นายกสภาเภสัชกรรม ยันโครงการ ‘ร้านยาคุณภาพ’ จ่ายยาเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ เป็นไปตามพ.ร.บ.ยา ย้ำหากวินิจฉัยโรคต้องส่งแพทย์อยู่แล้ว ไม่ได้ก้าวล่วง ต่างทำหน้าที่ของแต่ละวิชาชีพ พร้อมร่วมหาทางออก หลัง รมว.สธ.เรียกหารือ 13 พ.ย. นี้
ตามที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้รับฟ้องคำร้องของแพทยสภา กรณีการจ่ายยาตาม 16 กลุ่มโรคอาการ ขณะที่สภาเภสัชกรรมประกาศผ่านเฟชบุ๊กว่าดำเนินการตามวิชาชีพ และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) เรียกหารือเรื่องนี้ในวันที่ 13 พ.ย.
ล่าสุดวันที่ 12 พฤศจิกายน รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม เปิดเผยกับ Hfocus ถึงประเด็นดังกล่าวว่า มีการพูดคุยกับแพทยสภาหลายรอบ ตอนแรกเหมือนจะเข้าใจว่างานที่ร้านยาทำ ก็ทำเช่นนี้มาโดยตลอด คือ การจ่ายยาตามอาการเบื้องต้นให้ผู้ป่วย จนได้ข้อสรุปจากแพทยสภาว่า ไม่ได้ก้าวล่วงกัน แต่มีแพทย์บางกลุ่มไม่ยอม และเสนอว่าอย่างน้อยให้มีการส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ซึ่งสรุปว่ากรณีนี้เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)วิชาชีพเวชกรรม และพ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรมฯ ซึ่งการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานของแต่ละวิชาชีพตามกฎหมายของตัวเอง
"หมายความว่า ต่างคนต่างทําได้ของตัวเอง ไม่ได้ถือว่าก้าวล่วง เพราะมีกฎหมายรองรับ แต่แพทย์บางกลุ่มไม่ยอม จึงมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น จริงๆประเด็นความปลอดภัยนั้น ทางคณะกรรมการกฤษฎีกา แนะว่าถ้าแพทสภาห่วงเรื่องความปลอดภัยก็ให้เภสัชกับแพทย์มาคุยกันว่าขอบเขตแค่ไหนดี จะได้ไม่อันตราย" รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ กล่าว
เมื่อถามว่ามีการเตรียมแนวทางรองรับกรณีสุดท้ายโครงการนี้ไม่สามารถทำได้อีกหรือไม่... รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ กล่าวว่า จริงๆโครงการนี้เป็นการดำเนินการถูกต้องตามพ.ร.บ.วิชาชีพฯเพราะเภสัชกรจ่ายยาได้ ส่วนแพทย์จะจ่ายไม่ได้แต่แพทย์ก็จ่ายอยู่ตลอด ซึ่งเรายังไม่ได้อยากจะฟ้องอะไรให้ทะเลาะกัน จริงๆประเด็นนี้ถ้าจะบอกไม่ให้ทําก็แปลว่า พ.ร.บ.ยาฯผิด เพราะเราทำตาม พ.ร.บ.ยาฯ สิ่งสําคัญที่แพทย์พูดเรื่องโรครุนแรงเป็นเรื่องการรักษา เรามีหลายระดับตั้งแต่การดูแลสุขภาพเบื้องต้น (primary healthcare) และ การบริการปฐมภูมิ (Primary Care) บุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ก็ช่วยกันดูในอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น
"ร้านยาเราไม่ใช่ไปรักษาโรคอย่างที่แพทย์กล่าวอ้าง เราให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นเท่านั้นเอง เราถึงมีในโครงการกําหนดว่าถ้ามาด้วยอาการอะไร และสิ่งที่ท้วงว่าเภสัชกรไปซักประวัติเป็นการวินิจฉัยโรคซึ่งไม่ใช่ เพราะการซักประวัติของเราคือเพื่อให้มั่นใจว่าอาการที่ผู้ป่วยบอกเจ็บป่วยจริงและมีลักษณะอย่างนั้น เราถึงจะเลือกยาตามอาการได้ถูกต้อง และเราก็จ่ายแค่ 3-5 วัน เพราะยาบางตัวมันต้องกินทั้งอาทิตย์ แล้วก็ต้องให้ครบถ้วน แต่ว่า 3 วันเราจะโทรติดตามว่าดีขึ้นไหม ถ้าไม่ดีเราก็ต้องแนะนําว่าต้องไปหมอ“ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าว
เมื่อถามว่า 13 พ.ย. นี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สธ.ในฐานะประธานบอร์ดสปสช.นัดหารือทางออกเรื่องนี้ มีการเตียมความพร้อมอย่างไร...รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าจะมีการเชิญใครบ้าง แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลเพื่อชี้แจง ซึ่งก่อนหน้านี้เคยไปชี้แจงกับกรรรมาธิการสาธารณสุขและคณะกรรมการกฤษฎีกามาแล้ว หากมีการเชิญตนพร้อมไปกับทีมอยู่แล้ว
รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ กล่าวอีกว่า ในส่วนระบบสุขภาพตอนนี้เราพยายามเน้นระบบปฐมภูมิเพื่อให้ช่วยกันดูแลผู้ป่วยจะได้ไม่ต้องไปโรงพยาบาล ให้ดูแลตั้งแต่เบื้องต้น ซึ่งเบื้องต้นนี้ก็คือตั้งแต่อาการเจ็บป่วยเล็กน้อยและบุคลากรทางการแพทย์ช่วยกันดูแล จะได้ไม่ต้องไปแออัดที่โรงพยาบาล ฉะนั้นถ้า concept ของแพทย์บอกว่าอาการเจ็บป่วยทุกอย่างแพทย์ต้องตรวจ ฉะนั้นต่อไป รพ.สต. แพทย์ก็ต้องไปตรวจทุกคน สิ่งที่อยากให้สังคมเข้าใจคือ เราดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยก่อนเบื้องต้น แล้วถ้าไม่ดีก็ส่งต่อ
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
- แพทยสภา เผยเหตุฟ้องปม “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” จ่ายยา 16 อาการโรค ย้ำ! ไม่ค้านเภสัชจ่ายยา
- 13 พ.ย. สมศักดิ์ เรียกหน่วยงานเกี่ยวข้องหาทางออก จ่ายยาเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ
- หมอเมธี โพสต์เฟซบุ๊ก ดุลยพินิจองค์คณะตุลาการศาลปกครอง ประเด็น 16 อาการรับยาร้านยาชุมชนอบอุ่น
- “หมอสมศักดิ์” เผยอีกมุมกับ 16 อาการรับยา “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” ช่วยอำนวยความสะดวกปชช.ได้
- สภาเภสัชกรรม แจงเจ็บป่วยเล็กน้อย ยังรับยา “ร้านยาใกล้บ้าน” ได้ จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยเป็นอื่น
- 713 views