ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.เอกชน ร่วม สปส.  ตั้งอนุกรรมการศึกษาปรับเพิ่มค่ารักษาผู้ประกันตน หลัง รพ.โวยไม่ไหว อัตราค่าบริการไม่สะท้อนต้นทุนจริง ไม่ปรับเพิ่มนาน 5 ปี  เช่น  ค่าบริการผู้ป่วยในเดิมกำหนด 1.2 หมื่นบาท/หน่วย แต่ช่วงหลังกลับลดเหลือ 7 พัน เสนอทางออกตัวเลขไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่น ล่าสุด รพ.เอกชนลงชื่อกว่า 70 แห่ง หากสปส.ไม่จัดการ พร้อมถอนตัวจากคู่สัญญา  ด้าน ครม.ตั้ง “มารศรี” เป็นเลขาฯสปส.

 

จากกรณีก่อนหน้านี้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงสาธารณสุขว่า สำนักงานประกันสังคม(สปส.) จะมีการปรับลดอัตราค่าบริการผู้ป่วยใน เหลือประมาณ 7,000 บาท จากปัจจุบันกำหนดจ่ายไว้ในอัตรา 12,000 บาทต่อหน่วย หรือค่า AdjRW (ค่าน้ำหนักสัมพัทธ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมด้วยเกณฑ์วันนอน) ทำให้โรงพยาบาล(รพ.)เอกชน 2 แห่ง คือ รพ.ซีจีเอช สายไหม และรพ.กรุงเทพสุราษฎร์ ประกาศถอนตัวออกจากการเป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม(สปส.) โดยผู้ประกันตนยังเข้ารับบริการได้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2567 นี้  ขณะที่เลขาธิการสปส.ออกมาแจงก่อนหน้านั้น

(ข่าว: " 2 รพ.เอกชน" ถอนตัวประกันสังคม ด้านเลขาฯยันไม่กระทบ เปลี่ยนสถานพยาบาลได้)

รพ.เอกชน โอดถูกหั่นงบค่ารักษาจาก สปส.

นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ อดีตนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาเรื่องอัตราค่ารักษาพยาบาลที่สปส. กำหนดจ่ายให้กับโรงพยาบาลคู่สัญญาในการให้บริการรักษาผู้ประกันตน ได้กำหนดให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการมาศึกษาเรื่องอัตราการจ่ายเงินในเรื่องดีอาร์จี (Diagnosis Related Group : DRG หรือ กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม)  

รวมถึงการพิจารณาปรับอัตราค่าบริการรายการในแต่ละหมวดให้มีความเป็นปัจจุบัน เพราะบางรายการไม่ได้มีการปรับเพิ่มมานานแล้ว โดยต้องมีการพิจารณาตัวแปรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอัตราการใช้บริการเพิ่มขึ้นหรือไม่ ต้นทุนการให้บริการการแพทย์ต่อหน่วยเป็นเท่าไหร่  แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นหนังสือคำสั่งแต่งตั้งออกมาแต่อย่างใด

“ปัญหาหลัก คือ การพิจารณาสัดส่วนค่าดีอาร์จี ในอดีตเขาจ่ายประมาณ 12,800 บาท แต่พอมาถึงปี 2565 เดือนสุดท้ายจ่ายเหลือแค่หมื่นเดียว พอมาปี 2566 จ่ายแค่ 7,200 บาท ตรงนี้เหตุผล เพราะเขาไม่ได้ปรับอัตราการรักษาโรคซับซ้อนในกลุ่ม DRGs มา 5 ปี แล้ว แต่อัตราการใช้บริการเพิ่มขึ้น ขณะที่เงินเท่าเดิม ทำให้อัตราต่อหน่วยลดลง นี่คือสิ่งที่ต้องแก้ เพราะอัตรการใช้บริการเพิ่มขึ้นทุกปี” นพ.เฉลิม กล่าว

ไม่เห็นหนังสือแต่งตั้งอนุกรรมการฯ อย่างเป็นทางการ

นพ.เฉลิม กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญต้องมีการตั้งอนุกรรมการฯ และต้องให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว  เพราะในหนังสือของสมาคมโรงพยาบาลเอกชนที่ส่งถึง สปส.ก็ย้ำว่า ต้องมีข้อสรุปก่อนจะมีการเซ็นสัญญาเป็นโรงพยาบาลคู่สัญญาปี 2568 ซึ่งปกติจะมีการทำสัญญากันประมาณช่วงปลายปี  

ส่วนการคาบเกี่ยวแต่งตั้งเลขาธิการสปส.  ไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะอดีตเลขาฯ สปส. อย่างนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปัจจุบันขึ้นไปเป็นปลัดกระทรวงแรงงานแล้ว ก็เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า ต้องดูแลทุกหน่วยงานในสังกัด

นพ.เฉลิม กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สำหรับตัวเลขค่าดีอาร์จีนั้น ทางสมาคมโรงพยาบาลเอกชนต้องการค้ำประกันพื้นฐานอยู่ที่ 15,000 บาท และมีการรายการอื่นที่ไม่มีการปรับมานานแล้วราวๆ 3-4 รายการ เพราะที่ผ่านมา มีเพียงรายการเดียวที่ปรับเพิ่ม คือ ค่าหัวที่ปรับเพิ่มมาเป็น 1,808 บาท เมื่อปีเศษๆ ที่ผ่ามา นอกนั้นไม่ได้ปรับเลย จากที่มีอยู่ 5 หมวดคือ ค่าหัว และ 21 โรคเรื้อรัง โรคค่าใช้จ่ายสูง และกลุ่มโรคร่วมดีอาร์จีที่มากกว่า 2 ส่วนกลุ่มทันตกรรมนั้นไม่ได้มีประเด็นปัญหา เพราะสปส.ค้ำประกันราคาอยู่แล้วที่ 900 บาท ต่อปี 

รพ.เอกชน 70 กว่าแห่งจ่อถอนตัว ถ้าสปส.ไม่เพิ่มงบรักษา

อดีตนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวอีกว่า สำหรับโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ ที่เป็นคู่สัญญากับสปส.อยู่นั้น วันนี้ มีการหารือกัน หากสปส.ไม่มีการปรับอัตราการจ่ายค่าบริการเหล่านี้ก็จะออกจากการเป็นคู่สัญญา และขณะนี้มีโรงพยาบาลที่ร่วมลงชื่อแล้ว 70 กว่าแห่ง เพราะเห็นว่า ถ้ายังทำต่อไปก็มีแต่ลำบาก เพราะอัตราการจ่ายไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

อย่างไรก็ตามตอนนี้โรงพยาบาลเหล่านนี้ก็ยังรอบทสรุปอยู่ ส่วนโรงพยาบาลที่ลาออกจากการเป็นคู่สัญญาไปแล้ว โดยไม่รอข้อสรุป มี 2 แห่ง คือ รพ.ซีจีเอชสายไหม และรพ.กรุงเทพสุราษฎร์ธานี มีผู้ประกันตนราวแสนกว่าคนที่ต้องหาโรงพยาบาล

ครม.เห็นชอบ "มารศรี" เป็นเลขาธิการ สปส.คนใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดวันที่ 8 ตุลาคม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง หนึ่งในนั้น มีเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) คนใหม่ คือ นางมารศรี ใจรังษี ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ ขึ้นเป็น “เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม”  ทั้งนี้ จึงต้องจับตาว่า เลขาฯ สปส. คนใหม่จะมีการพิจารณาหรือหาทางออกในเรื่องของ รพ.เอกชน ที่เป็นคู่สัญญากังวลจะถูกปรับลดอัตราค่าบริการผู้ป่วยใน เพราะหากไม่ดำเนินการอาจกระทบ รพ.เอกชน ออกมาถอนตัวอีกก็เป็นได้