ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สวรส. วิจัยพัฒนาเครื่องมือเฝ้าระวังการบริหาร รพ.สต. ถ่ายโอนฯ พร้อมส่งสัญญาณเตือน ความเสี่ยงของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน ช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิในพื้นที่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที

การจัดระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิเป็นบทบาทหน้าที่ใหม่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หลังรับถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน ปี 2567 พบว่า จำนวนหน่วยบริการถ่ายโอนมีมากถึง 4,274 แห่ง จากทั้งหมด 9,872 แห่ง ใน 62 จังหวัด 

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจ ภายใต้ “ความท้าทายใหม่” ของ อบจ. ในการจัดบริการสุขภาพและสาธารณสุขให้กับประชาชนในพื้นที่คือ มีการเปลี่ยนแปลงและเกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือไม่ อย่างไร !!? ซึ่งโครงการวิจัยหัวข้อ “การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนภายหลังการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566: ระยะที่ 2 การประเมินสัญญาณเตือนของผลกระทบต่อสถานะสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการศึกษาข้อมูลย้อนหลังและการจัดทำกรณีศึกษา” โดยมี รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จะช่วยไขคำตอบ

งานวิจัยดังกล่าว เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากระยะที่ 1 ที่ได้ศึกษา “สัญญาณเตือน” ความเสี่ยงของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนจากการถ่ายโอนฯ ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิในพื้นที่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 12 จังหวัด ครอบคลุมจังหวัดที่มี รพ.สต. ถ่ายโอนทั้งจังหวัด ถ่ายโอนบางส่วน และไม่ได้ถ่ายโอน โดยงานวิจัยระยะที่ 2 มุ่งเน้นไปที่การให้ความสำคัญกับการศึกษากระบวนการติดตามและทบทวนความสามารถของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการคาดการณ์สัญญาณเตือน พร้อมสังเคราะห์แนวทางการจัดการปัญหาเชิงระบบ เพื่อให้ รพ.สต. อบจ. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) มีศักยภาพและความสามารถในการตอบสนองต่อสถานการณ์ของผลกระทบทางสุขภาพ โดยใช้เครื่องมือที่เป็นองค์ความรู้จากงานวิจัย 


 
รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ อธิบายว่า การบริหารจัดการของ รพ.สต. ถ่ายโอนฯ และผลลัพธ์ทางสุขภาพของประชาชน เป็นตัวบ่งบอกถึงการทำงานของ อบจ. ดังนั้นงานวิจัยจึงวิเคราะห์ข้อมูลผลลัพธ์ทางสุขภาพที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บันทึกและจัดเก็บไว้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีตัวชี้วัดด้านสุขภาพปฐมภูมิและมีการประเมินผลเบื้องต้น เพื่อเชื่อมโยงกลับไปยังกระบวนการดำเนินงานและการบริหารจัดการของ รพ.สต. ภายใต้ อบจ.

ข้อค้นพบจากงานวิจัยระยะที่ 2 มี 4 ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการ ซึ่งอาจนำไปสู่ผลกระทบต่อประชาชน ที่เป็นได้ทั้งด้านบวกและด้านที่ไม่พึงปรารถนา ได้แก่ 1) การบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ 2) บุคลากรพยาบาล 3) การขึ้นทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิ 4) การควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งทั้ง 4 ประเด็นสอดคล้องกับผลการศึกษาในระยะที่ 1 ที่พบว่าเป็นสัญญาณเตือนในระยะแรกเริ่มที่มีการถ่ายโอน ดังนั้นนักวิจัยจึงนำสัญญาณเตือนที่พบมาจัดทำเครื่องมือ เพื่อใช้ประเมินศักยภาพและความสามารถของ รพ.สต. และ อบจ. 
 
รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ให้รายละเอียดของ “เครื่องมือ” ว่า เป็นแพลตฟอร์มประเมินความพร้อมด้านการบริหารจัดการ รพ.สต. ในพื้นที่ ที่ครอบคลุมประเด็นของสัญญาณเตือน โดยนักวิจัยได้ออกแบบระบบให้สามารถสะท้อนภาพการบริหารจัดการในภาพรวมทั้งจังหวัด หากบริหารจัดการได้ดีและครอบคลุม สัญญาณเตือนจะแสดงสัญลักษณ์สีเขียว หากบริหารจัดการยังไม่ดีพอ จะมีสัญลักษณ์สีส้ม และสีแดงตามลำดับ ซึ่งจะช่วยให้เห็นถึงสถานการณ์ และสามารถวางแผนหรือบูรณาการหน่วยงานเพื่อเข้าไปสนับสนุนได้ ทั้งนี้ตัวอย่างข้อมูลจากสัญญาณเตือนที่บ่งบอกถึงผลลัพธ์ทางสุขภาพประชาชน คือ สถานการณ์การคัดกรองสุขภาพเบื้องต้น

ซึ่งโดยปกติแล้ว ประชาชนมักจะไม่มาคัดกรองโรคต่างๆ เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องไม่จำเป็น แต่ด้านการดูแลสุขภาพ การคัดกรองโรคเบื้องต้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพราะหากพบความเสี่ยงหรือค้นเจอโรคตั้งแต่ระยะแรก ก็จะมีโอกาสในการรักษาโรคให้หายได้มากขึ้น ซึ่งหาก รพ.สต. หรือ อบจ. บริหารจัดการไม่ดีพอ ก็อาจไม่มีข้อมูลสุขภาพ และเป็นความเสี่ยงที่กระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้เชื่อว่าผลลัพธ์จากงานวิจัยระยะที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นข้อค้นพบหรือข้อเสนอแนะต่างๆ จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ และต่อยอดในการศึกษาวิจัยระยะที่ 3 ต่อไป
  
ด้าน ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวย้ำว่า
งานวิจัยในระยะที่ 2 มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเครื่องมือสำหรับใช้ประเมินข้อมูลการบริหารจัดการสุขภาพของ รพ.สต. ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนในการวางแผนการพัฒนาระบบต่างๆ การติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพของประชาชน ถัดจากนั้นในการวิจัยระยะที่ 3 จะมีการนำเครื่องมือดังกล่าวไปใช้กับพื้นที่วิจัยที่เป็นเกลุ่มเป้าหมาย และจะมีการสรุปผลการศึกษาวิจัยเพื่อขับเคลื่อนให้นำไปใช้ประโยชน์ในเชิงนโยบายสำหรับพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป