ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เผยปัญหาใหญ่ต้องแก้ให้ได้ก่อนประเทศล้มละลาย ทั้ง “สังคมสูงวัย-โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” ชูพื้นที่ “ลำสนธิโมเดล” จ.ลพบุรี ตัวอย่างการดูแลผู้สูงอายุที่ดี มีเงินค่าจ้างอาสาสมัครจากท้องถิ่น  โชว์ต่างประเทศได้ เพราะระบบการดูแลระยะยาว ต้องอาศัยทีมระดับตำบล เชื่อมโรงพยาบาลแม่ข่าย ท้องถิ่นช่วยกันดูแล 

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา  สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย จัดเวทีสาธารณะ “จากปฏิบัติการพื้นที่ สู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย : ความท้าทายระบบสุขภาพในมือของชุมชนและท้องถิ่น”  

โดยนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) กล่าวตอนหนึ่งถึงการขับเคลื่อนระบบสุขภาพชุมชนและท้องถิ่นบนฐานความรู้ ว่า รู้สึกยินดีที่ในวันนี้มีคนที่จะมาร่วมกันพัฒนาสุขภาวะให้คนไทยดีขึ้น สำหรับการแพทย์และการสาธารณสุขนั้น อยู่คนละมิติ  โดยการแพทย์ มุ่งเน้นไปที่ปัจเจกแต่ละบุคคล การจะรักษาให้หายต้องให้ดีที่สุด แต่การสาธารณสุขดูแลโดยรวม ไม่ใช่เพื่อการรักษา แต่เพื่อป้องกัน มุ่งเน้นการดูแลอย่างครอบคลุม ทั้ง 2 อย่างนั้นสำคัญ เน้นแค่สิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้

ปัจจัยที่ทำให้คนสุขภาพดีหรือไม่ ประกอบด้วย ปัจจัยทางพันธุกรรม 25-30% พฤติกรรม 40% ถ้าควบคุมได้ดี ถึงแม้มียีนของโรคก็อาจไม่เป็นโรคนั้นได้ รวมถึงเรื่องสภาพแวดล้อม ท้องถิ่นทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นได้หรือไม่ วันนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าที่คาดคิด และระบาดวิทยาของโลกเปลี่ยนไป จากโรคติดเชื้อไม่มีความสำคัญเท่ากับโรคไม่ติดต่อเรื้องรัง 

"แก้ 2 เรื่องนี้ไม่ดี ประเทศอาจจะเจ๊ง ล้มละลายได้" นพ.ศุภกิจ ย้ำ

"หากนับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีประมาณ 20% และอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะขึ้นเป็น 30% ที่สำคัญ คนไทยมีลูกน้อยลง อัตราการเจริญพันธุ์ลดลงเรื่อย ๆ เด็กพวกนี้แบกพวกเราไม่ไหวในอนาคต ส่วนโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs อย่างโรคเบาหวาน อายุ 15 ปีขึ้นไป ในการสำรวจครั้งที่ 5 มีอยู่ 7% ในการสำรวจครั้งที่ 6 ช่วง 5 ปีต่อมา เกือบ 9% และขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับโรคความดันโลหิตสูง" นพ.ศุภกิจ กล่าว

สำหรับตัวอย่างการดูแลผู้สูงอายุที่ดี คือ ลำสนธิโมเดล (อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี)  สามารถนำท้องถิ่นมาร่วมมือ โดยมีเป้าหมายดูแลกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ กลุ่มติดเตียง ผู้พิการ ซึ่งเงินค่าจ้างอาสาสมัครมาจากท้องถิ่น โมเดลนี้เป็นตัวอย่างที่นำไปโชว์ต่างประเทศได้ เพราะระบบการดูแลระยะยาว (Long–term care) ต้องมีทีมระดับตำบล มีผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) เชื่อมกับโรงพยาบาลแม่ข่าย ท้องถิ่นต้องเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุน 

นพ.ศุภกิจ เพิ่มเติมว่า ส่วนลักษณะระบบบริการของประเทศไทย ทุกที่ให้บริการสาธารณสุขแบบผสมผสาน เช่น ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค รักษาพยาบาล ฟื้นฟูสภาพ และคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ โดยวางระบบบริการตามพื้นที่การปกครอง เช่น โรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 

"ทุกวันนี้ กลุ่มผู้ป่วยนอก (OPD) 200 กว่าล้านครั้งต่อปี อยู่ที่รัฐ 80% โดยยุทธศาสตร์สำคัญที่ทำให้ประเทศไทยยืนอยู่ในแถวหน้าของโลกได้ ใช้ยุทธศาสตร์ 2 ขา ในการพัฒนาสุขภาพ ตั้งเป้าให้คนไทยสุขภาพดี ข้างหนึ่ง คือ ระบบบริการ เพิ่มหมอ เพิ่มพยาบาล นอกจากกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังมีท้องถิ่นรวมอยู่ด้วย และยังให้ความสำคัญกับขาอีกข้าง คือ การสาธารณสุขมูลฐาน ซึ่งเป็นประชาชน และยังมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นตัวเชื่อมระหว่างรัฐและประชาชน"

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า สำหรับงานวิจัยของ สวรส. ประเด็นการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. มีการให้ทุนวิจัยตั้งแต่ปี 2565-2567 รวม 49 ทุน ปัจจุบัน รพ.สต. อยู่กับท้องถิ่น 46% และอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข 54% เราอยากให้เรื่องนี้เป็นไปได้ด้วยดี อยากเห็นการเชื่อมต่อให้ได้ การเชื่อมต่อที่ไม่มีรอยต่อ เพราะถ้าจัดการไม่ดีจะเป็นปัญหา 

สำหรับผู้ที่ต้องการดูข้อมูลการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. สวรส.มีระบบ HSIU หรือ Health  systems Intelligence Unit รวบรวมข้อมูลตั้งแต่ประวัติเส้นทางการถ่ายโอน จำนวนรพ.สต.ถ่ายโอน ซึ่งเผยแพร่ต่อสาธารณะ สามารถเข้าชมได้ที่ https://hsiu.hsri.or.th/index.php

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

- เดินหน้า "ตั้งศูนย์ฟอกไต-ยกระดับแพทย์แผนไทย" รองรับ "บริการปฐมภูมิ" ในอนาคต

- สช.-สวรส.-สมาคม อบจ. ประกาศเจตนารมณ์ ยกระดับระบบสุขภาพปฐมภูมิ ให้ท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพ

- "หมอปรีดา" ชู 2 โครงการยกระดับสุขภาพปฐมภูมิเชื่อมการถ่ายโอน รพ.สต. ชี้! 4 ปัจจัยความสําเร็จ

- 4 อบจ. ถกกลางวงเสวนา ปมการถ่ายโอนรพ.สต. ไป อบจ. ชี้ "คน เงิน ของ" เป็นปัญหาหลัก