ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"สส.ภัสริน" เสนอรัฐให้รพ.สต.ทุกแห่ง มีบริการรับยายุติการตั้งครรภ์ได้ จี้นายกฯ ให้การยุติการตั้งครรภ์เป็นทางเลือกสุขภาพ พร้อมหนุนเพิ่มวันลาคลอด จัดศูนย์เด็กเล็ก-ห้องปั๊มนมในที่ทำงาน

เมื่อวันที่ 13 ก.ย.   นางสาวภัสริน รามวงศ์ สมาชิกรัฐสภา กล่าวในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครังที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ ถึงประเด็นเด็กเกิดน้อย สวัสดิการลาคลอด และยุติการตั้งครรภ์  ว่า นโยบายเร่งด่วน อย่างนโยบายที่ 10 ที่รัฐบาลส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ จัดสวัสดิการสังคมสร้างความเท่าเทียมให้กับกลุ่มเปราะบาง และไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งมีความท้าทายของเรื่องผู้สูงอายุ แต่ในอีกด้านเรามีเด็กที่เกิดขึ้นน้อยมาก อัตราการเจริญพันธุ์ของไทยอยู่ที่ 1.1 รั้งท้ายเป็นอันดับที่ 9 ในกลุ่มประเทศอาเซียน

อย่างในประเทศสิงคโปร์ให้ความสําคัญกับเรื่องครอบครัวเป็นอย่างมาก ส่งเสริมการมีลูก เช่น เบบี้โบนัส พ่อแม่จะได้เบบี้โบนัสทั้งหมด 11,000 สิงคโปร์ดอลล่าร์ มีกองทุนช่วยเหลือคุณแม่ที่ทํางาน โดยให้แม่ที่มีลูกคนแรกสามารถยกเว้นภาษีเงินได้ 15% และหากมีลูกคนต่อไป ไต้หวันสนับสนุนลูกคนที่หนึ่งเพิ่มจาก 20,000 เป็น 40,000 ไต้หวันดอลลาร์ รัฐบาลทุ่มงบประมาณสําหรับเด็กและเพิ่มขึ้นหลายเท่าทุกปี

คนไทยมีอัตราการพึ่งพิงสูงถึง 44%

"ขณะที่ประเทศไทยอัตราการเกิดน้อยส่งผลต่อความเสียหายให้กับประเทศ ในด้านกําลังแรงงานเราลดลง ภาวะพึ่งพิงสูงขึ้น คนวัยแรงงานมีภาระเพิ่มมากขึ้น โดยคนไทยมีอัตราการพึ่งพิงสูงถึง 44% นั่นหมายถึงว่าคนวัยแรงงานต้องแบกรับทั้งเด็กเล็กและคนชรา โดยไม่มีทางเลือก"

สนับสนุนเพิ่มเงินอุดหนุนเด็กเล็ก

น.ส.ภัสริน กล่าวว่า 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเศรษฐาฯ และ รัฐมนตรีสาธารณสุข (ชลน่าน ศรีแก้ว) ประกาศเรื่องเด็กเกิดน้อยเป็นวาระสําคัญ แต่เรื่องสวัสดิการเด็กเล็กไม่เห็นเลย ไม่แน่ใจว่าไม่ใช่เรื่องควิกวินหรืออย่างไร.. แล้วคําแถลงนโยบายที่เขียนมาบอกว่าจะส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ส่งเสริมการเติบโตของเด็ก แต่มันจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนสวัสดิการเรื่องเด็ก เรื่องแม่ทุกวันนี้เด็กเล็กได้รับเงินสนับสนุนเพียง 600 บาทต่อเดือนเท่านั้น แต่ที่ผ่านมาแทบจะทุกพรรคเห็นพ้องต้องกันหมดว่าจะต้องเพิ่มเงินอุดหนุนเด็กเล็ก อย่างพรรคเพื่อไทย บอกว่าจะสนับสนุนเงินเด็กเล็กถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือน

น.ส.ภัสริน กล่าวต่อว่า เสนอว่าถ้าจะใช้งบประมาณ จะอยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านต่อปี เพิ่มจากเดิม 1.6 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นมาอีก 8 พันล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณส่วนอื่นการลงทุนเด็กเล็กได้ผลตอบแทนสูงในระยะยาว เราจะสร้างประเทศนี้ให้มั่นคงแข็งแรง ต้องเริ่มจากการที่รัฐจัดสรรปันส่วนจัดสรรงบประมาณโดยคํานึงมิติของเพศและครอบครัว ตนอยากเห็นรัฐบาลลงทุนให้ระบบสนับสนุนกับครอบครัวนโยบายที่เป็นมิตรกับครอบครัว ให้สามารถมีส่วนร่วมทั้งเศรษฐกิจและการดูแลครอบครัวไปได้พร้อมกัน

ส่งเสริมให้ภาคเอกชนทํา "work life balance" หรือมีชีวิตที่สมดุล

รายงานจาก UNDP กล่าวว่า อาชีพการงานของผู้หญิงอาจจะต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากไม่มีสถานที่รองรับการดูแลเด็ก รวมถึงการขาดการดูแลบริการเด็ก ส่งผลให้ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วมีแนวโน้มว่าจะออกจากงานทั้งที่มีรายได้สูง และสิ่งที่รัฐบาลสามารถทําเป็นนโยบายควิกวินได้เลย คือ ส่งเสริมให้ภาคเอกชนทํา "work life balance" หรือมีชีวิตที่สมดุล ให้ลูกจ้างผ่านมาตรการจูงใจจากรัฐส่งเสริมให้เอกชนที่มีขนาดใหญ่สร้างศูนย์ชายแคร์ที่มีคุณภาพให้กับลูกจ้างในฐานะสวัสดิการ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับลูกในทุกแง่มุม ค่าเทอม ค่าเครื่องใช้ มีคลินิกวางแผนครอบครัวที่เข้าถึงง่าย เข้าถึงทุกท้องถิ่นทุกพื้นที่ การเข้าถึงสถานรับเลี้ยงเด็กในเวลากลางวัน

