ปี 66 คนไทยรับบริการจิตเวช 2.9 ล้านคน ในจำนวนนี้ป่วยโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน แนวโน้มทำร้ายตัวเองเพิ่มสูงขึ้น สสส.-มสช.-รพ.ศรีธัญญา-ภาคี สานพลัง เดินหน้าสร้างสุขภาพจิตชุมชนท้องถิ่น ชู นวัตกรรม “ดัชนีตัวชี้วัดสุขภาพจิตชุมชน” ประเมินสุขภาพจิต สู่การพัฒนาเครื่องมือป้องกัน-แก้ไขปัญหายั่งยืน นำร่อง 15 พื้นที่ เตรียมดันเป็นนโยบายสาธารณะระดับชาติ 

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่โรงพยาบาลศรีธัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โรงพยาบาลศรีธัญญา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) มูลนิธิบุญยง-อรรณพ นิโครธานนท์ จัดเวทีขับเคลื่อนเชิงนโยบายภาคีเครือข่ายในการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตโดยชุมชนท้องถิ่น หัวข้อ “เวทีสานพลังเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตโดยชุมชนท้องถิ่น” (Community Mental Health Forum) ภายใต้โครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตลอดช่วงชีวิต

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. ดำเนินงานด้านสร้างเสริมสุขภาพจิต มุ่งเป้าให้ประชาชนมีสุขภาพจิตดี สอดคล้องกับแผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติ ฉบับที่ 1 มุ่งเน้นการสร้างเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตทุกช่วงวัย สถานการณ์สุขภาพจิตคนไทย ปี 2566 โดยกรมสุขภาพจิต พบว่า มีผู้เข้ารับการประเมิน 1.2 ล้านราย มีปัญหาสุขภาพจิตที่ 29.9% เพิ่มขึ้นจาก 12.8% เมื่อปี 2565 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพจิต และบุคลากรทางการแพทย์ด้านสุขภาพจิตมีจำกัด จึงจำเป็นต้องเร่งจัดระบบการส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตเชิงรุก 

สสส. จึงร่วมกับ มสช. และภาคีเครือข่าย ได้ริเริ่มโครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขยายผลการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของชุมชนท้องถิ่นตลอดช่วงชีวิต ด้วยแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ทดลองการส่งเสริมสุขภาพจิตในระดับชุมชนให้เอื้อต่อการมีสุขภาพจิตที่ดีทั้ง 4 ด้าน 

1.พัฒนาองค์ความรู้ด้านวิชาการ 

2.ส่งเสริมสุขภาพจิตประชาชนทุกช่วงวัยในพื้นที่ต่างๆ  

3.สนับสนุนด้านนโยบายสาธารณะเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสุขภาพจิต 

4.สร้างความตระหนักด้านสุขภาพจิต

“โครงการได้พัฒนาเครื่องมือ “ดัชนีสุขภาพจิตชุมชนท้องถิ่น (Community Mental Health Index)” เพื่อช่วยวัดการประเมินสถานะสุขภาพจิตในระดับชุมชน ผ่านแบบประเมินสุขภาพจิต 36 ข้อ โดยใช้ข้อคำถามที่ครอบคลุม ทั้งด้านทุนทางสังคม สิ่งแวดล้อมในชุมชน ลักษณะทางสังคมประชากรของชุมชน และการดูแลสุขภาพจิตในชุมชน ทดลองในกลุ่มเป้าหมายประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน (ระดับตำบล) 17 ชุมชน ที่มีความหลากหลายทั้งเรื่องอายุ อาชีพ การศึกษา เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำและนำผลลัพธ์ที่ได้ไปต่อยอดสู่การพัฒนาชุมชน โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจและให้คำแนะนำ จากการดำเนินการพบว่า ประชาชนเข้าถึงบริการทางสุขภาพจิตมากขึ้น และเรียนรู้ที่จะยอมรับ เข้าใจ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข จนกลายเป็นพื้นที่ต้นแบบนำไปสู่การขยายผลในการประเมินสุขภาพจิตในระดับประเทศต่อไปได้” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

คนไทยเข้ารับบริการจิตเวช 2.9 ล้านคน

พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวว่า คนไทยเข้ารับบริการจิตเวชมากขึ้นเป็น 2.9 ล้านคน ในปี 2566 จากเดิม 1.3 ล้านคน ในปี 2558 พบว่า ในจำนวนนี้ป่วยโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน ส่งผลให้อัตราการฆ่าตัวตายมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง การจัดกิจกรรมครั้งนี้ มุ่งขยายผลความร่วมมือภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนงานส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต เพื่อถอดบทเรียนนำไปสู่การผลักดันเป็นนโยบายระดับชาติ ที่สำคัญคือการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนท้องถิ่น ให้มีกลยุทธ์ในการเข้าถึงข้อมูล และทำให้ประชาชนมีแนวทางการสร้างความสุขสำหรับตนเองและชุมชนที่ชัดเจน ช่วยลดช่องว่างการเข้าถึงบริการทางสุขภาพจิตได้อย่างทั่วถึง

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธาน มสช. กล่าวว่า มสช. ร่วมกับ สสส. ดำเนินโครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตลอดช่วงชีวิต ตั้งแต่ปี 2564 มุ่งเน้นการควบคุมหรือลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ นำร่อง 15 พื้นที่ทุกภูมิภาค ผลการดำเนินงานทำให้เกิด 2 โมเดลเชิงวิชาการ 1.การสร้างดัชนีตัวชี้วัดสุขภาพจิตในชุมชนอย่างเป็นระบบ 2.การสร้างนักสื่อสารสุขภาพจิตในชุมชนท้องถิ่น (นสช.) ในทุกพื้นที่ เกิดเป็นโมเดลต้นแบบส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในระดับประเทศ เช่น ลิ้นจี่โมเดล จ.สมุทรสงคราม เสมาโมเดล จ.เลย และ จุดพักใจผักไหมแคร์ จ.ศรีสะเกษ

นางจันทรา หาญสุทธิชัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า จุดพักใจผักไหมแคร์ เป็น 1 ใน 15 พื้นที่ต้นแบบด้านการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพจิตในระดับชุมชนท้องถิ่น ทำให้คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตได้เข้าถึงบริการ 100% ผ่านกลไกการทำงาน 4 ประเด็น 

1.สร้างพื้นที่พบปะ แลกเปลี่ยนพูดคุย สร้างความไว้วางใจ 

2.สร้างทีมนักส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชน เพื่อดูแลจิตใจคนในชุมชนได้อย่างทั่วถึง 

3.เชื่อมโยงเครือข่าย สร้างความมั่นคงทางอาชีพ เกิดรายได้สู่ชุมชน 

4.พัฒนาพื้นที่ในการแบ่งปันความรัก ความอบอุ่น สู่การเป็นตำบลแห่งความสุข