ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกสมาคม รพ.เอกชน จี้สปส.การันตีจ่ายขั้นต่ำค่าบริการผู้ป่วยใน 1.2 หมื่นบาท หลังถูกลดเหลือ 7.2 พัน ทำกระทบต้นทุน แจงไม่เคยขู่ถอนตัวจากประกันสังคม แต่ขอความชัดเจนประกอบการพิจารณา ขณะที่ปลัดกระทรวงแรงงาน ตีกรอบอนุกรรมการฯเฉพาะกิจแก้ปัญหาภายใน 90 วัน

เสนอการันตีจ่ายขั้นต่ำ 1.2 หมื่นบาท

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวถึงข้อเสนอของสมาคมฯ ที่จะเสนอประกอบการพิจารณาในการประชุมของคณะอนุกรรมการทบทวนหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคม (เฉพาะกิจ) ในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ ว่า  สมาคมรพ.เอกชน เคยทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อขอชี้แจงและช่วยเหลือปัญหานี้ไปแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567  ซึ่งข้อเสนอหลักๆเพื่อประกอบการพิจารณาของอนุกรรมการฯ เฉพาะกิจ คือ ขอให้มีการการันตีหรือประกันการจ่ายค่าบริการผู้ป่วยในขั้นต่ำที่ 12,000 บาทต่อหน่วย หรือ AdjRW (ค่าน้ำหนักสัมพัทธ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมด้วยเกณฑ์วันนอน) จากเพดานที่ 15,000 บาท

“การการันตีการจ่ายเงินผู้ป่วยในจะช่วยให้ รพ.เอกชน มั่นใจว่า จะไม่ถูกลดเงินลงอีกเหมือนปี 2566 ในเดือนกันยายน จนถึงธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา เราถูกลดงบผู้ป่วยในเหลือเพียงเดือนละ 7,200 บาทต่อหน่วย หากไม่มีการประกันการจ่ายขั้นต่ำก็มีความเสี่ยงถูกปรับได้เรื่อยๆ ที่สำคัญควรมีการตั้งงบประมาณที่สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป เช่นอัตราเงินเฟ้อ ไม่ใช่มีเงินเท่าไหร่ก็จ่ายเท่านั้น” นพ.ไพบูลย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้ รพ.เอกชนลงนาม 70 แห่งประกาศหากไม่มีการประกันการจ่ายขั้นต่ำค่าบริการผู้ป่วยในที่ 1.2 หมื่นบาทจะถอนตัวออกจากประกันสังคม นพ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ต้องชี้แจงว่า ไม่ได้เป็นการขู่ แต่การที่รพ.เอกชน ลงนามกว่า 70 แห่งนั้น ก็เพื่อขอความชัดเจนประกอบการพิจารณาว่า ประกันสังคมจะมีการการันตีการจ่ายขั้นต่ำค่าบริการผู้ป่วยในที่ 1.2 หมื่นบาทต่อหน่วย   ซึ่งรพ. ต้องการนำข้อมูลมาเพื่อประกอบการพิจารณาว่า จะลงนามเป็นคู่สัญญากับประกันสังคมต่อหรือไม่ ไม่ใช่เป็นการขู่แต่อย่างใด

รพ.เอกชน 93 แห่งยังอยู่ในประกันสังคม

 “ปัจจุบัน รพ.เอกชนมีประมาณ 400 แห่ง เป็นคู่สัญญาของประกันสังคม 93 แห่ง ซึ่งมองว่าสามารถที่จะควบคุมคอร์สได้ ทำให้ตกลงเป็นคู่สัญญา และให้บริการผู้ประกันตนมาตลอด พวกเราไม่ได้อยากถอนตัว เพราะอยู่ด้วยกันมานาน แต่หากคุมคอร์สต่อไปไม่ได้แล้ว ก็ทำให้ต้องกลับมาคิดพิจารณาอีกครั้ง ดังนั้น จึงอยากให้คณะอนุกรรมการฯ เฉพาะกิจ ที่แต่งตั้งขึ้นพิจารณาเรื่องนี้เป็นสำคัญ” นายกสมาคม รพ.เอกชน กล่าว และ ว่า นอกจากนี้ ยังอยากให้ทาง สปส. มีการพิจารณาปรับอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวในทุกหมวดให้สอดคล้องกับค่าเงินเฟ้อของประเทศ 

ปัญหาระบบสาธารณสุข

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีข้อเสนอว่า หากเงินที่ประกันสังคมจ่ายให้รพ.ไม่เพียงพอ เป็นไปได้หรือไม่ ในอนาคตอาจต้องปรับระบบสาธารณสุขใหม่ให้รวม 3 กองทุน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำการบริการ นพ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ไม่ถึงขั้นนั้น ที่สำคัญที่มาของ 3 กองทุนก็แตกต่าง สวัสดิการก็แตกต่าง อย่างบัตรทอง ก็จะเป็นงบของภาครัฐ สิทธิสวัสดิการข้าราชการก็จะมีสิทธิที่แตกต่างกันไปอีก ขณะที่ประกันสังคม ก็จะมีการจ่ายสมทบ  

เมื่อถามว่ามีข้อเสนอว่าให้ผู้มีสิทธิบัตรทองที่ไม่ใช่กลุ่มเปราะบางมาอยู่ในประกันสังคม เพื่อสามารถร่วมจ่ายได้ เป็นอีกทางเลือกช่วยระบบสาธารณสุข นพ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ตนมองว่าเรื่องระบบสาธารณสุข หากสามารถตั้งงบประมาณสอดคล้องกับความเป็นจริงก็จะเหมาะสม อย่างไรก็ตาม จริงๆในต่างประเทศ ทุกคนที่มีรายได้จะต้องจ่ายเงินในเรื่องการรับบริการรักษา เพียงแต่ว่า ของประเทศไทยไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม หากจะถามว่าต้องแก้ไขอย่างไรในเรื่องงบประมาณด้านสุขภาพ ตรงนี้รพ.คงพูดอะไรมากไม่ได้ เพราะอยู่ในฐานะ Provider ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาล

ขีดเส้น 90 วัน อนุกก.เฉพาะกิจแก้ปมรพ.เอกชน  

วันเดียวกัน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาปรับเพิ่มค่ารักษาพยาบาลในกลุ่มดีอาร์จี DRG ว่า  ขณะนี้ตั้งอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ มาพิจาณาเรื่องนี้ภายใน 90 วัน ว่าอัตราการจ่ายค่าบริการผู้ป่วยในแบบ DRG ในปัจจุบันนั้นเพียงพอหรือไม่ เป็นธรรมหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่

สำหรับกรณีที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่า การันตีค่าดีอาร์จี ที่ 1.2 หมื่นบาทตลอดทั้งปี  ในขณะที่ทางสมาคม รพ.เอกชน ขอ 1.5 หมื่นบาทนั้นคงไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมา คณะกรรมการประกันสังคม และคณะกรรมการการแพทย์ ได้การันตี 1.2 หมื่นบาททั้งปีมาแต่ไหน แต่ไรอยู่แล้ว แต่ในช่วงโควิด ปรากฏว่า มีการเบิกต่ายค่อนข้างเยอะ ทำให้เงินกองทุนดังกล่าวลดลง จึงส่งผลให้ช่วงปลายปี 2566  เหลืออยู่ 7.2 พันบาท ต่อ 1 ดีอาร์จี อย่างไรก็ตาม ที่เรียกร้อง 1.5 หมื่นบาทนั้น ก็ต้องดูที่ความเหมาะสม อยู่ที่คณะอนุกรรมการจะพิจารณา