ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เปิด EOC สนับสนุนพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมทั่วประเทศ เร่งระดมทีม SEhRT ศูนย์อนามัย สนับสนุนหน่วยงานในพื้นที่จัดการสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยงสุขภาพของประชาชน เร่งสื่อสารให้ความรู้ สอนวิธีใช้ส้วมกล่องกระดาษ และชุด V-Clean ในช่วงวิกฤติ ให้มีน้ำสะอาดใช้ ไม่ปนเปื้อนเชื้อโรค

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยในการประชุม EOC กรมอนามัย ว่า ขณะนี้มีพื้นที่หลายจังหวัดของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ทำให้มีพื้นที่ประสบภัยถึง 8 จังหวัด ได้แก่ 

  1. เชียงใหม่ 
  2. เชียงราย 
  3. พระนครศรีอยุธยา 
  4. สระบุรี 
  5. นครนายก 
  6. พิษณุโลก 
  7. พิจิตร
  8. อ่างทอง 

ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 19,578 ครัวเรือน โดยเฉพาะตอนนี้จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ยังเป็นพื้นที่ประสบภัยขั้นวิกฤติ  มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิตจากดินโคลนถล่ม บางรายติดค้างอยู่ภายในบ้าน ไม่สามารถออกจากพื้นที่ได้ ขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม น้ำใช้ และขับถ่ายไม่สะดวก บางส่วนต้องเร่งย้ายออกจากบ้านไปยังศูนย์อพยพหรือศูนย์พักพิงชั่วคราว ซึ่งมีข้อจำกัดในด้านการดูแลสุขาภิบาล สุขอนามัย และสภาพแวดล้อมที่ดีมากพอ จากสถานการณ์ภัยพิบัติดังกล่าว 

กรมอนามัย จึงมอบหมายทีม SEhRT ศูนย์อนามัย  ปฏิบัติภารกิจร่วมกับหน่วยงานระดับจังหวัดเร่งสำรวจประเมินความเสี่ยง เฝ้าระวังการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารและน้ำ จัดการสุขาภิบาลและสุขอนามัย ได้แก่ ส้วมและสิ่งปฏิกูล ขยะ พื้นที่พักอาศัย พร้อมสนับสนุนชุด V-Clean ส้วมกล่องกระดาษ ชุด Sanitation toolkit ชุดทดสอบการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารและน้ำ ชุดทดสอบคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำ สำหรับใช้ในช่วงประสบภัยเพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อโรคต่าง ๆ ที่มากับน้ำท่วม

ทั้งนี้ น้ำท่วมในภาคเหนือที่เกิดขึ้นมักเป็นดินโคลนถล่ม น้ำป่าไหลหลากมา แล้วเคลื่อนตัวไปยังพื้นที่จังหวัดที่อยู่ด้านล่างอย่างรวดเร็ว จึงให้ทีม SEhRT เตรียมสนับสนุนหน่วยงานในพื้นที่ทำการฟื้นฟูหลังน้ำลด โดยสำรวจ ตรวจสอบความเสียหายของระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญ เช่น ประปาหมู่บ้าน ประปาชุมชน ตลอดจนกิจการที่มีประชาชน  ใช้บริการจำนวนมากทั้งตลาด ร้านจำหน่ายอาหาร โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก เพื่อเร่งปรับปรุงระบบให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ สะอาด ปลอดโรค ปลอดภัยให้เร็วที่สุด และขอความร่วมมือทุกหน่วยงานเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเนื่องจากการเกิดภัยพิบัติมัก มาอย่างรวดเร็ว ไม่ทันตั้งตัว การรับฟังข่าวสาร หมั่นสังเกตความผิดปกติรอบตัว จะทำให้ประชาชนรู้ตัวเร็ว และสามารถหลบหนี อพยพ ออกจากพื้นที่เสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว ลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ 

อีกทั้งขอให้เน้นย้ำการสื่อสารสร้างความรอบรู้แก่ประชาชนผ่านสื่อช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม เช่น โรคน้ำกัดเท้า โรคเชื้อราบนผิวหนัง โรคฉี่หนู ตลอดจนโรคที่เกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อโรคลงในอาหาร ทำให้อาหารเกิดการบูดเน่า เมื่อรับประทานอาหารเข้าไป จึงทำให้เกิดภาวะโรคท้องเสียท้องร่วงต่อไป" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว