จับตารัฐบาลเพื่อไทยแถลงนโยบาย 12 ก.ย.นี้ เดินหน้า 30 บาทรักษาทุกที่ฯ กับประเด็นงบบัตรทองเอื้อ รพ.รัฐแค่ไหน เหตุสปสช.จัดสรรงบบัตรทองแยก 9 กองทุนย่อย งบเหมาจ่ายลดอีก เหลือความหวังงบกลาง 7.1 พันล้านช่วยบรรเทา รพ.ขาดทุนภาพรวม ด้านสปสช. เผยปัญหา รพ.ติดลบการเงินไม่ใช่แค่งบผู้ป่วยใน เพราะมีรายได้หลายทาง พร้อมกางตัวเลขงบ OP Anywhere ใครได้มากสุด
ประเด็นงบประมาณสาธารณสุข เป็นอีกเรื่องที่คนในแวดวงต่างจับตามองในการแถลงนโยบายรัฐบาลวันที่ 12 กันยายนนี้ ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นอกจากนโยบายสิทธิสวัสดิการสุขภาพประชาชนอย่าง 30 บาทรักษาทุกที่ฯ แล้ว ในเรื่องการจัดสรรงบที่เพียงพอ เพื่อการบริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพจะถูกพูดขึ้นมาด้วยหรือไม่...
สืบเนื่องจากไม่นานมานี้กลุ่มโรงพยาบาล(รพ.)ต่างๆ คณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ ยูฮอสเน็ต (Uhosnet) และชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.)ออกมาเรียกร้อง สปสช.ถึงการจัดสรรงบผู้ป่วยใน ที่ไม่สอดคล้องกับต้นทุน อย่าง รพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะมีต้นทุนการรักษาผู้ป่วยในราว 12,000-13,000 บาท รพ.สังกัดโรงเรียนแพทย์ประมาณ 20,000-30,000 บาท
แต่ที่ผ่านมา สปสช.จัดสรรงบผู้ป่วยใน รูปแบบวงเงินแบบมีเพดานและจ่ายด้วยระบบการวินิจฉัยโรคร่วมหรือ DRGs คำนวณตามความรุนแรงของโรค เฉลี่ยจ่ายในปีงบประมาณ 2560-2567 อยู่ที่ 8,373 บาท/AdjRW หรือต่อหน่วยความรุนแรงของโรค เดิมรพ.ต่างๆ แม้อัตราการจ่ายดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับต้นทุนแต่ก็ดำเนินการมาตลอด ด้วยความที่เป็นรพ.รัฐ ไม่แสวงหากำไร ทำเพื่อประชาชน แต่เมื่อต้นทุนสูงขึ้น และล่าสุดสปสช.มีความจำเป็นต้องลดงบเหลืออัตรา 7,000 บาท ในช่วงครึ่งหลังของปีงบประมาณนี้ หากไม่ทำกองทุนจะติดลบร่วมหมื่นล้านบาท
ชง ครม.งบกลาง 7.1 พันล้านทางรอดกู้การเงินรพ.
จนเกิดเป็นประเด็นต่างๆ ในการเรียกร้องงบประมาณเพิ่มเติม แน่นอนว่า ล่าสุดในการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา มี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เห็นชอบแนวทางที่จะดำเนินการเพื่อจ่ายชดเชยค่าบริการผู้ป่วยในจากนี้ไป มี 2 แนวทาง คือ 1. การปรับเกลี่ยงบจากรายการหรือประเภทบริการอื่นและนำมาจ่ายให้ก่อน หรือ 2. รองบประมาณกลางจำนวน 7,100 ล้านบาท ตามที่ รมว.สาธารณสุข เสนอไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว
“หากได้งบส่วนนี้มาและงบส่วนอื่นๆ ก็จะนำงบส่วนนี้มาจ่ายชดเชยเป็นค่าบริการผู้ป่วยในเพิ่มเติมได้...”
ดังนั้น หากรัฐบาลผ่านงบกลางก้อนนี้ ก็จะมาช่วยบรรเทา รพ.ที่กำลังประสบปัญหาภาวะขาดสภาพคล่องได้ แม้จะไม่ใช่งบที่จะมาตอบโจทย์กองทุนผู้ป่วยในโดยตรงก็ตาม เนื่องจากทางฝั่งผู้ให้บริการ ทั้งยูฮอสเน็ต และชมรม รพศ./รพท. ต่างมองว่า งบผู้ป่วยในเป็นงบจำเป็นในการรักษาคนไข้ให้ผ่านพ้นวิกฤต โดยเฉพาะการผ่าตัด การรักษาโรคยากๆ จำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณเพิ่มเติม แทนที่จะของบกลางอยู่เรื่อยๆ ไม่เช่นนั้น รพ.ก็จะประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ติดลบเรื่อยๆ เพราะงบบัตรทองที่รพ.ได้รับ ไม่ใช่ว่าได้รับน้อยเพียงเงินกองทุนผู้ป่วยใน แต่งบอื่นๆ ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเหมาจ่ายรายหัว ที่มีการแบ่งย่อยต่างๆอีก การถูกตัดเงินเดือนจากงบบัตรทองก้อนใหญ่อีก ทั้งหมดเป็นปัญหาทั้งสิ้น
รอจัดตั้ง Provider Board
รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธาน ยูฮอสเน็ต (UHosNet) และนพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ประธานชมรม รพศ./รพท. เคยให้ข้อมูลว่า ทางแก้ปัญหา คือ ต้องการให้มีการพูดคุยกันจริงๆ เห็นปัญหาและหาทางออกร่วมกัน ด้วยการเปิดทางให้หน่วยบริการ มีโอกาสเข้าไปร่วมประชุมหารือประเด็นต่างๆ ของบอร์ดสปสช. ในสัดส่วนที่เหมาะสม เรียกว่า Provider Board เดิมสมัย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นรมว.สธ.และประธานบอร์ดสปสช. ให้มีการจัดตั้ง แต่เมื่อมีการปรับเปลี่ยนบอร์ด ขณะนี้จึงยังไม่มีความคืบหน้า
ซึ่งจากการสอบถามทาง สปสช. ที่ผ่านมา ทั้ง นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสปสช. และทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสปสช. ต่างยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่มีทิ้ง เนื่องจากบอร์ดสปสช.ชุดใหม่รับทราบ และอยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งคณะอนุกรรมการผู้ให้บริการ หรือ Provider Board
ส่วนประเด็นที่ทางฝั่งหน่วยบริการหรือรพ.รัฐที่รับงบบัตรทอง ต่างต้องการให้เพิ่มงบประมาณ โดยเฉพาะงบผู้ป่วยในนั้น ทาง ทพ.อรรถพร กล่าวว่า การเสนอของบประมาณทุกครั้ง สปสช.เสนอขาขึ้นงบประมาณเพิ่มขึ้นตลอด แต่ขาลง คือ ถูกจัดสรรลงมา จะเป็นนอกเหนืออำนาจ แต่หลักๆเรื่องงบประมาณ รวมถึงงบผู้ป่วยใน จะพิจารณา 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.ผลงานของรพ.ที่จะเกิดขึ้นในปีนั้น โดยดูข้อมูลย้อนหลังและคำนวณแนวโน้ม 2.พิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อ และ3.พิจารณาจากสิทธิประโยชน์ว่า มีอะไรใหม่ ต้องใช้เงินเพิ่มเท่าไหร่
สปสช.ชี้ รพ.รัฐมีรายรับหลายทาง ไม่ใช่งบผู้ป่วยในอย่างเดียว
เมื่อได้รับงบประมาณมาก็มีการจัดสรรตามหลักเกณฑ์ ตามประกาศของบอร์ดสปสช. ทั้งงบเหมาจ่ายรายหัว งบผู้ป่วยใน งบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ฯลฯ อย่างงบผู้ป่วยใน ก็จัดสรรตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมหรือ DRGs ซึ่งรพ.จะบอกว่า จ่ายไม่ตรงตามต้นทุน จึงขอชี้แจงว่า แต่ละรพ.ต้นทุนไม่เหมือนกัน ดังนั้น สปสช.จึงมีการคิดคำนวณแบบ DRGs ขึ้น และจ่ายในรูปแบบ Global budget (การจ่ายปลายปิด) จ่ายเป็นเขตพื้นที่ อย่างมี 12 เขตสุขภาพก็จะจ่ายเป็นก้อน ให้เท่าไหร่ ใช้ตามนั้น เป็นรูปแบบที่นำมาจากออสเตรเลียและยุโรป ซึ่งวิธีนี้ก่อนจะประกาศมีการพิจารณาร่วมกันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว
ปัญหาคือ รพ.รัฐ ระบุว่าไม่เพียงพอ ยิ่งมีการลดการจ่ายลงไปอีกเหลือ 7,000ต่อหน่วย ยิ่งทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน..
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า รพ.มีรายรับหลายทาง ไม่ใช่แค่ผู้ป่วยในเท่านั้น แต่ยังมีผู้ป่วยนอก เป็นเงินเหมาจ่ายรายหัว งบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค งบค่าบริการระดับปฐมภูมิ ยังไม่รวมค่าแรงของหน่วยบริการของรัฐ ดังนั้น รพ.ไม่ได้มีรายรับเพียงกองทุนผู้ป่วยใน
ยกตัวอย่าง งบการบริหารจัดการกองทุนบัตรทอง ปีงบประมาณ2567 ได้รับรวม 217,628.9596 ล้านบาท(รวมค่าแรงของหน่วยบริการของรัฐที่ 64,890.7187 ล้านบาท) หากไม่รวมกองทุนจะใช้ได้ใน 9 รายการรวมเป็นเงิน 152,738.2409 ล้านบาท โดยเป็นงบเหมาจ่ายรายหัว 165,525.1530 ล้านบาท ซึ่งคิดอัตราเหมาจ่ายรายหัวต่อคนที่ 3,472.2400 บาทต่อผู้มีสิทธิบัตรทองราว 47 ล้านคน
โดยจัดสรรเป็นการบริการต่างๆ คือ ผู้ป่วยนอกทั่วไปประมาณ 1,348 บาทต่อคน ผู้ป่วยในทั่วไป 1,528 บาทต่อคน บริการกรณีเฉพาะ 436 บาทต่อคน บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ 9.8 บาทต่อคน บริการการแพทย์แผนไทยประมาณ 20 บาทต่อคน และค่าบริการทางการแพทย์ที่เบิกจ่ายในลักษณะงบลงทุน(ค่าเสื่อม) เฉลี่ย 128 บาท เป็นต้น (อ่านรายละเอียดตามไฟล์แนบด้านล่าง)
งบผู้ป่วยนอก 30 บาทรักษาทุกที่ จ่ายคลินิกไม่มาก
คำถามว่า งบผู้ป่วยนอก OP Anywhere โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ สปสช.จ่ายให้กับหน่วยบริการนวัตกรรม คลินิกเอกชนมากกว่างบ รพ.จริงหรือไม่..
ทพ.อรรถพร เผยว่า งบผู้ป่วยนอก อย่าง OP Anywhere โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ สปสช.มีการจัดสรรงบปลายเปิดให้กับคลินิก ร้านยา หรือหน่วยบริการนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งแตกต่างจาก รพ.นั้น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เป็นโครงการของรัฐที่ต้องการอำนวยความสะดวกประชาชน เจ็บป่วยเล็กน้อยรักษาใกล้บ้านที่ไหนก็ได้ ลดความแออัดในรพ.
โครงการนี้จ่ายเงินให้กับหน่วยบริการต่างๆ ประมาณ 6,619 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ส.ค.2567) ซึ่งจ่ายให้รพ.รัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขถึง 5,910 ล้านบาท เป็นการจ่ายแบบ Fee schedule จ่ายตามที่กำหนด ทั้งยา หัตถการต่างๆ เป็นต้น แบบนี้คือ การจ่ายแบบปลายเปิด
“ส่วนเงินที่สปสช.จ่ายให้กับหน่วยบริการนวัตกรรมต่างๆ ตามโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่แบบปลายเปิด ที่อาจมีผู้ไม่เข้าใจและมองว่าจ่ายมากกว่านั้น ปรากฎว่า การจ่ายเงินที่ผ่านมา 8,130,207 ครั้ง(220ครั้ง/คน) จ่ายไป 1,728 ล้านบาท คิดเป็นอัตราละ 212.63 บาท/ครั้ง ดังนั้น จะเห็นว่า รพ.ไม่ได้มีรายรับจากผู้ป่วยในเท่านั้น” ทพ.อรรพพร กล่าว
สปสช.เปิดเผยข้อมูลว่า สำหรับเงินที่จัดสรรให้ 7 หน่วยบริการนวัตกรรมเอกชน มีทั้ง 1. Lab จ่ายชดเชยไป47.7 ล้านบาท คิดอัตราเฉลี่ยต่อครั้ง 428 บาท 2. คลินิกแพทย์แผนไทย จ่ายชดเชยประมาณ 1.5 ล้านบาท อัตราเฉลี่ยต่อครั้ง 326 บาท 3.คลินิกเวชกรรม จ่ายไป 149.2 ล้านบาท คิดอัตราเฉลี่ยต่อครั้ง 197 บาท 4.ร้านยาเภสัชกรรมชดเชย 504.933 ล้านบาท คิดอัตราเฉลี่ยต่อครั้ง 170.68 บาท 5.คลินิกทันตกรรม ชดเชย 147 ล้านบาท คิดอัตราเฉลี่ยต่อครั้ง 681 บาท 6.การพยาบาล จ่าย 831 ล้านบาท คิดอัตราเฉลี่ยต่อครั้ง 211 บาท และ 7.คลินิกกายภาพบำบัด ชดเชยไป 46 ล้านบาท คิดอัตราลี่ย 326 บาท
ทางออกเบื้องต้นคงหนีไม่พ้น งบกลาง 7.1 พันล้านบาท ก็น่าจะบรรเทาและช่วย รพ.ได้ เพื่อให้โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ มีประสิทธิภาพการให้บริการยิ่งขึ้น เชื่อว่ารัฐบาลเพื่อไทย เล็งเห็นความสำคัญทั้งประชาชน และผู้ให้บริการ รอติดตามแถลงนโยบายรัฐบาลวันที่ 12 กันยายนนี้
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสปสช.
ข่าวเกี่ยวข้อง:
-“สมศักดิ์” โต้กลับข้อเสนอใช้นักบริหารมืออาชีพ แก้ปม รพ.ขาดทุน แทนหมอ
-“สมศักดิ์” ลั่นอย่าตกใจ รพ.ขาดทุน ผู้ป่วยในลดจากเดิมแค่ 2% ปัดตก “ร่วมจ่าย” เลิกคิดไปเลย
-ทางออก "รพ.ขาดทุน" ไม่จำเป็นต้องแก้ด้วย "การร่วมจ่าย" อย่างเดียว หวั่นเกิดความเหลื่อมล้ำ
-สปสช. แจงยิบ! หลังปม รพ.ขาดทุน เหตุถูกหั่นงบผู้ป่วยใน ชี้ถ้าไม่ทำกองทุนติดลบหลักหมื่นล้าน
-ถึงเวลาร่วมจ่ายหรือยัง? “หมอสุรศักดิ์” ติงสปสช.ปิดทางบัตรทองจ่าย On top ทั้งที่กฎหมายไม่ห้าม (คลิป)
-ตีแผ่ รพ.ขาดทุน จากงบผู้ป่วยใน ล่าสุด 403 รพ.ไม่ได้เงินบัตรทอง อีก 91 แห่งส่อวิกฤตการเงิน
อ่านรายละเอียดประกาศการบริหารจัดการงบกองทุนบัตรทองปีงบ 67 ไฟล์แนบด้านล่าง
- 952 views