ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดเสวนา “วันหัวใจโลก ฬ ใส่ใจทุกหัวใจ” ย้ำแนวความคิดอายุยืน 4 อ. อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ และอากาศ ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดหัวใจ
เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และสาขาวิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ บริษัทโนวาร์ติส (ประเทศไทย) จำกัด จัดงานเสวนา “วันหัวใจโลก ฬ ใส่ใจทุกหัวใจ” เนื่องในสัปดาห์วันหัวใจโลก เพื่อรณรงค์ให้ประชาชน ตระหนักถึงความสำคัญของปัจจัยเสี่ยง ซึ่งเป็นภัยเงียบของโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดหัวใจ ณ โถงชั้น M อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้บริการวินิจฉัยและดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยแบบครบวงจร ผ่านการรับรองมาตรฐานระดับนานาชาติ เป็นความร่วมมือจากทีมอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทุกสาขา รวมถึงแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด มีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์สูง จึงสามารถให้บริการวินิจฉัยดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีความซับซ้อนได้เป็นอย่างดี
ด้าน รศ.(พิเศษ) นพ.สมชาย ปรีชาวัฒน์ หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า แนวความคิดอายุยืน “4 อ.” คือ อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ และอากาศ ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เป็นภัยเงียบของโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคเบาหวาน
- โรคไขมันในเลือดสูง
- การสูบบุหรี่
- การไม่ออกกำลังกาย
- ภาวะเครียด
ทั้งหมดนี้เชื่อมโยงทำให้เกิดคราบไขมันในหลอดเลือดระเบิดหรือแตกออก ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน
ภายในงานยังมีการเสวนาให้ความรู้จากอายุรแพทย์โรคหัวใจ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก ได้แก่
รศ.นพ.ไพโรจน์ ฉัตรานุกูลชัย หัวหน้าห้องปฏิบัติการการตรวจภาพหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง บรรยายถึง ตัวเลขของความดัน ไขมัน LDL ดัชนีมวลกาย ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และวิธีการดูแลป้องกันและรักษา
รศ.พญ.ศริญญา ภูวนันท์ หัวหน้าสาขาวิชาอายุรศาสตร์หัวใจและหลอดเลือด และหัวหน้าอนุสาขาภาวะหัวใจล้มเหลวและอายุรศาสตร์การปลูกถ่ายหัวใจ บรรยายถึงภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งเป็นภาวะปลายทางของโรคหัวใจทุกประเภท และอยากให้ประชาชนเน้นความสำคัญของการป้องกันการเกิดโรคมากกว่าการตั้งรับที่จะรักษาเมื่อเกิดโรคแล้ว
อ.นพ.พัชร อ่องจริต หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก และหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ ได้บรรยายถึงการรักษาโรคหัวใจด้วยการผ่าตัด ซึ่งจัดเป็นการรักษาแก้ไขโรคหัวใจเชิงตั้งรับ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งเกิดจากการควบคุม ความดัน ไขมัน น้ำตาล ที่ไม่ดีพอ พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนชาวไทยควบคุมปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจให้ได้ดีที่สุด เพื่อป้องกันการผ่าตัดหัวใจ
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสุขภาพมากมาย เช่น ซุ้มวัดความดันโลหิต ซุ้มวัดดัชนีมวลกาย ซุ้มตรวจจังหวะหัวใจ ซุ้มแนะนำอาหารที่ดีต่อหัวใจ ซุ้มให้ความรู้เกี่ยวกับไขมัน LDL และซุ้มออกกำลังกาย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดี และป้องกันโรคหัวใจ
- 121 views