ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"แพทยสภา" ปั้นหลักสูตรด้านกฎหมาย-การบริหาร-เทคโนโลยี-การสื่อสาร  หนุนเสริมความรู้บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้มีศักยภาพสูงสุดในการดูแลประชาชน พร้อมทำ MOU มากกว่า 10 ฉบับ เดินหน้าแก้ปัญหาแบบบูรณาการทุกภาคส่วน
.
“จากคำสอนของพระราชบิดาฯ ถึงแพทย์ไทยว่า คุณสมบัติของแพทย์ที่ดี ต้อง รู้รอบ และรอบรู้ เรื่องต่างๆนอกไปจากวิชาแพทย์... แพทยสภาจึงเอาคอนเซ็ปต์นี้ ตั้งเป็นโครงการการศึกษา โดยร่วมมือกับสถาบันพระปกเกล้า ในชื่อหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ เพื่อนำแพทย์มาเรียนรู้และแก้ปัญหาการบริหาร ด้วยธรรมาภิบาล เพิ่มเติมความรู้ที่แพทย์ควรจะรู้เพื่อประโยชน์ของประชาชน ตั้งแต่ปี 2555 ดำเนินการสอนมา 10 รุ่น มีนักศึกษา 1,356 คน หลังครบ 10 ปี

ได้ดำเนินการจัดตั้งสถาบันที่จะนำความรู้นอกไปจากวิชาชีพแพทย์แต่แพทย์จำเป็นต้องใช้ เข้ามาฝึกอบรมเป็นรูปธรรมในชื่อ “สถาบันมหิตลาธิเบศร“ ซึ่งเป็นนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10”  พล.อ.อ.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา  เผยถึงแนวทางการดำเนินงานของแพทยสภา ที่ไม่ใช่แค่การดูแลวิชาชีพแพทย์เท่านั้น แต่ยังตัองสนับสนุนองค์ความรู้ต่างๆ เพิ่มมากขึ้นทั้งในวงการแพทย์และนอกวงการแพทย์

พล.อ.อ.นพ.อิทธพร เผยว่า  จากการดำเนินงานตามภารกิจของแพทยสภา ยังมีการขับเคลื่อนด้วยการแก้ปัญหาจุดต่างๆของแพทย์ พร้อมทั้งพิจารณาว่าสิ่งที่แพทย์ต้องรู้ในนี้ คืออะไรบ้าง อาทิ 1. ต้องรู้เรื่องการบริหารจัดการที่เหมาะสม  2. รู้เรื่องของการดูแลบริหารงานบุคคล 3. รู้เรื่องกฎหมาย เพราะการไม่รู้กฎหมายทําให้เกิดความผิดพลาดในระบบได้ รวมถึงลดข้อขัดแย้งได้  4. รู้เรื่องเทคโนโลยีและดิจิทัลให้ทันสมัยมากขึ้น 5.เรียนรู้เรื่องการสื่อสารในยุคปัจจุบัน ในสภาวะต่างๆ  รวมถึงต้องเกิดการทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ เพราะฉะนั้นแพทย์ในยุคปัจจุบันจึงเกิดการจับมือร่วมกันกับหลายองค์กร มีการลงนามข้อตกลง หรือการทำ MOU มากกว่า 10 ฉบับ  เช่น ความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ ทั้งสำนักงานอัยการสูงสุด ศาลยุติธรรม กระทรวงดิจิตัล หรือแม้กระทั่งกองทุนพัฒนาสื่อมวลชน อีกทั้งยังทําหลักสูตรต่างๆเพื่อมาตอบโจทย์ของวงการแพทย์ ว่าผู้บริหารวงการแพทย์มีอะไรที่ควรจะต้องทราบ และอะไรที่จะเกิดประโยชน์กับแพทย์และประชาชนสูงสุด

นอกจากนี้สถาบันยังตอกย้ำแนวคิดว่า สิ่งที่แพทย์ทำการตรวจรักษายังไม่ใช่แค่เพียงหน้าที่ แต่ยังมีการทำด้วยใจ โดยการตั้ง "ทีมแพทย์อาสา แพทยสภา" ขณะนี้มีแพทย์อาสามากกว่า 2,000 คน ซึ่งปัจจุบันได้จัดโครงการแพทย์อาสาไปแล้ว 84 โครงการ รักษาผู้ป่วยมากกว่า 300,000 คน โดยมีการออกหน่วยตลอดทุกปี ผ่านโครงการอาสาจาก "หลักสูตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์"  โดยการสนับสนุนของ “มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ “ ที่มีท่านองคมนตรี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัยเป็นประธาน เป็นการแก้ปัญหาวงการแพทย์ ด้วยการปฎิบัติตามพระปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนก ที่ว่า " ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตน เป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นกิจที่หนึ่งลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกแก่ท่านเองถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพ... ไว้ให้บริสุทธิ์ " ด้วยการนำหมออาสาไปหาประชาชน

แพทยสภามีการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้อบรมขยายเป็นหลายหลักสูตร อาทิ 1. หลักสูตรการบริหารจัดการในชื่อหลักสูตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (ปธพ.1-10)  โดยร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งวันนี้มีผู้ที่เข้ามาเรียนแล้ว 1,356 คน ในปี 2565 ครบ 10 รุ่นได้ปรับลดอายุลงเป็นหลักสูตรใหม่คือ 2. หลักสูตรผู้นำทางการแพทย์รุ่นที่ 1(ปนพ.1) ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าต่อเนื่อง ซึ่งเป้าหมายคือเตรียมความพร้อมให้กับผู้บริหารทางการแพทย์อายุ 35 ปีขึ้นไปเพื่อที่จะขับเคลื่อนสังคมไทยในด้านการแพทย์ต่อไปอีก 20 ปีข้างหน้าและได้เปิดสอนไปแล้วในปี 2566 จบการศึกษาแล้ว และในเดือนพฤศจิกายนปีนี้จะเปิดเป็นรุ่นที่ 2 ต่อเนื่อง

ทั้งนี้หลักสูตรของรุ่นผู้บริหารระดับสูงพบว่ามีความต้องการเป็นอย่างมากจากหน่วยงานต่างๆจึงได้มีการปรับปรุงและปรับแยกจากสถาบันพระปกเกล้า ในรุ่น ที่ 11 โดยจะเปิดการอบรมโดยสถาบันมหิตลาธิเบศร เริ่มรับสมัครและเปิดอบรม (ปธพ.11) ในเดือนตุลาคมปี 2567 นี้  

3. หลักสูตรอัยการกับแพทย์ เพื่อให้แพทย์เรียนรู้ทางด้านอัยการและอัยการเรียนรู้ด้านแพทย์และเข้าใจปัญหาร่วมกันในการจัดการคดีทางการแพทย์ให้เกิดความยุติธรรมกับทางแพทย์และผู้ป่วยหรือผู้เสียหายที่เกี่ยวข้องจากการบริการในภาครัฐ เปิดรุ่นแรกในปี 2564 ปัจจุบันเป็นรุ่นที่3 (ปอพ.3) 

4. หลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายการแพทย์  ซึ่งกําลังจะเปิดในเดือนธันวาคม เพื่อให้แพทย์เข้าใจกฎหมายภาพรวมทั้งหมด ทั้งระบบ  5. หลักสูตร MDX คือ เมดิเคิล ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น (Medical  Digital Transformation) เป็นหลักสูตร เพื่อให้ผู้บริหารการแพทย์เรียนรู้ด้านดิจิทัลมากขึ้นซึ่งจะเปิดในต้นปี 2568  6. หลักสูตรที่เกี่ยวกับสื่อสารการแพทย์  เพื่อให้แพทย์รู้จักเข้าใจการทํางานของสื่อมากขึ้นและเชิญสื่อเข้ามาเรียนรู้ และเติมความรู้ให้กับอาจารย์แพทย์ในการสื่อสารกับสังคมเพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องไปสู่ประชาชน ตลอดจนร่วมกันสร้างสื่อที่เข้าใจง่ายเข้าถึงง่ายและเข้ากับยุคสมัยที่สอดแทรกองค์ความรู้ทางการแพทย์เช่นละครทีวีไปจนถึง Instagram และ TikTok ในอนาคตทั้ งหมดที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสิ่งที่กําลังขับเคลื่อนในปี 2567

"ทั้งหมดนี้เพื่อคุ้มครองแพทย์ และ คุ้มครองประชาชนแล้วทําให้เกิดประโยชน์กับสังคมโดยรวมมากที่สุดในนามของแพทยสภา และเป็นการแก้ปัญหาโดยบูรณาการทุกส่วนเข้าด้วยกันแบบเป็นรูปธรรม" พล.อ.อ.นพ.อิทธพร กล่าว

พล.อ.อ.นพ.อิทธพร กล่าวต่อว่า สำหรับ "หลักสูตรอัยการกับแพทย์" เน้นการเติมความรู้ให้กับอัยการว่าโรงพยาบาลมีหลายระดับ และต้องเข้าใจว่าโรงพยาบาลมีหมอกี่คน คนไข้ตรวจอย่างไร คนไข้คลอดเป็นอย่างไร คนไข้ผ่าตัดแล้วเป็นอย่างไรต้องมาเรียนรู้ เพราะว่าเวลาที่เข้าไปช่วย หรือ ดูแลคนไข้หมอจะได้เกิดความเป็นธรรม จะได้รู้ว่าคนไข้ควรจะถูกช่วยเหลืออย่างไร ซึ่งจากการสอนมา 3-4 เดือน ทําให้การดําเนินคดีทางการแพทย์เป็นไปได้อย่างดียิ่ง รวมถึงแพทยสภาเชิญ ท่านผู้พิพากษามาเรียนรู้ร่วมกัน ใน ปธพ. ท่านก็จะเข้าใจในกรณีที่มีคดีต่างๆว่ากรณีเจ็บป่วยต่างๆเป็นอย่างไร ข้อเท็จจริงทางการแพทย์เป็นอย่างไร แล้วทราบว่าจะหาข้อมูลจากที่ไหน ราชวิทยาลัยใด สาขาใด ที่จะตรงข้อเท็จจริงที่ต้องการ 

"แพทยสภามีหน้าที่ให้ความรู้กับประชาชน หน่วยราชการและผู้เกี่ยวข้องกำหนดอยู่ในพระราชบัญญัติอยู่แล้ว หากเป็นเพียงตัวหนังสือก็ย่อมไม่เข้าใจ ปัจจุบันเรานำสิ่งที่ควรรู้ไปยังผู้ที่ใช้ความรู้ทางกฎหมายให้เข้าใจกระบวนการ โดยเฉพาะที่เกิดปัญหาบ่อยๆเช่นการทำคลอดเกิดพิการแล้วเสียชีวิตก็นำกระบวนการมาสอนและทำให้ดู การผ่าตัดก็เชิญไปดูห้องผ่าตัดให้เห็นจริง การปั๊มหัวใจช่วยชีวิตก็ชวนมาฝึกทำ CPR ได้เข้าใจและเห็นใจบุคลากรทางการแพทย์ในการช่วยชีวิตคนได้ เห็นความเสี่ยงของขั้นตอนต่างๆรวมกัน" พล.อ.อ.นพ.อิทธพร กล่าว

ซึ่งหลายครั้งนำไปสู่การพัฒนากระบวนการทางกฎหมายร่วมกัน ตอกย้ำความสำคัญที่ว่าผู้บริหารเก่งด้านบริหารไม่พอต้องรอบรู้ เข้าใจจริงและต้องเข้าใจกฎหมายด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ที่สำคัญต้องเข้าใจสังคม

พล.อ.อ.นพ.อิทธพร กล่าวต่อว่า การเพิ่มความรู้ต่างๆให้กับแพทย์เป็นไปตามพระราชดำรัสของสมเด็จพระบรมราชชนกที่ว่า “ฉันไม่ต้องการให้พวกเธอเป็นเพียงหมอเท่านั้น แต่ฉันต้องการให้พวกเธอมีความเป็นมนุษย์ด้วย”  แพทย์จึงต้องเรียนรู้วิชาอื่นนอกเหนือจากวิชาชีพแพทย์ คือวิชาทางบริหารและสังคมร่วมด้วย ในยุคปัจจุบันที่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เท่าทันสังคม