กรรมการแพทยสภา เผยสาเหตุฟ้องปม สปสช. ให้ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” จ่ายยา 16 อาการโรคแก่ผู้ป่วยบัตรทองฟรี! ชี้เป็นการเข้าข่ายวินิจฉัยโรค แนะทางออกจ่ายยารูปแบบ OTC ส่วนผู้ป่วยบัตรทองยังรับบริการได้ เพราะศาลปกครองสูงสุดรับฟ้องคำร้อง แต่ยังไม่สิ้นสุดกระบวนการ
ตามที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เตรียมเรียกหน่วยงานเกี่ยวข้องประชุมวันที่ 13 พฤศจิกายนนี้ เพื่อหารือทางออกกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้รับฟ้องคำร้องของแพทยสภา ประเด็นการจ่ายยาตาม 16 กลุ่มอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ซึ่งเป็นโครงการร้านยาคุณภาพของฉัน ระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และสภาเภสัชกรรม เป็นอีกหนึ่งบริการรองรับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว
ล่าสุดวันที่ 11 พฤศจิกายน พญ.ชัญวลี ศรีสุโข กรรมการแพทยสภา ให้สัมภาษณ์กรณีดังกล่าวว่า จริงๆไม่ได้ฟ้องสภาเภสัชกรรม แต่ฟ้องคำสั่งของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ซึ่งโยงกับสภาเภสัชกรรม เพราะเป็นผู้รับดำเนินการ ตามโครงการจ่ายยา 16 อาการของโรค ที่ร้านยาชุมชนอบอุ่น ไม่เสียค่าใช้จ่าย กลายเป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรม แม้ที่ผ่านมาการจ่ายยาของร้านยาจะทำตามปกติ ไม่ใช่การประกอบวิชาชีพเวชกรรม เพราะคนไข้เป็นคนสั่งซื้อยา เป็นการรักษาตนเอง จ่ายเงินเอง แต่การตรวจวินิจฉัยโรค และให้การรักษา เป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม 2525 หมวด 5 มาตรา 26 ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือแสดงด้วยวิธีใดๆว่าพร้อมที่จะประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
ไม่ได้ค้านเภสัชฯจ่ายยาเจ็บป่วยเล็กน้อย
พญ.ชัญวลี กล่าวอีกว่า แพทยสภา ไม่ได้มีปัญหาเรื่องเภสัชกรจ่ายยากรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย ตรงนี้เราเห็นด้วย เพราะจะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ไม่ต้องไปหาหมอเมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อย แต่ปัญหาคือ 16 กลุ่มอาการที่มีลิสต์ยาที่สามารถจ่ายได้นั้น พบว่ามียาที่ต้องจ่ายต่อเมื่อมีการวินิจฉัยแล้ว ซึ่งมีรายการยาออกมา เมื่อทางแพทย์เห็นก็กังวล ยกตัวอย่าง เรื่องสูตินรีเวช อย่างมีอาการตกขาว จะจ่ายยากิน ต้องวินิจฉัยก่อน แม้จะเป็นอาการเล็กน้อย แต่เมื่อตรวจภายในพบว่า มีอาการเบาหวานร่วม หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ร่วมก็มี
ห่วงปมจ่ายยาต้องผ่านการวินิจฉัยโรค
ดังนั้น การจ่ายยา 16 กลุ่มโรค ถือว่ามีการวินิจฉัยแล้ว ตรงนี้คือข้อห่วงใยของแพทยสภา อย่างไรก็ตาม เคยหารือร่วมกันแล้วแต่ไม่ได้ข้อสรุป สุดท้ายจึงต้องดำเนินการฟ้องร้อง แต่ก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นบอกว่าขาดอายุความเพราะต้องฟ้องภายใน 90 วัน ที่ประชุมกรรมการแพทยสภามีมติ เสนอให้อุทธรณ์และปรึกษานักกฎหมายทางการแพทย์ผู้มีความรู้ความชำนาญด้านศาลปกครองนักกฎหมายเสนอว่าต้องให้เหตุผล การฟ้องเกี่ยวกับการควบคุมการประกอบวิชาชีพและคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนเป็นประโยชน์ของสาธารณะ จะฟ้องเมื่อไหร่ก็ได้ไม่มีอายุความ เมื่อยื่นอุทธรณ์ด้วยเหตุผล เพื่อประโยชน์สาธารณะ ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งกลับคำตัดสิน ของศาลปกครองชั้นต้น ให้รับคำฟ้องไว้พิจารณา พิพากษาตามรูปคดี
“ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะศาลปกครองสูงสุดรับคำฟ้อง ยังต้องมีการดำเนินการต่ออีก ดังนั้น ปัจจุบันยังจ่ายยา 16 อาการได้ ซึ่งปัจจุบันทางสปสช.ได้ขยายเป็น 32 กลุ่มอาการ และไม่ให้ลงคำวินิจฉัยเพื่อหลีกเลี่ยงเข้าองค์ประกอบของการประกอบวิชาชีพเวชกรรม แต่ก็ยังเสี่ยงต่อประชาชนอยู่เพราะการไม่วินิจฉัย และใช้ยาอาจจะไม่สอดคล้องกันยาที่ใช้บางชนิดเป็นยาที่อันตราย ไม่ตรงโรค ทำให้เกิดการดื้อยา ฯลฯ” พญ.ชัญวลี กล่าว
เสนอปรับรูปแบบจ่ายยา OTC
พญ.ชัญวลี กล่าวอีกว่า ตนเสนอว่า หากเภสัชกรร้านยาจ่ายยา ควรปรับรูปแบบการจ่ายยาเป็น over-the-counter drug: OTC ซึ่งไม่ใช่แค่ยาสามัญประจำบ้าน แต่สามารถมาหารือร่วมกันได้ว่า ควรจ่ายยาแบบใด แต่ปรากฎว่า รายการยาที่ออกมาให้จ่ายกลับเป็นยาที่ต้องได้รับการวินิจฉัยก่อน ซึ่งที่น่ากังวลคือ ยาตา ยาไมเกรน เรื่องนี้แพทยสภาได้หารือกับราชวิทยาลัยต่างๆ ก็มีความเห็นถึงปัญหายาอะไรบ้างที่ต้องผ่านการวินิจฉัย ดังนั้น การจ่ายยา OTC จะเป็นอีกทางเลือกที่ดี เพราะสามารถจ่ายให้ผู้บริโภคได้โดยตรงไม่จำเป็นมีใบสั่งยาจากการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งตรงข้ามกับ prescription drug ซึ่งหมายถึงยาที่จะสามารถจ่ายให้ผู้บริโภคก็ต่อเมื่อมีใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น
(ข่าวเกี่ยวข้อง ; นายกสภาเภสัชฯ ยันจ่ายยาเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ เป็นไปตามพ.ร.บ.ยา พร้อมร่วมหารือ 13 พ.ย.)
16 อาการ ขยายเป็น 32 อาการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 16 กลุ่มอาการ คือ 1. ปวดหัว (HEADACHE) 2. เวียนหัว (Dizziness) 3. ปวดข้อ (PAIN IN JOINT) 4. เจ็บกล้ามเนื้อ(MUSCLE PAIN) 5. ไข้ (FEVER) 6. ไอ (COUGH) 7. เจ็บคอ (SORE THROAT) 8. ปวดท้อง (STOMACHACHE) 9. ท้องผูก (CONSTIPATION) 10. ท้องเสีย (DIARRHEA) 11. ถ่ายปัสสาวะขัด,ปัสสาวะลำบา,ปัสสาวะเจ็บ (DYSURIA) 12. ตกขาวผิดปกติ(VAGINAL DISCHARGE) 13. อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน (SKIN RASH/LESION) 14. บาดแผล (WOUND) 15. ความผิดปกติต่างๆที่เกิดขึ้นกับตา(EYE DISORDER) และ 16. ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู (EAR DISORDER) แต่ปัจจุบันได้มีการขยายเป็น 32 กลุ่มอาการ
ฟ้องร้องครั้งนี้ ไม่เกี่ยวห้ามเภสัชกรจ่ายยา
วันเดียวกัน พญ.ชัญวลี ยังโพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีคำถามจากคุณหมอท่านหนึ่งมาว่า ห้ามเภสัชจ่ายยาร้านขายยา เภสัชจะห้ามแพทย์จ่ายยาที่คลินิกเปล่า
1. ใครจะไปห้ามเภสัชจ่ายยาร้านขายยา
ตอนนี้เป็นเรื่องของการจ่ายเงินให้เภสัชจ่ายยาโดยสปสช. ใน 32 กลุ่มอาการ ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อประชาชน ทั้งกลุ่มอาการที่มากไปรวมถึงจำนวนยาที่มากไป ด้วยยานั้น หลายชนิดควรเป็น prescription drug ที่แพทย์ควรจะเป็นคนสั่ง หลังจากได้วินิจฉัย โรคแล้ว ซึ่ง กว่าจะวินิจฉัยได้บางอย่างต้องผ่านการ investigation มาก่อน ตอนนี้คดี ว่าการจ่ายยาของเภสัชคลินิกชุมชนอบอุ่น โดยสปสช.จ่ายเงิน เป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือไม่ กำลังอยู่ในศาลปกครองชั้นต้น
2. การจ่ายยาของแพทย์ในคลินิก โดยไม่มีเภสัชกร เป็นการกระทำที่ทำได้ รองรับโดยพรบ.ยา พ.ศ. 2510 ในมาตรา 13 การประชุมล่าสุดของสภาเภสัชกรรม คงให้อำนาจการจ่ายยานอกจากเภสัชกรเฉพาะ 3 วิชาชีพหลักเช่นเดิม คือแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์
มีบันทึกดังนี้...
ส่วนวิชาชีพอื่นๆ นั้นเห็นตรงกันว่าไม่ควรให้อำนาจในการจ่ายยาเพิ่มเติม เนื่องจากอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง ทั้งการหาประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎหมายจนทำให้ประชาชนเกิดความไม่ปลอดภัยในการรับยาได้ ทั้งยังไม่สอดคล้อง และขัดต่อหลักการในแต่ละวิชาชีพ เนื่องจากแต่ละวิชาชีพในระบบสุขภาพ นอกจากแพทย์ ทันแพทย์ และสัตวแพทย์แล้ว ไม่ได้มีหน้าที่รักษาคนไข้ อาทิ พยาบาลมีหน้าที่ดูแลคนไข้ นักเทคนิกการแพทย์มีหน้าที่ตรวจสิ่งส่งตรวจ และนักกายภาพบำบัด มีหน้าที่บำบัดคนไข้โดยไม่ใช้ยา เป็นต้น จึงไม่เกี่ยวข้องกับการจ่ายยาแต่อย่างใด
สรุป
การฟ้องร้อง สปสช.และสภาเภสัชกรรม โดยแพทยสภา ไม่เกี่ยวกับการห้ามเภสัชกร จ่ายยา ตามธรรมเนียมเดิมแม้แต่น้อย และไม่เกี่ยวข้องกับสภาเภสัชกรรมจะมาห้ามแพทย์จ่ายยาที่คลินิกเช่นกัน
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
- 13 พ.ย. สมศักดิ์ เรียกหน่วยงานเกี่ยวข้องหาทางออก จ่ายยาเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ
- หมอเมธี โพสต์เฟซบุ๊ก ดุลยพินิจองค์คณะตุลาการศาลปกครอง ประเด็น 16 อาการรับยาร้านยาชุมชนอบอุ่น
- “หมอสมศักดิ์” เผยอีกมุมกับ 16 อาการรับยา “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” ช่วยอำนวยความสะดวกปชช.ได้
- สภาเภสัชกรรม แจงเจ็บป่วยเล็กน้อย ยังรับยา “ร้านยาใกล้บ้าน” ได้ จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยเป็นอื่น
- 13798 views