นายแพทย์สสจ.เชียงรายเฝ้าระวังโรคติดต่อหลังน้ำลด เตือนประชาชนระวังฝุ่น PM10 พบประชาชนเครียดระดับปานกลาง แนะคู่มือวิธีรับมือภัยพิบัติ
นพ.วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)เชียงราย ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการรับมือและการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเชียงราย ว่า ช่วงที่ผ่านมาได้มีการส่งทีมเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขลงไปสำรวจสถานการณ์ในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้มีการเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังฝุ่น PM10 ซึ่งเป็นฝุ่นที่เกิดขึ้นหลังน้ำลด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่โล่งแจ้งควรจะสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่นประเภทนี้ และสามารถใช้หน้ากากอนามัยแบบธรรมดาได้
ส่วนกรณีขยะเน่าเหม็น ขอให้ประชาชนป้องกันตัวเองในเบื้องต้นด้วยการสวมใส่รองเท้าบูตหรือรองเท้ายางเมื่อต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีขยะ เพราะการจัดการดินโคลนหรือขยะต้องประสานกับหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อจัดเก็บ แต่ขณะนี้เจ้าหน้าที่ในแต่ละภาคส่วนก็ทำงานกันอย่างขะมักเขม้นเต็มที่แล้ว ทั้งยังต้องดูข้อมูลประกอบด้วยว่าขยะที่เจอในแต่ละพื้นที่เป็นขยะประเภทใด
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมในเรื่องของขยะสามารถบอกได้ว่าอะไรที่เริ่มเหม็นเน่าจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินอาหาร โดยเฉพาะเวลาที่ประชาชนหยิบจับหรือสัมผัสสิ่งต่างๆ ที่เริ่มเน่าแล้วไม่ได้สวมถุงมือป้องกันหรือล้างมือให้สะอาดหลังการสัมผัส
อีกประเด็นที่ต้องระวังคือการติดเชื้อของบาดแผลที่สัมผัสกับน้ำแช่ขังที่เริ่มเน่าเสีย มีความเสี่ยงจะติดต่อโรคฉี่หนู จึงควรล้างแผลและทายาทันที หรือไปหาหน่วยปฐมพยาบาลที่เข้าไปช่วยเหลือประชาชนและเจ้าหน้าที่ในการเก็บกวาดบ้านเรือนตามชุมชนต่างๆ เพื่อให้แพทย์หรือเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยพยาบาลนั้นๆ ช่วยประเมินบาดแผลก่อนว่าสกปรกมากน้อยแค่ไหน เพราะบาดแผลมีหลายแบบ
สสจ.เชียงรายกล่าวว่า จากการเข้าไปสำรวจพื้นที่ของสำนักงานสาธารณสุขในช่วงที่ผ่านมา พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เริ่มมีอาการของโรคเท้าเปื่อย ระบบทางเดินหายใจ และตาแดง ส่วนโรคฉี่หนูยังเฝ้าระวังอยู่ โดยขณะนี้ยังไม่มีสถานการณ์ที่เป็นโรคระบาดหรือการแพร่เชื้ออย่างรุนแรง
ส่วนประชาชนที่ประสบภาวะเครียด หวาดกลัว หรือวิตกกังวล ได้มีการส่งทีมสุขภาพจิตเข้าไปในพื้นที่เช่นกัน ทั้งในส่วนของทางจังหวัดและทีมโรงพยาบาลสวนปรุงของกรมสุขภาพจิต ซึ่งเป็นการร่วมกันปฏิบัติการภายในจังหวัด โดยเจ้าหน้าที่ได้แฝงตัวไปตามที่ต่างๆ และคัดกรองประชาชนไปแล้วประมาณ 3,000 คน พบว่าคนที่มีความเครียดต่างๆ ระดับปานกลางส่วนใหญ่ยังสามารถดูแลตัวเองได้ บางส่วนมีการใช้ยา แต่ยังไม่พบผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าหรือมีแนวโน้มจะฆ่าตัวตาย และความเครียดที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นความกังวลเรื่องบ้านที่ถูกดินโคลนถล่ม แต่ยังไม่สามารถเข้าไปจัดการบ้านของตัวเองได้
กรณีที่ประชาชนเครียดและกังวลว่าพายุจะซัดเข้ามาในพื้นที่อีกระลอกหรือไม่ นพ.วัชรพงษ์ระบุว่าทางกรมสุขภาพจิตได้ทำข้อมูลช่วยแจ้งเตือนประชาชนอยู่ตลอด สามารถติดตามได้จากเพจหรือสื่อหลักของหน่วยงาน โดยที่ผ่านมามีการแจ้งเตือนเช่นกัน แต่ประชาชนบางส่วนอาจจะนึกภาพสถานการณ์ไม่ออก แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมา เชื่อว่าถ้ามีการแจ้งเตือนที่เข้มข้นยิ่งขึ้นในครั้งต่อๆ ไปน่าจะทำให้ประชาชนเกิดการตอบสนองที่ดีขึ้น
นอกจากนี้กรมสุขภาพจิตยังได้ทำคู่มือให้คำแนะนำประชาชนเรื่องการรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติ โดยสรุปสั้นๆ ว่าขอให้มองในแง่บวกต่อสิ่งที่กำลังเผชิญ ให้เชื่อมั่นในตัวเองว่าจะสามารถผ่านสถานการณ์เช่นนี้ไปได้ และอย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างเมื่ออยู่ในภาวะที่ต้องการความช่วยเหลือ
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก สำนักข่าวชายขอบ
- 178 views