กรมควบคุมโรคเตือนภัยน้ำท่วม “โรคเลปโตสไปโรสิส – โรคเมลิออยด์” โดยโรคฉี่หนูเสียชีวิต 29 ราย มักพบในเพศชาย ส่วนโรคไข้ดิน อันตรายหนักเสียชีวิตตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้แล้ว 90 ราย ระยะฟักตัวตั้งแต่ 2 -7 วัน ยาวนานจนถึงเดือน บางรายถึงปี แนะวิธีป้องกัน พร้อมเตือนน้ำท่วมระวังจมน้ำ ไฟ ไฟดูด สัตว์มีพิษ ดินโคลนถล่ม ขอความช่วยเหลือโทรสายด่วน 1669 และศูนย์ช่วยเหลือสาธารณภัย 1784
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ที่กรมควบคุมโรค(คร.) นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค แถลง “รู้เท่าทัน โรคและภัยสุขภาพ พร้อมรับมือช่วงปลายฝน” โดยเฉพาะช่วงน้ำท่วม น้ำท่วมขัง ว่า ในช่วงน้ำท่วมยังต้องเตือนโรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรสิส ตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้มีผู้ติดเชื้อ 2.9 พันราย อยู่ในจำนวนค่อนข้างสูง พบมากในพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขัง ทั้งนี้ พบในจังหวัดที่เกิดน้ำท่วม ได้แก่ จ.เชียงราย รวม 13 ราย พะเยา 10 ราย แพร่ 1 ราย น่าน 25 ราย แม่ฮ่องสอน 5 ราย สุโขทัย 1 ราย(ข้อมูล วันที่ 3 ต.ค.67)
อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่น้ำหลากที่มาเร็วๆ โรคฉี่หนูจะไม่ค่อยมาก แต่เมื่อน้ำลด น้ำท่วมขัง ดินแฉะต้องระวังโรคนี้ โดยโรคฉี่หนู เกิดจากเชื้อแบคทีเรียแลปโตสไปร่า มีสัตว์รังโรคที่สำคัญ คือ หนู หมู วัว ควาย แพะแกะ สุนัข ติดต่อโดยการสัมผัสกับปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ สัมผัสกับน้ำหรือดินที่ปนเปื้อนเชื้อ และการกินอาหารที่ปนเปื้อนปัสสาวะของสัตว์
สำหรับผู้เสียชีวิตโรคฉี่หนูตั้งแต่มกราคม จนถึงกันยายน 2567 พบ 29 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ยังพบว่าร้อยละ 66 ของผู้เสียชีวิต มักเกิดจากการไปพบแพทย์ช้า หรือซื้อยามารับประทานเอง ทั้งนี้ ยังพบว่า ผู้ป่วยโรคฉี่หนูไม่ใช่เจอเฉพาะพื้นที่น้ำท่วม แต่การไปทำกิจกรรมที่ก่อความเสี่ยงย่อมติดเชื้อได้ เช่น การไปย่ำดินแฉะ เกษตรกร กรีดยาง จับปลา เลี้ยงวัว ต้องระวังทั้งหมด
อันตรายโรคไข้ดิน หรือ เมลิออยด์
นอกจากนี้ ยังมีโรคไข้ดิน หรือโรคเมลิออยด์ ซึ่งความเสี่ยงคล้ายฉี่หนู พบป่วยแล้ว 2,881 ราย เสียชีวิต 90 ราย( ตั้งแต่ 1 ม.ค.-3 ก.พ.67) มากกว่าโรคฉี่หนู ซึ่งจำนวนผู้ป่วยสะสมในพื้นที่อุทกภัยจำแนกรายจังหวัดสูงสุด 10 อันดับแรก ในเดือนกันยายน 2567 ได้แก่ น่าน อุดรธานี อุบลราชธานี นครพนม บึงกาฬ เลย พิษณุโลก ภูเก็ต ลำปาง และหนองคาย ส่วนผู้เสียชีวิตพบมาในอายุวัยกลางคน มักพบในผู้ชาย และเป็นเกษตรกร ปลูกผัก ทำให้ต้องลุยน้ำ ทั้งนี้ ช่องทางการติดยังมาจากฝุ่นดิน หายใจเข้าไปได้ด้วย รวมไปถึงการดื่มน้ำ กินอาหารที่เกิดการปนเปื้อนได้ จึงต้องระมัดระวัง ควรกินหรือดื่มน้ำสะอาด
สำหรับอาการเริ่มแรกมักจะเป็นไข้ สามารถแสดงอาการได้หลากหลาย ไม่จำเพาะ ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคอื่นๆได้ โดยระยะฟักตัวอาจสั้น 3-7 วัน และยังสามารถฟักตัวยาวเป็นเดือน หรือปีได้ จึงเป็นอีกโรคที่อันตรายและต้องระวังอย่างมาก
(ข่าว : โควิด19 คนไข้หนักเริ่มลดลง! คร.ยังเตือน “ไข้เลือดออก” ป่วยตายสูง และอีกหลายโรคต้องระวัง)
นพ.วีรวัฒน์ กล่าวย้ำว่า ทั้งโรคไข้ฉี่หนู และไข้ดิน จะคล้ายกันตรงขอให้เลี่ยงการลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือสัมผัสดิน และน้ำโดยตรง อย่างโรคฉี่หนู ควรสวมรองเท้าบูท ขณะทำความสะอาดบ้านเรือนหลังน้ำลด หลังลุยน้ำท่วมขังหรือลงแช่น้ำให้อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดทันที หากมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัวหรือปวดกล้ามเนื้อ หลังเดินลุยน้ำย่ำโคลน หรือลงแช่น้ำ 1-2 สัปดาห์ให้รีบพบแพทย์ทันที
ส่วนโรคไข้ดิน ควรทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำสะอาดที่บรรจุภัณฑ์มาตรฐาน หรือน้ำต้มทุกครั้ง โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานแนะนำให้ดื่มน้ำต้มสุก หลีกเลี่ยง สัมผัสลมฝุ่นและการอยู่ท่ามกลางสายฝน หากมีไข้สูงต่อเนื่อง 2 วันมีประวัติสัมผัสดินและน้ำให้รีบพบแพทย์ทันที
“ไม่เพียงแต่โรค ยังต้องระวังภัยสุขภาพจากน้ำท่วม คือ การบาดเจ็บจากการจมน้ำ ไฟดูด สัตว์มีพิษ รวมไปถึงต้องระวังดินโคลนถล่ม เช่น หลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีกระแสน้ำไหลเชี่ยว ไม่อยู่ใกล้ลำน้ำ หรือโทรสายด่วน 1669 และสายด่วนขอความช่วยเหลือสาธารณภัย 1784” โฆษกกรมควบคุมโรคกล่าว
- 271 views