ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป  ไม่ร่วมประชุม สปสช. ประเด็นหารืองบบัตรทองขาขึ้น เหตุที่ผ่านมาไม่เคยรับฟังอย่างจริงจังและจริงใจ สุดท้ายเป็นการประชุมตามขั้นตอน  รอ Provider Board รวมหน่วยบริการงบหลักประกันสุขภาพฯ ทั้งหมด

 

จากกรณีปัญหาโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน หลายแห่งเริ่มหวั่นเกิดเหตุ รพ.ขาดทุน จนหลายรพ.ออกมาเปิดเผยสภาวะทางการเงินของตนเอง โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า มาจากงบผู้ป่วยในจากบัตรทองถูกหั่นลดลง ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ออกมาชี้แจงประเด็นดังกล่าวแล้ว 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ได้เชิญผู้แทนจากโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(รพศ./รพท.) เข้าร่วมประชุมออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นเสนองบประมาณขาขึ้นปีงบประมาณ 2569 โดยเชิญประชุมในวันที่ 9 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา แต่ปรากฎว่า ทางรพศ.รพท.ไม่เข้าร่วม และมีหนังสือส่งกลับ สปสช.ระบุสาเหตุไม่เข้าร่วม เนื่องจากที่ผ่านมา สปสช. ไม่เคยนำข้อเสนอของ ชมรม รพศ.รพท. ไปพิจารณาต่ออย่างจริงจังและจริงใจ

เหตุผล รพศ./รพท.ปฏิเสธประชุมถกงบบัตรทองปี 69

 

ล่าสุดวันที่ 11 กันยายน 2567 นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี ในฐานะประธานชมรม รพศ./รพท. ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าว ว่า เหตุผลที่ไม่เข้าร่วมอยู่ในหนังสือที่ชมรมฯ ส่งไปให้ทางสปสช.แล้ว เนื่องจากทุกครั้งที่ผ่านมามีการจัดรับฟังความคิดเห็นเฉพาะขาลงเท่านั้น ซึ่งเป็นงบผ่านสภาฯแล้ว แต่ทุกครั้งที่ชมรม รพศ./รพท.เข้าร่วมและเสนออะไรไป กลับไม่เคยนำข้อเสนอเข้าสู่การพิจารณาและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใดๆ เหมือนเป็นการรับฟังตามพิธีกรรม จัดตามกรอบกฎหมายให้มีชื่อว่าหน่วยบริการเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นแล้ว ซึ่งไม่ค่อยจริงใจเท่าไหร่นัก

 

เมื่อถามว่าครั้งนี้เป็นงบขาขึ้นปีงบประมาณ 2569 หากไม่เข้าร่วมจะส่งผลต่อขั้นตอนเสนองบฯหรือไม่ นพ.อนุกูล กล่าวว่า ทุกครั้งก็ไม่เคยให้หน่วยบริการเข้าเสนอความคิดเห็นกรณีงบขาขึ้น แต่ทางชมรม รพศ./รพท.ทักท้วง ครั้งนี้จึงมีการประชุม แต่มองว่า เป็นการจัดประชุมแบบเร่งด่วน และเรื่องนี้สำคัญกลับประชุมออนไลน์ผ่านซูมเท่านั้น ทั้งที่เรื่องใหญ่อย่างการเสนองบประมาณบัตรทองกว่าแสนล้านบาท ทั้งขาขึ้นหรืองบขาลงใดๆก็ตาม ควรประชุมในรูปแบบหน่วยบริการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมกัน และต้องเป็นแบบทั้งออนไซด์และออนไลน์ 

สปสช.ไม่ควรประชุมแยกส่วน อย่าง ชมรมรพศ./รพท. โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขแยกต่างหาก  เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (ยูฮอสเน็ต)แยกต่างหาก โรงพยาบาลสังกัดอื่นๆแยกต่างหาก และค่อยนำมาสรุปรวมกัน ซึ่งไม่มีทางรู้เลยว่า สปสช.สรุปการหารือแต่ละส่วนอย่างไร

รอ Provider Board เทานั้น

“สิ่งสำคัญการประชุมเรื่องนี้ ต้องให้หน่วยบริการในระบบบัตรทองแต่ละส่วนมาประชุมร่วมกันทั้งหมด ไม่ใช่แยกออกจากกัน เพราะหากใครมีข้อเสนอใดๆ กลุ่มไหนเห็นควรว่าต้องเพิ่มต้องลดก็จะได้คุยกันได้ตามข้อเท็จจริง  จึงเป็นที่มาที่เราเสนอมาตลอดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการของผู้ให้บริการ หรือ  Provider Board เพื่อคอยสะท้อนถึงนโยบาย กฎเกณฑ์ กติกา ปัญหาและหาทางแก้ไขร่วมกันอย่างแท้จริง” ประธานชมรมรพศ.รพท.กล่าว

 

ถามกลับ สปสช.ทำผิดกฎหมายหรือไม่

นพ.อนุกูล กล่าวอีกว่า ไม่ใช่หน่วยบริการไม่เคยร่วมประชุม ได้มีการร่วมหารือหลายครั้ง แต่ไม่เคยได้รับการตอบรับจากสปสช.เลย  อย่างข้อเสนองบขาลงปี 2567 อย่างงบผู้ป่วยในคิดหน่วยละ 8,350 บาทต่อแต้ม เราเสนอว่าหากไม่พอขอเกลี่ยจากงบกองอื่นๆ หรืองบกลาง แต่สุดท้ายก็ยังลดลงตามสัดส่วนที่เหลือ ไม่มีการเกลี่ยช่วย หากทั้งชมรม รพศ.รพท. และยูฮอสเน็ต และหน่วยบริการอื่นๆที่ได้รับผลกระทบไม่ออกมา จนสื่อให้ความสนใจ ก็คงยังปฏิบัติกับ รพ.รัฐตามเดิม  

 

“ขอตั้งคำถาม สปสช. ว่า ทำผิดกฎหมายหรือไม่ โดยมาตรา 46 (1)ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545  กำหนดว่า สำนักงานฯต้องกำหนดราคากลางที่เหมาะสม ที่จ่ายให้กับหน่วยบริการ โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน การพิจารณาราคากลางที่เหมาะสมได้ปฏิบัติตามหรือไม่ เคยเอาราคาต้นทุนที่วิเคราะห์มาแล้วมากำหนดราคาที่เหมาะสมแต่ละปีหรือไม่ หรือใช้แบบ8,350 บาทต่อแต้ม หากไม่พอก็ลดเหลือ 7,000 บาทต่อแต้ม นี่เหมาะสมแล้วใช่หรือไม่” นพ.อนุกูล กล่าว

 

หนังสือเชิญประชุมจากสปสช.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหนังสือของสปสช.ในการเชิญประชุมออนไลน์ผ่านระบบ Zoom meeting ลงนาม โดยนางกาญจนา ศรีชมภู ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. ปฏิบัติงานแทนเลขาธิการ สปสช.   ส่งถึงประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป เรื่อง ขอเชิญประชุมคณะทำงานพัฒนาข้อเสนองบประมาณและหลักเกณฑ์แนวทางการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(ขาขึ้น) ปีงบประมาณ 2569 

 

ระบุว่า ตามที่สปสช.ได้ประกาศแต่งตั้ง คณะทำงานพัฒนาข้อเสนองบประมาณและหลักเกณฑ์แนวทางการบริหารจัดการกองทุนฯ เพื่อให้ความเห็นและข้อเสนอแนะประกอบการจัดทำหลักเกณฑืการดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนฯ และเสนอแนะในการเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมให้ความเห็น เพื่อเสนอต่อกลไกการพิจารณาข้อเสนองบกองทุนฯ (ขาขึ้น) ปีงบประมาณ 2569 ต่อไป โดยขอเชิญตัวแทน โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(รพศ./รพท.) จำนวน 5 ท่านเข้าร่วมประชุมเพื่อให้ความเห็นในวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา