ครม.รับทราบภาวะสังคมไทยไตรมาสสองปี 66 สถานการณ์การเจ็บป่วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น 62.3% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปี 65 จากโรคไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ขณะที่สุขภาพจิตคนไทย เครียด เสี่ยงซึมเศร้า ภาวะหมดไฟเพิ่มสูง 19.36% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 12.76% ชี้ต้องให้ความสำคัญสุขภาพคนทำงาน โรคคอมพิวเตอร์วิชันซินโดรม ขณะที่ดื่มเหล้าเพิ่มสูงเช่นกัน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2566 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ โดยสาระสำคัญของเรื่องมีประเด็นต่างๆ ยกตัวอย่าง เรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ อย่าง

1.การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นร้อยละ 62.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากโรคที่มากับฤดูฝน ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออก ขณะที่ปัญหาด้านสุขภาพจิตของคนไทย (ความเครียด เสี่ยงซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย และภาวะหมดไฟ) เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 19.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 12.76 ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ (1) สุขภาพของคนวัยทำงานที่มีความเสี่ยงป่วยด้วยโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด โรคอ้วน ภาวะเครียด และอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น และ (2) โรคคอมพิวเตอร์วิชันซินโดรม

2. การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 โดยการบริโภคบุหรี่ลดลงร้อยละ 0.1 ขณะที่การบริโภคแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6  เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเมษายนทำให้ประชาชนบริโภคแอลกอฮอล์มากขึ้น ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ (1) ความรุนแรงในครอบครัวจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ (2) การลักลอบนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่หนีภาษี

3. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน พบว่า มีการรับแจ้งคดีอาญารวม 88,719 คดี ลดลงร้อยละ 17.8 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (มีคดีอาญารวม 104,108 คดี) โดยมีคดียาเสพติดลดลงแต่คดีชีวิตร่างกายและเพศและคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เพิ่มขึ้น  ส่วนด้านอุบัติเหตุทางถนน (มีผู้ประสบภัยรวม 198,685 ราย) ลดลงร้อยละ 12 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (มีผู้ประสบภัยรวม 208,542 ราย) ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่  (1) การหลอกลวงทางโทรศัพท์ (2) การเฝ้าระวังเด็กและเยาวชนที่ใช้กัญชาแบบสูบเพื่อนันทนาการและ (3) การบังคับใช้กฎหมายจำกัดความเร็ว

4. การรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการร้องเรียนสินค้าและบริการผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 53.1 โดยเป็นการร้องเรียนด้านสัญญามากที่สุด ขณะที่การร้องเรียนในกิจการโทรคมนาคมของสำนักงานคณะกรรมการการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติลดลงร้อยละ 40.5 โดยเป็น การร้องเรียนเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่มากที่สุด ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ (1) การซื้อขายที่อยู่อาศัยมือสองที่ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะการซื้อทรัพย์ที่มาจากการขายทอดตลาด และ (2) ประชาชนบางส่วนถูกนำหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนไปเปิดเบอร์โทรศัพท์โดยไม่รู้ตัว