ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาผู้บริโภค เสนอรวม 3กองทุนสุขภาพเป็นระบบเดียว เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมแนะประกันสังคมใช้โมเดล สปสช. แก้ปัญหารพ.เอกชน จ่อออกจากคู่สัญญา  ด้านอดีตนายกสมาคมรพ.เอกชน มองผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ ไม่ควรได้สิทธิน้อยกว่า 30 บาทฯ  

 

หลังจากรพ.เอกชน ร่วมลงชื่อ 70 แห่งเตรียมออกจากการเป็นคู่สัญญาประกันสังคม หากไม่ได้รับการปรับปรุงอัตราการจ่ายเงินค่าบริการรักษาผู้ประกันตน เนื่องจากแบกรับไม่ไหวอีกต่อไป ขณะที่ล่าสุดคณะกรรมการการแพทย์  แต่งตั้งคณะอนุกรรมการทบทวนหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคม (เฉพาะกิจ) ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 17 ต.ค.นี้

 

เมื่อเร็วๆนี้ นายสมชาย กระจ่างแสง อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาผู้บริโภค ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องของการต่อรองทางการเงินของของโรงพยาบาลเอกชน แต่ทั้งนี้ หากจะมีการปรับอัตราจ่ายค่าบริการกองทุน สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ต้องใช้ความสมเหตุสมผล โดยผู้ให้บริการก็คือโรงพยาบาลต้องอยู่ได้ภายใต้งบฯที่ได้รับ ส่วนผู้ประกันตนเองผู้เป็นเจ้าของเงินก็จะต้องได้รับบริการที่ดีและครอบคลุมบริการสุขภาพทั้งหมด

“ประกันสังคมจะต้องปรับวิธีการจ่ายเงินให้กับโรงพยาบาล ควรเปลี่ยนจากการจ่ายเงินก้อนใหญ่ โดยปรับการจ่ายเงินแบบเหมาจ่ายรายหัวที่มีการแบ่งสัดส่วนให้เหมาะสมมากขึ้น โดยแบ่งงบสำหรับกองทุนต่าง ๆ เช่นกองทุนเกี่ยวกับโรคค่าใช้จ่ายสูง หรือกองทุนเกี่ยวกับเรื่องของโรคเฉพาะทาง เหมือนกับสิทธิบัตรทองเพื่อเป็นหลักประกันให้กับผู้ประกันตน หากเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงอย่างเช่น มะเร็ง โรคหัวใจ โรคไต จะได้รับบริการแน่นอน” นายสมชาย กล่าว

สวัสดิการด้านสุขภาพของไทยควรรวม 3 กองทุน

นายสมชาย กล่าวอีกว่า กองทุนสวัสดิการด้านสุขภาพหลักของไทย ทั้ง 3 กองทุน สิทธิบัตรทอง สิทธิข้าราชการ และสิทธิประกันสังคม  ควรรวมให้เป็นระบบเดียวกันเพื่อให้การบริหารจัดการเงินและบริการมีความเป็นมาตรฐานเดียว ซึ่งจะช่วยลดความซับซ้อน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และทำให้โรงพยาบาลสามารถเข้าร่วมได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างการใช้โมเดลจากต่างประเทศ อย่างเกาหลีใต้ที่เมื่อก่อนมีหลายกองทุน แต่ปัจจุบันมีการรวมกองทุนเป็นระบบเดียว และออกกฎหมายให้ทุกโรงพยาบาลที่อยู่ในประเทศต้องเข้าร่วมโครงการ

“ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ ประกันสังคมต้องบริหารจัดการด้านการเงินใหม่ โดยใช้โมเดลของ สปสช. แต่ถ้าให้แก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ ประเทศไทยต้องรวมระบบสุขภาพเข้าเป็นระบบเดียว และมีอัตราจ่ายให้กับโรงพยาบาลที่เท่ากัน”นายสมชาย กล่าว

