ปลัดสธ.ประเดิมลงเงินใส่หมวก เชิญชวนคนกระทรวงสาธารณสุข ร่วมบริจาคช่วยเหลือบุคลากรสธ.ประสบภัยน้ำท่วม จ.เชียงราย ชี้แม้บ้านเดือดร้อนแต่ยังมีจิตวิญญาณช่วยเหลือประชาชน ย้ำขณะนี้ รพ.ยังเปิดบริการได้ ให้ดูตามสถานการณ์พร้อมปรับเปลี่ยนช่วยเหลือ
เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล จ.นครราชสีมา ภายในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขปี 2567 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเชิญชวนชาวสาธารณสุขในการร่วมด้วยช่วยกันบริจาคเงินเพื่อช่วยบุคลากรสาธารณสุขที่ประสบภัยน้ำท่วม จ.เชียงราย โดยได้เชิญชวนและประเดิมเงินลงในหมวก เพื่อให้คนในงานประชุมฯ บริจาคร่วมกัน ล่าสุดก่อน 12.00 น. ระดมเงินช่วยเหลือแล้วจำนวน 153,376 บาท ว่า สธ.ได้มีการประชุมเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลที่ประสบภัยน้ำท่วม โดยเฉพาะ จ.เชียงราย ซึ่งได้รับรายงานจาก นพ.วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย พบว่า แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ กว่า 90 คน เป็นผู้ประภัยบ้านน้ำท่วมด้วย แม้ว่าบ้านตนเองจะถูกท่วม และไม่สามารถเดินทางมาทำงานที่โรงพยาบาลได้ แต่ก็ยังออกมาช่วยเหลือชาวบ้าน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณของชาวสาธารณสุข
“ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ก็ได้มีการประชุมวิชาการ ซึ่งมีบุคลากรกระทรวงมาจากทั่วประเทศ พร้อมส่งกำลังใจให้ แต่คงไม่เพียงพอ ตนจึงได้เชิญชวนให้ช่วยกันส่งกำลังเงินให้ตามกำลังศรัทธา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยซ่อมแซมบ้าน มอเตอร์ไซด์ที่จมน้ำ เพื่อให้ชุมชนชาวสาธารณสุขเป็นชุมชนที่เข้มแข็งต่อไป” นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องการดูแลประชาชนนั้น ไม่น่าเป็นห่วง โดยที่ อ.แม่สาย มีการตั้งศูนย์อพยพ 2 แห่ง มีการดูแลประชาชนอย่างเต็มที่เพราะจังหวัดได้วางแผนเตรียมการรับมือไว้ล่วงหน้า แบ่งการจัดการตามความหนักเบาของสถานการณ์และเตรียมระบบส่งต่อผู้ป่วยหนักไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียง ส่วนผู้ป่วยฉุกเฉินยังเปิดให้บริการตามปกติ อย่างไรก็ตามจะต้องมีการเตรียมพร้อมระบบน้ำประปา เพราะระบบสำรองของโรงพยาบาลอยู่ได้ 3-5 วัน หากน้ำท่วมนานกว่านี้ จะทำให้โรงพยาบาลประสบปัญหาขาดแคลนน้ำได้ ก็หวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในเร็ววัน อย่างไรก็ตามภายหลังน้ำลด ได้สั่งการให้ทุกฝ่ายเตรียมการรับมือโรคที่มาหลังน้ำลด โดยเฉพาะโรคฉี่หนู โดยขอให้กลุ่มอาสาสมัครซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพฯ ที่มาช่วยชาวบ้านจังหวัดเชียงราย ซึ่งต้องแช่น้ำนาน และไม่คุ้นเคยกับสภาพภูมิประเทศ เหมือนประชาชนในพื้นที่ ก็อาจเสี่ยงติดโรคฉี่หนู หรือโรคระบาดอื่นๆที่มาหลังน้ำท่วม จึงขอให้สังเกตตนเองหากมีอาการผิดปกติ ก็อย่านิ่งนอนใจ ขอให้รีบไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งจะมีระบบการติดตามโรคระบาดสำคัญหลังน้ำลด
- 346 views