สพฉ.-ศิริราชวิทยวิจัย-สวทช. ร่วมลงนาม MOU ยกระดับการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน พัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม iDEMS พร้อมระบบปฏิบัติการอัจฉริยะ ช่วยให้ทีมแพทย์ช่วยเหลือผู้ป่วยทันท่วงที สามารถมองเห็นผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุผ่าน VDO call ให้คำแนะนำการปฐมพยาบาลอย่างถูกต้องก่อนรถพยาบาลไปถึง เพิ่มอัตราการรอดชีวิต!
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เกียรติเป็นประธานในการลงนามความร่วมมือระหว่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กับบริษัท ศิริราชวิทยวิจัย จำกัด และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มการแพทย์ฉุกเฉิน iDEMS ยกระดับระบบบริการสารสนเทศการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลด้วยดิจิทัล ที่มีระบบปฏิบัติการอัจฉริยะ หรือ SAVER ช่วยให้ทีมแพทย์เข้าช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้ทันทีที่มีการแจ้งเหตุ และผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินผ่านการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง สพฉ. ศิริราชวิทยวิจัย และสวทช. ในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล iDEMS โดยเชื่อมั่นว่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน ที่ครอบคลุม มีคุณภาพสูง ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชน และผู้ปฏิบัติงานในระบบการแพทย์ฉุกเฉินต่อไปได้ในวงกว้าง
ด้านเรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะยกระดับการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินของไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล เมื่อมีประชาชนขอความช่วยเหลือผ่านโทรศัพท์ เบอร์ 1669 ผู้ปฏิบัติการในศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการสามารถทราบเบอร์โทร และตำแหน่งของผู้แจ้งเหตุ และตอบสนองได้ทันที อีกทั้งสามารถมองเห็นผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุผ่านการโทร VDO call เพื่อให้คำแนะนำการปฐมพยาบาลอย่างถูกต้องก่อนรถพยาบาลไปถึง ส่งผลให้สามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินได้
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานกรรมการ บริษัท ศิริราชวิทยวิจัย จำกัด ได้กล่าวถึงภารกิจที่สำคัญของศิริราชวิทยวิจัย คือ ทำให้นวัตกรรมในศิริราชเกิดประโยชน์กับสังคมให้มากที่สุด ถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของสถาบันการศึกษา นอกเหนือจากเรื่องการเรียนการสอน การสร้างบุคลากรจึงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ การทำความร่วมมือกับ สพฉ. นี้ จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และนำจุดแข็งของแต่ละองค์กรมาสร้างประโยชน์กับระบบการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินในประเทศต่อไป
ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ประธานฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ศิริราชวิทยวิจัย จำกัด กล่าวว่า บริษัท ศิริราชวิทยวิจัย จำกัด หรือ ศิวิทย์ เป็นวิสาหกิจศิริราช ที่กำเนิดจากศิริราชมูลนิธิ มีเป้าหมายในการดำเนินงานเพื่อสังคม การทำความร่วมมือนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาระบบสารสนเทศการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล SAVER: Smart Approach Vital Emergency Responses ซึ่งเป็นแหล่งเก็บรักษาข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อการวิจัย และเพิ่มศักยภาพบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน
ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวถึง ภารกิจของ สวทช. ในการร่วมพัฒนา iDEMS ให้สามารถลดความซ้ำซ้อนในนำเข้าข้อมูล และติดตามการปฏิบัติงานเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยก่อนถึงโรงพยาบาลได้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ผ่านระบบโทรศัพท์ Total Conversation ที่สามารถแจ้งเหตุได้ทั้งเสียง ข้อความ ภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว พร้อมทั้งมีเทคโนโลยี AI ช่วยสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ด้วยระบบ Emergency Telemedical Direction สำหรับผู้ป่วยในรถพยาบาล รองรับการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลดิจิทัลของรัฐบาลได้
ทั้งนี้ ความร่วมมือกันระหว่าง สพฉ. ศิริราชวิทยวิจัย และ สวทช. ที่จะร่วมกันจัดทำ ติดตามและประเมินผลการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล iDEMS อย่างต่อเนื่องภายใต้ความร่วมมือนี้ จะทำให้เกิดการบูรณาการการพัฒนาระบบสารสนเทศการแพทย์ฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการจากเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ในระยะยาว และตอบสนองความต้องการของประชาชนไทยได้ในอนาค
- 190 views