ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคเผย “ฝีดาษวานร เคลด 1 บี” ผู้ป่วยต่างชาติรายแรกในไทย จบวงจร! ออกจาก รพ.แล้ว ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิดไม่พบเชื้อ หลังติดตามครบกำหนด 21 วัน ด้านคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคประชุมแนวทางใช้วัคซีน Mpox  วันที่ 6 ก.ย.67

 

จากกรณีที่ประเทศไทยรายงานยืนยันการตรวจพบผู้ป่วยเอ็มพอกซ์ หรือฝีดาษลิงหรือฝีดาษวานร เคลด1บี รายแรกเป็นชายชาวยุโรปอายุ 66 ปี ป่วยหลังเดินทางจากประเทศแถบแอฟริกาที่มีการระบาดของโรคนี้เข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 ส.ค.และมีอาการป่วยในวันที่ 15 ส.ค.2567 และเข้ารับการรักษาในรพ.ตั้งแต่เช้าของวันที่ 15 ส.ค. รวมถึง ได้มีการประสานติดตามผูู้สัมผัสใกล้ชิด/เสี่ยงสูงกับผู้ป่วยรายนี้รวม 43 ราย เป็นเวลา 21 วัน โดยครบกำหนดในวันที่ 4 ก.ย.2567

เมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) ให้สัมภาษณ์ว่า  ขณะนี้ผู้ป่วยยืนยันฝีดาษวานร เคลด 1บีรายแรกนั้น กรมได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ พบว่าผู้ป่วยสะเก็ดแผลแห้งหมดแล้ว  สามารถออกจากรพ.กลับบ้านได้  ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิดทั้ง 43 รายก็ไม่พบผู้ติดเชื้อเช่นกัน

“ถือว่าการพบผู้ป่วยฝีดาษวานร เคลด1บีในวงที่เจอรายแรกนี้ จบแล้ว ไม่มีการแพร่เชื้อต่อไปยังคนอื่นๆ ขณะที่การเฝ้าระวังผู้ป่วยรายใหม่ๆที่อาจจะเดินทางมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่องค์การอนามัยโลก(WHO)ประกาศว่าเป็นพื้นที่ระบาดนั้น ด่านควบคุมโรคก็มีการดำเนินการมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง”นพ.ธงชัยกล่าว 

อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในไทยข้อมูล ณ วันที่ 5 กันยายน 2567 มียอดผู้ติดเชื้อรวม 833 ราย เป็นเพศชาย 812 ราย เพศหญิง 21 ราย อาการส่วนใหญ่พบผื่น มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 6 กันยายน 2567  คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค จะมีการประชุมแนวทางการใช้วัคซีนป้องกันฝีดาษวานร โดยมี นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานการประชุม และมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นครั้งนี้

 

อนึ่ง ในการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 4 ก.ย.2567กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้นำเสนอ เรื่อง การตรวจไวรัสฝีดาษวานรทางห้องปฏิบัติการ โดยระบุว่า  โรคฝีดาษวานร (Monkeypox) สายพันธุ์ Clade Ib ที่มีความรุนแรงสูง โดยเฉพาะเมื่อเร็ว ๆ นี้เชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้ได้ถูกตรวจพบในผู้ป่วยในประเทศไทยเป็นครั้งแรก การพบเชื้อไวรัสนี้เป็นผลจากการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการด้วยวิธีReal-time PCR ที่สามารถยืนยันการติดเชื้อ MPOX และเมื่อทดสอบชนิด สายพันธุ์พบว่าเข้าข่ายสงสัยเป็นสารพันธุกรรมของไวรัส Clade Ib ก่อนการยืนยันขั้นสุดท้ายได้ดำเนินการด้วยวิธีการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม (Whole Genome Sequencing)

ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่าย ดำเนินการเฝ้าระวังและติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส MPOX อย่างต่อเนื่อง เพื่อตรวจจับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์Clade Ibในประเทศไทย ติดตามและประเมินผลกระทบ จากการกลายพันธุ์ต่าง ๆ ที่อาจมีต่อการระบาดวิทยา ความรุนแรงของโรค ประสิทธิภาพของมาตรการทางสาธารณสุข และคุณสมบัติอื่น ๆ ของเชื้อไวรัส  การจัดทำและปรับปรุงแนวทางการตรวจวินิจฉัยให้สอดคล้องกับชนิดและความรุนแรงของสายพันธุ์ไวรัสที่พบ  การพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐานการตรวจวินิจฉัยให้ทันสมัยและตอบสนองต่อสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงสูง เช่น Clade Ib เพื่อให้สามารถตรวจจับและระบุได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำความสำคัญในการเฝ้าระวังและการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการควบคุมการ แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์Clade Ib อย่างมีประสิทธิภาพ