ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มูลนิธิกำแพงพักใจ ชวนเยาวชน กทม. เครียด-ซึมเศร้า รับบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา ผ่านแอปฯ OOCA ได้ ไม่มีค่าใช้จ่าย ระบุ หวังเป็นจุดเริ่มต้นของการให้บริการ tele-medicine ด้านสุขภาพจิตในอนาคต

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2567 ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกำแพงพักใจ (Wall of Sharing) เปิดเผยว่า ขณะนี้ มูลนิธิฯ ได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กทม. เปิดให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มวัยรุ่น ด้วยระบบ tele-medicine ผ่านแอปพลิเคชัน OOCA และเชิญชวนกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นวัยรุ่นอายุระหว่าง 15-25 ปี และมีทะเบียนบ้านอยู่ในพื้นที่ กทม. หากรู้สึกว่ามีอาการเครียด หรือซึมเศร้า สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) เข้ามารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
 
ทพญ.กัญจน์ภัสสร กล่าวว่า แอปฯ OOCA โดยปกติแล้วเป็นแอปฯ ที่ให้บริการด้านสุขภาพจิตแบบมีค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ดี ปัจจุบันปัญหาสุขภาพจิตเป็นประเด็นที่พบเยอะมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนที่พบปัญหานี้มากกว่าในอดีตถึง 10 เท่า และสาเหตุการเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มเยาวชนก็คือการฆ่าตัวตาย สะท้อนว่าสังคมไทยสูญเสียเยาวชนจำนวนมากจากปัญหาสุขภาพจิต ทั้งที่เป็นเรื่องที่ป้องกันหรือรักษาได้ แต่เนื่องจากเยาวชนจำนวนหนึ่งที่ขาดกำลังทรัพย์ หรือแม้จะมีกำลังทรัพย์แต่สภาพแวดล้อมไม่เอื้อให้เข้าไปรับบริการ ทำให้คนกลุ่มนี้ขาดโอกาสที่จะเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิต 
 
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการก่อตั้งมูลนิธิกำแพงพักใจ และจัดทำโครงการ Wall of sharing ในปี 2562 เพื่อช่วยให้เยาวชนที่เป็นนักเรียนมัธยมต้นขึ้นไป นักศึกษาปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยของรัฐ และแพทย์ใช้ทุนปี 1 ได้เข้าถึงจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาจากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ผ่านแอปฯ OOCA โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และในปี 2566 ที่ผ่านมาทางมูลนิธิฯได้รับการสนับสนุนจาก สปสช. เขต 13 กทม. ในการจัดทำโครงการพิเศษดูแลเยาวชนที่มีทะเบียนบ้านใน กทม. อายุ 15-25 ปี เพิ่มขึ้นมาด้วย ซึ่งเชื่อว่าโครงการฯ นี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการผลักดันให้เกิดบริการ tele-medicine ด้านสุขภาพจิตที่มีความทั่วถึง ถ้วนหน้า สำหรับทุกคนต่อไปในอนาคต

 
“การนำเทคโนโลยี tele-medicine มาให้บริการผ่านแอปฯ OOCA ทำให้เยาวชนมีโอกาสเข้าถึงบริการมากขึ้น ได้มีช่องทางส่วนตัวให้เข้าไปพูดคุยปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตเมื่อไหร่ก็ได้ เชื่อว่าถ้าเขามีโอกาสได้เริ่มเข้ามาพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา จะเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่ทำให้เขาไม่กลัวเวลาเกิดปัญหาด้านจิตใจและสามารถดูแลตัวเองได้” ทพญ.กัญจน์ภัสสร กล่าว
 

ด้าน น.ส.วสุนธรา สนั่นไหว ผู้จัดการโครงการกำแพงพักใจ กล่าวว่า การให้บริการผ่านแอปฯ OOCA มีศักยภาพในการให้บริการได้ทั่วประเทศ แต่เบื้องต้นจะนำร่องในพื้นที่ กทม. ก่อน โดยตั้งเป้ากลุ่มเป้าหมายเข้ามารับบริการจำนวน 2,500 คน โดย 1 คน สามารถรับบริการได้ 4 ครั้ง รวมจำนวนการให้บริการสูงสุด 10,000 ครั้ง ในส่วนของขั้นตอนการเข้ารับบริการนั้น ผู้รับบริการจะต้องทำการดาวน์โหลดแอปฯ OOCA ก่อน จากนั้นทำการลงทะเบียนตรวจสอบสิทธิ และเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิผู้ใช้งานทั่วไปหรือสิทธิตามโครงการกำแพงพักใจ และเมื่อกดเลือกใช้สิทธิของโครงการกำแพงพักใจ ก็จะสามารถเข้าไปคุยกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาได้
 
ทั้งนี้ ก่อนและหลังการรับบริการ ผู้รับบริการจะต้องทำการทดสอบเพื่อประเมินความเครียด/ภาวะซึมเศร้า จากนั้นจึงจะเข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาใน 2 ครั้งแรก เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ในการรับบริการครั้งที่ 3-4 จะได้พูดคุยกับอาสาสมัคร mental health supporter ซึ่งผ่านการอบรมด้วยหลักสูตรของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์

   
“ตอนนี้จำนวนผู้เข้ามารับบริการยังน้อย อาจเป็นเพราะว่าน้องๆ วัยรุ่นในกทม. อาจยังไม่ทราบว่ามีโครงการนี้ ซึ่งทางมูลนิธิฯ จะพยายามประชาสัมพันธ์เพิ่มการรับรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ของ Wall of Sharing เช่น Facebook IG และเว็บไซต์   www.กำแพงพักใจ.comรวมทั้งผ่าน influencer และช่องทางออนไลน์ของภาคีที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสุขภาพจิต สปสช. เพื่อสื่อสารให้น้องๆ รับทราบว่ามีโครงการนี้อยู่ และสื่อสารในประเด็นที่ว่าเมื่อมีปัญหาความเครียด การมีคนที่คอยรับฟังและเก็บเป็นความลับ มีความจำเป็นสำหรับเขา”น.ส.วสุนธรา กล่าว

 
ขณะที่ อร พัศชนันท์ อดีตสมาชิกวง BNK48 ในฐานะ Influencer ผู้ช่วยดันผลักดันโครงการ กล่าวว่า การแบ่งปันเรื่องปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องน่าอายในชีวิต บางคนอาจเข้าใจผิดว่าการพบแพทย์หรือนักจิตวิทยาจะหมายถึงการเป็นโรคจิตเวชหรือเปล่า ซึ่งจริงๆไม่ใช่ ขนาดป่วยกายยังไปหาหมอได้ ถ้าป่วยใจทำไมจะหาหมอไม่ได้ 
 
อร พัศชนันท์ กล่าวอีกว่า ยิ่งเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นมักจะจะมีอารมณ์ใหม่ๆเข้ามาในชีวิตของคนเราเสมอ การมีคนคอยรับฟังปัญหา ช่วยให้เข้าใจในตัวเองจะทำให้เราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น และเป็นการรับบริการผ่านแอปพลิเคชันก็ยิ่งทำให้เข้าบริการได้ง่ายมากๆ ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ไม่ต้องรู้สึกเขินอายคนรอบข้าง
 

“การเข้ามาทำงานตรงนี้คืออยากให้น้องๆ รู้ว่ายังมีคนคอยซับพอร์ทเมื่อมีปัญหาความเครียดหรือสุขภาพจิต ถ้าช่วยทำให้คนเข้าใจและตระหนักในเรื่อง mental health ได้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี” อร พัศชนันท์ กล่าว