คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เห็นชอบให้ กรมควบคุมโรค จัดหาวัคซีนป้องกันฝีดาษวานร เบื้องต้น 3,000 โดส  ทุ่ม 21 ล้านบาท ฉีดเฉพาะ  3 กลุ่มเสี่ยงเท่านั้นโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนกลุ่มอื่นๆ ไม่จำเป็น อัตราการระบาดยังไม่สูง เป็นการใช้วัคซีนเพื่อควบคุมการระบาด แต่ไม่ใช่เพื่อป้องกันในทุกคนแบบวงกว้าง

 

เมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ครั้งที่ 5/2567 ซึ่งมีวาระการพิจารณาแนวทางการใช้วัคซีนฝีดาษวานร เพื่อป้องกันและควบคุมโรค โดยเฉพาะขณะนี้พบการระบาดของสายพันธุ์เคลด 1 บี (Clade 1b) ในกลุ่มประเทศแอฟริกา ว่า ทางคณะอนุกรรมการสร้างเสริมฯ ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องได้มีการพิจารณาเรื่องวัคซีน ซึ่งประเมินสถานการณ์แล้วว่า การระบาดยังต่ำ เพราะโอกาสการแพร่ระบาดยังไม่สูงมาก ต้องสัมผัสใกล้ชิดจริงๆ และอาการของโรคไม่ได้มีเรื่องไอ น้ำมูกมากมาย   แม้แต่โรคฝีดาษวานร (MPox) สายพันธุ์เคลด 2 ที่มีในประเทศไทยอยู่แล้วก็ยังไม่ได้ระบาดรุนแรง

นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2567 องค์การอนามัยโลกประกาศฝีดาษวานรชนิดเคลด 1 บี ให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ  ซึ่งล่าสุดไทยพบผู้ป่วยชาวยุโรปติดเชื้อรายแรก แต่ขณะนี้ครบการเฝ้าระวัง 21 วันแล้ว หายดีออกจากรพ. ขณะที่ผู้สัมผัสใกล้ชิด 43 รายก็ไม่พบเชื้อเช่นกัน ถือว่าการติดตามครบจบทั้งหมด  

“สำหรับวัคซีนป้องกัน มีการตั้งคำถามว่าจำเป็นหรือไม่ต้องฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษวานร ทั้งนี้ ต้องย้ำว่า วัคซีนนี้ไม่มีการจำหน่าย ไม่มีบริษัทใดนำเข้าประเทศไทย เพื่อขออนุญาตจำหน่ายกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) แต่จากการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กำชับและขอให้มีคำแนะนำเรื่องนี้ โดยจริงๆ วัคซีนไม่จำเป็นต้องฉีดทุกคน ไม่มีการระบาดทั่วไป เพราะอัตราการระบาดต่ำ แต่จะพบในผู้ป่วยเฉพาะ เช่น ผู้ขายบริการทางเพศ และชายรักชาย อีกทั้ง ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากผู้ป่วยเอชไอวี และไม่ทานยาทั้งหมด 13 รายที่ผ่านมา (เชื้อเคลด2)” นพ.ธงชัย กล่าว

นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า ดังนั้น จากข้อมูลดังกล่าว คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่า เพื่อเป็นการควบคุมโรค แต่เนื่องจากวัคซีนป้องกันฝีดาษวานรยังไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย ทางกรมควบคุมโรคจึงใช้ มาตรา 13(5) เพื่อการควบคุมโรค ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510  จะมีการใช้งบประมาณ กรมควบคุมโรค วงเงิน 21 ล้านบาท เพื่อการจัดซื้อวัคซีนดังกล่าว รวม 3,000 โดส  เพื่อฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง  3 กลุ่ม ประกอบด้วย  1. บุคลากรทางการแพทย์ที่เสี่ยงต่อการติดโรค อาทิ ไปสัมผัสเสี่ยงสูง คือ สัมผัสคนติดเชื้อ 2. กลุ่มไปสัมผัสโรค เสี่ยงว่าจะติดเชื้อ ก็จะฉีดภายใน 4 วัน และ3. มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดคนติดเชื้อ เช่น คนในครอบครัวที่ติดเชื้อ ซึ่ง 3 กลุ่มเสี่ยงนี้ กรมควบคุมโรคจะดูแลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ส่วนอีกกลุ่มที่จะเดินทางไปประเทศที่มีการระบาดของโรคนั้น อาจจะต้องฉีดโดยเสียค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งปัจจุบันมีที่สภากาชาด ไม่ได้มีจำหน่ายในสถานพยาบาลทั่วไป 

อย่างไรก็ตาม ยังยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนทุกคน ควรฉีดที่เสี่ยงจริงๆ ทั้งนี้ จากนี้ จะต้อง ทำเรื่องให้กับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อดำเนินการจัดซื้อต่อไป  โดยหลังดำเนินการสั่งซื้อแล้วต้องรออีกประมาณ 4 เดือน ถึงจะมีวัคซีนเข้ามาใช้ในประเทศ  ดังนั้น ปัจจุบันยังไม่มี

นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า  ขอยืนยันว่า โรคฝีดาษวานร อัตราการระบาดต่ำ ไม่มีการระบาดทั่วไปในคนไทย โดยเฉพาะเคลด 1 บี  ยังพบผู้ป่วยในกลุ่มเฉพาะ เช่น ที่พบมากตั้งแต่ที่พบผู้ป่วยในไทยมาตั้งแต่ปี 2565 คือ ผู้ขายบริการทางเพศ ชายรักษา รวม 833 ราย ส่วนคนเสียชีวิต คือผู้ป่วยเอชไอวีด้วย รวมแล้วเสียชีวิตสะสม 13 ราย ที่เป็นสายพันธุ์เคลด 2 ปีที่แล้วพบป่วย 673 ราย แต่ปีนี้พบป่วยลดลงลง เหลือ 146 ราย ในกลุ่มเดิมๆ พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ไม่มีการแพร่กระจาย ดังนั้นความจำเป็นต้องได้รับวัคซีนต่ำมาก จึงฉีดให้เฉพาะกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า 3 กลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับวัคซีนป้องกันฟรี คือ จะคัดกรองโดยเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรคใช่หรือไม่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า ใช่ ขณะนี้มีข้อมูลเบื้องต้นอยู่ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีข้อมูลผู้เดินทางมาจากแอฟริกาประมาณวันละ 300-500 คน แต่หากมาจากประเทศที่มีการระบาดวันละ 2 คน และการเฝ้าระวังต้องบอกว่า ไม่ใช่ทุกด่าน แต่จะเป็นด่านควบคุมโรคนานาชาติเป็นหลัก

“ขอย้ำว่าวัคซีนที่กรมควบคุมโรค จะนำเข้ามานั้น ให้เฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่กำหนดเท่านั้น และวันนี้ไม่มีวัคซีน ซึ่งจริงๆ วัคซีนฝีดาษวานรโดยตรงไม่มี อย่างที่จะนำเข้ามาก็เป็นวัคซีนMpox ที่พัฒนาขึ้นมาแต่ผ่านการวิจัยจากบริษัทแล้ว และต้องเข้ามาผ่านการรับรองจาก อย. ขณะนี้ที่เราจะนำเข้ามาเพื่อการควบคุมการระบาด แต่ไม่ใช่เพื่อให้กับทุกคนเพื่อการป้องกัน ดังนั้น ยังจำกัดอยู่ เพราะอัตราการระบาดต่ำ” นพ.ธงชัย กล่าว