอนกลางคืนเพื่อมาล้างไต ต่อมาจึงได้ปรึกษากับแพทย์เพื่อขอเปลี่ยนมาเป็นการบำบัดทดแทนไตด้วยเครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติแทน เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิต หลังจากที่หลายได้บำบัดล้างไตด้วย APD ทำให้มีความสุขมากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เพราะล้างไตเพียงครั้งเดียวต่อวันในช่วงเวลากลางคืนเท่านั้น ตื่นเช้าก็ไปโรงเรียน เรียนหนังสือได้ตามปกติเหมือนเพื่อนๆ คนอื่น
"หลานสาวสะดวกมากขึ้นหลังล้างไตด้วยเครื่องอัตโนมัติ เขาล้างไตตอนกลางคืนครั้งเดียวแล้วหลับไปได้เลย ไม่ต้องตื่นกลางดึกเหมือนเมื่อก่อนที่ต้องล้างไตด้วยตนเอง ที่สำคัญคือไม่มีค่าใช้จ่ายในการใช้เครื่อง รวมถึงน้ำยาล้างไตก็ไม่ต้องจ่ายด้วย แต่ก็จะต้องเสียค่าเดินทางทุกเดือนเพื่อไปพบหมอที่ จ.พิษณุโลก เพื่อตรวจสุขภาพ ซึ่งแต่ละครั้งต้องจ่ายเงินประมาณ 800 บาท หากมีการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ด้วยอีก ก็คิดว่าคงดีต่อผู้ป่วย และญาติที่ต้องดูแลผู้ป่วยอย่างมาก" นางอ๊อด ญาติผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง กล่าว
ขณะที่ผู้ป่วยอีกราย น.ส.ชลธิชา มาลีเมาะ ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะท้าย อายุ 29 ปี สิทธิบัตรทอง อาชีพรับจ้างทั่วไป กล่าวว่า เป็นผู้ป่วยโรคไตเมื่ออายุ 21 ปี และได้เริ่มบำบัดทดแทนไตในทันที เพราะเป็นระยะสุดท้าย โดยแพทย์อายุรกรรมโรคไตได้เลือกวิธีให้คือการล้างไตผ่านทางช่องท้องด้วยตนเอง โดยไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งปัจจุบันล้างไตด้วยตนเองมาแล้วกว่า 8 ปีพบว่ามีความสะดวก และสามารถวางแผนกำหนดเวลาล้างไตที่เหมาะสมกับตนเอง และแบ่งเวลาไปทำกิจกรรมอื่นๆ ได้เหมือนกับคนปกติ หรือแม้แต่ไปท่องเที่ยวต่างจังหวัด ก็ยังสามารถพกพาน้ำยาล้างไตไปด้วยได้
"ปกติแล้วจะทำการล้างไตทางช่องท้อง 4 รอบต่อวัน รอบละ 20 นาที เริ่มจาก 6 โมงเช้า เที่ยงวัน หกโมงเย็น และครั้งสุดท้ายสี่ทุ่มตรงก่อนนอน ซึ่งการกำหนดเวลาล้างไตทางช่องท้องก็ปรึกษาร่วมกันกับแพทย์ เพื่อจัดเวลาที่เหมาะสมให้ หรือหากไปต่างจังหวัด เช่น ไปดูคอนเสิร์ต ก็ยังสามารถล้างไตได้ภายในรถ แต่ว่าก็ต้องทำความสะอาดพื้นที่อย่างละเอียดรอบคอบ ซึ่งน้ำยาก็สามารถพกพาไปด้วยได้" น.ส.ชลธิชา กล่าว
น.ส.ชลธิชา กล่าวด้วยว่า สำหรับการบำบัดด้วยเครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ ขณะนี้จากที่ล้างไตด้วยวิธี CAPD ก็ยังรู้สึกว่าสะดวกดี จึงยังไม่ได้เปลี่ยนวิธีกล้างไตโดยใช้เครื่อง APD แต่ก็ได้ลงทะเบียนรับเครื่องไว้กับศูนย์ล้างไตทางช่องท้อง เคดีเคซี ที่เป็นหน่วยบริการภาคเอกชนแล้ว เผื่อจะได้ลองปรับเปลี่ยนวิธีบำบัดที่ทำให้เกิดความสะดวกในการใช้ชีวิตมากขึ้น
- 56 views