จะเพิ่มพลังให้คนก็ต้องให้สิทธิ์ลาคลอดกับผู้หญิงด้วย ทุกวันนี้เรายังให้สิทธิลาคลอดไม่เพียงพอต่อการดูแลเด็กเล็กและไม่เพียงพอกับการที่เด็กจะต้องได้รับนมจากแม่ 6 เดือน และยังให้สิทธิ์ลาคลอดไม่ทั่วถึงทุกเพศ ซึ่งช่องว่างนี้เป็นเรื่องใหญ่สําหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องทํางานหาเลี้ยงครอบครัว คําว่าการไม่เลือกปฏิบัติที่ใส่ไว้ในคําแถลงนี้ ไม่แน่ใจว่าท่านนึกถึงแง่มุมนี้มากน้อยขนาดไหน ในเมื่อระบบสนับสนุนของผู้หญิงก็ยังอ่อนแอคนมีลูกก็ยังอ่อนแอ คนมีลูกแทบจะต้องเลือกว่าเค้าจะมีลูกหรือเค้าจะต้องทํางาน

วันลาคลอดไม่เพียงพอต่อการดูแลเด็กเล็ก

ยกตัวอย่างในประเทศเดนมาร์ก กฎหมายใหม่บังคับใช้เมื่อ 2.ปีที่แล้ว คือให้สิทธิ์ลาคลอดก่อน 4 สัปดาห์ และอีก 10 สัปดาห์หลังคลอด คุณพ่อคุณแม่มีสิทธิ์ในการเลี้ยงดูลูกคนละ 32 สัปดาห์ และสามารถขยายต่อเวลาเป็น 40 หรือ 46 สัปดาห์ได้ รวมแล้วครอบครัวสามารถใช้เวลาเพื่อเลี้ยงดูลูกได้ถึง 52 สัปดาห์หรือ 1 ปี 

น.ส.ภัสริน กล่าวว่า ในส่วนเรื่องทวงคืนสิทธิของคนในมดลูก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ บอกว่า จะส่งเสริมพัฒนาศักยภาพทักษะของคนไทยทุกคนและทําให้ทุกตารางนิ้วบนแผ่นดินไทยเป็นพื้นที่คนไทยได้ กล้าฝัน กล้าสร้างสรรค์ กล้ากําหนดอนาคตของตัวเอง และพื้นที่บนร่างกายพื้นที่บนมดลูกก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐเช่นเดียวกัน แต่ในรัฐบาลคุณเศรษฐาไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆเลย 

“ดิฉันตั้งคำถามและชวนสงสัย ที่ปรากฏเป็นนโยบายหาเสียงปี 2566 ของพรรคเพื่อไทย แต่ในรัฐบาลนายเศรษฐาทวีสิน ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ไม่มีแม้แต่คำว่าผ้าอนามัย ไม่มีการพูดถึงการจัดเก็บ ไม่มีการพูดถึงการจัดสรรปันส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่มีเลย นิทรรศกี ที่ท่านจัดมาก็เพื่อเชื่อมโยงกับนโยบายนี้ ปัจจุบันไม่มีนิทรรศแล้ว เหลือแต่กี” น.ส.ภัสริน กล่าว

ตนก็ไม่แน่ใจ ตั้งคำถามว่าสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ความเท่าเทียมทางเพศนี้หายไปไหน นายกฯ และครม. ต่างมาจากชนชั้นนำอาจคิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย การเข้าถึงผ้าอนามัยจะเป็นวาระระดับชาติได้อย่างไร แต่ยังมีเด็กหญิงที่ยากจนไม่มีเงินแม้แต่จะไปโรงเรียน ท่านคิดว่า น้องๆเหล่านี้ จะเจียดเงินซื้อผ้าอนามัยในขณะที่เขายังไม่มีเงินแม้กระทั่งปะทังชีวิตอย่างไร หวังว่ารัฐบาลแพทองธาร จะขจัดความยากจนประจำเดือน หรือ Period Poverty ให้หมดไปจากทุกพื้นที่ในประเทศไทย

สนับสนุนการยุติการตั้งครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์

"สำหรับส่วนที่ 3 การสร้างสังคมให้มีความเท่าเทียมมีพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งคาดหวังให้รัฐบาลสนับสนุนการยุติการตั้งครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ให้สามารถรับยายุติการตั้งครรภ์ได้ที่ รพ.สต.ทุกแห่งทั่วประเทศ มีการให้คําปรึกษาหลังจากการรับยายุติการตั้งครรภ์ฟรี ขจัดปัญหาหมอไม่รับเพราะมีอคติ หยุดผลิตมายาคติต่างๆ และสร้างทัศนคติที่เป็นมิตรให้กับคนที่เลือกทําแท้ง มองให้การยุติการตั้งครรภ์เป็นทางเลือกสุขภาพ และให้คนมีมดลูกมีสิทธิ์เลือกได้เอง สนับสนุนให้มีศูนย์เด็กเล็ก ห้องปั๊มนม" น.ส.ภัสริน กล่าว