เมื่อถามถึงสาเหตุที่ประเทศไทยยังรวมกองทุนบริการสุขภาพไม่ได้ อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพฯ  เห็นว่า เนื่องจาก การรวมระบบเดียวต้องแก้กฎหมายหลายฉบับเพราะแต่ละกองทุนมี พ.ร.บ.ของตัวเอง แม้ว่าเป็นเรื่องที่ควรทำแต่ยังทำไม่ได้ตอนนี้  

อดีตนายกสมาคมฯ เผยสาเหตุ รพ. เอกชนอยู่ในระบบไม่ได้

ล่าสุด นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช อดีตนายกสมาคมรพ.เอกชน ให้ความเห็นเรื่องประกันสังคมว่า  รพ.เอกชนมีราว 400 แห่ง  ราว 40,000 เตียง เพียงแต่วันนี้นโยบายที่รัฐดำเนินการเรื่องหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง 30 บาท) และประกันสังคม ทำให้ภาคเอกชนค่อยๆทยอยอยู่ในระบบไม่ได้ เนื่องจากวิธีการจ่ายเงินในแง่นักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขที่ควบคุมระบบเหล่านี้อยู่ อาจมองว่าไม่จำเป็นต้องมีภาคเอกชนหรือไม่ จึงจ่ายเงินให้ภาคเอกชนในอัตราที่ต่ำกว่ารพ.ภาครัฐมาก โดยที่จ่ายให้ภาครัฐมีการให้เงินเดือนบุคลากรทางการแพทย์แยกออกด้วย แต่เมื่อจ่ายให้ภาคเอกชนจะไม่มีค่าแรงคน จึงต่ำกว่าจริง ด้วยความคาดหวังว่าภาคเอกชนไปหาค่าแรงจากเรื่องอื่น ซึ่งเป็นไปไม่ได้ จึงทำให้ภาคเอกชนค่อยๆทยอยออกจากระบบ

“ ตอนนี้รพ.เอกชนออกจากระบบบัตรทอง 30 บาทเกือบหมดแล้ว และอาจจะมีการออกจากประกันสังคมอีก เพราะภาครัฐหรือนโยบายรัฐบาลไม่ได้เจตนาจะให้ภาคเอกชนอยู่ในระบบเหล่านี้หรือไม่”นพ.พงษ์พัฒน์ ตั้งคำถาม

เมื่อถามว่าขณะนี้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า รพ.เอกชนจ่อถอนตัวจากประกันสังคมอาจเป็นแค่คำขู่เท่านั้น นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวว่า  หากรพ.เอกชนถอนตัวแล้วออกมาดำเนินการเรื่องเมดิคัลฮับ ให้บริการรักษาคนต่างชาติ  เนื่องจากปัจจุบันภาคเอกชนยังมี Capacity เหลือ จากเตียงที่มี 40,000 เตียง ใช้รองรับเมดิคัลฮับดูแลผู้ป่วยต่างชาติแค่ไม่กี่รพ.หรือราว 2,000 เตียง มีรายได้ 70,000 ล้านบาท ยังมีศักยภาพที่จะขยายและสร้างรายได้ไปถึงอย่างน้อย 7 แสนล้านบาท หรือเกือบ 5 % ของGDP ซึ่งดีกว่าอยู่ในระบบประกันสังคม ขอเพียงแค่รัฐบาลมีความชัดเจนในการส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจัง เพราะเป็นการหาเงินให้ประเทศ

ประกันสังคมต้องได้มากกว่าบัตรทอง 30 บาท

นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวอีกว่า ระบบประกันสังคมแตกต่างจากบัตรทอง 30 บาท เนื่องจากประกันสังคมมีการร่วมจ่ายบางระดับ โดยเงินเกิดจากการออมของลูกจ้าง นายจ้างและรัฐบาลสมทบบางส่วน  เพราะฉะนั้นเงินส่วนของรักษาพยาบาลที่ประกันสังคมเก็บเป็นส่วนรักษาปีต่อปี ยังเก็บหมวดเงินกองทุน 4 กรณี ไว้จำนวนมากหลักแสนล้านบาท ซึ่งแต่ละปีที่จ่ายให้รพ.อาจจะแค่ราว 3-4 หมื่นล้านบาท  สามารถไม่เก็บเงินสมทบเข้าหมวดนี้ได้โดยมีเงินสำรองได้ถึง 5 ปี 

แต่ประกันสังคมไปวางกฎเกณฑ์ตัวเองว่าต้องเกาะมาตรฐานเดียวกับบัตรทอง 30 บาท ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะระบบบัตรทอง 30 บาทเกิดจากรัฐบาลจ่ายให้ทั้งหมดจากเงินภาษี แต่ประกันสังคม ผู้ประกันตนลูกจ้าง นายจ้างเป็นคนจ่ายสมทบ เมื่อเป็นเช่นนี้ถามว่าสิทธิรักษาพยาบาลประกันสังคมควรจะสูงกว่าหรือเตี้ยกว่า 30 บาท คำตอบคือควรจะได้ดีกว่า เมื่อจะทำให้สูงกว่าก็จะต้องมีเอกชนมีส่วนร่วม

สปส.เก็บเงินผู้ประกันตนควรได้สิทธิมากกว่า 30 บ.

ตอนนี้ประกันสังคมใช้เงินต่อหัวน้อยกว่าบัตรทอง 30 บาท เป็นเรื่องที่ผิด ด้วยความที่ถูกนักเศรษฐศาสตร์กำหนดว่าประกันสังคมอยู่ในวัยทำงาน ควรจะต้นทุนถูกกว่า 30 บาทที่ดูแลเด็กและคนแก่ เรื่องนี้จะถูกก็ต่อเมื่ออยู่ในเงินกองเดียวกัน แต่ไม่ถูกตรงที่ประกันสังคมเก็บเงินผู้ประกันตนมา แล้วจะไปให้สิทธิรักษาต่ำกว่าได้อย่างไร คนจึงไม่อยากจะจ่ายเงินเข้าประกันสังคม ฉะนั้นจะต้องปรับเรื่องวิธีคิดโดยประกันสังคมต้องให้สูงกว่าบัตรทอง 30 บาท ไม่ใช่ไปคิดว่าดูแลคนวัยทำงานแล้วต้นทุนจะต้องต่ำกว่าดูแลเด็กและคนแก่  

โอนบัตรทองกลุ่มไม่เปราะบางมาอยู่ฝั่งประกันสังคม  

เท่ากับว่าควรจะต้องมีการรวม 3 ระบบประกันสุขภาพภาครัฐเป็นกองทุนเดียวหรือไม่ นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวว่า ถ้ารวมแล้วใช้เงินจากภาษีทั้งหมด เท่ากับเป็นการทำลายทิ้งหมดทุกระบบ เพราะGDPประเทศไม่ได้โต ตอนนี้ที่ควรดำเนินการ คือ ย้ายมาอยู่ฝั่งประกันสังคมให้มากขึ้น จะได้มีการร่วมจ่าย(Co-payment)ด้วย 

“ปัจจุบันมีคนรวยอยู่ในสิทธิรักษาพยาบาลระบบบัตรทอง 30 บาทที่ดูแลคนอยู่ราว 47 ล้านคน ขณะที่กลุ่มเปราะบางเทียบจากที่รัฐจ่ายเงิน 10,000 บาทให้มีเพียง 10 กว่าล้านคน  ที่เหลืออีก 30 กว่าล้านคนคือผู้ไม่เปราะบาง เพียงแต่ไม่ได้เป็นลูกจ้าง หรือมีนายจ้าง  จึงควรโอนกลุ่มนี้มาเข้าระบบประกันสังคมเพื่อให้เขามีเงินออมด้วย ส่วนเงินค่าเหมาจ่ายรายหัวของบัตรทอง 30 บาทอาจจะขยับเพิ่มได้อีก2-3 เท่าด้วย ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด”นพ.พงษ์พัฒน์กล่าว