สธ.จับมือ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ผลิตแพทย์เติมข้าระบบสาธารณสุข ผ่านศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก รพ.ปทุมธานี และรพ.พหลพลพยุหเสนา ด้านปลัดสธ.รับบุคลากรทำงานหนัก ภาระงานเยอะ ความร่วมมือผลิตแพทย์ สอดคล้องนโยบายแผนกำลังคนทั้งประเทศ ช่วยแบ่งเบางานในอนาคต
เมื่อวันที่ 3 กันยายน ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ รศ.ดร.จิรศักดิ์ จิยะจันทน์ อธิการบดี ลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสองหน่วยงานเพื่อการสนับสนุนการเป็นโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสมทบในการผลิตแพทย์ของมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น พร้อมด้วย นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น นพ.นิสิต ศรีสมบูรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี และ นพ.วีรพล กิตติพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปทุมธานี
นพ.โอภาส กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น และกระทรวงสาธารณสุข จะร่วมกันพัฒนาทั้งในส่วนหลักสูตร บุคลากรผู้สอน คัดเลือกและพัฒนานิสิต ตลอดจนประเมินผลร่วมกัน โดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น จะรับผิดชอบจัดการเรียนการสอน ในชั้นปีที่ 1 – 3 ส่วนศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลปทุมธานี และศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จะรับผิดชอบจัดการเรียนการสอนในชั้นปีที่ 4 - 6 และมีการประสาทปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตแก่ผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น
“ความร่วมมือครั้งนี้ตรงกับนโยบายภาพรวมของประเทศในการผลิตบุคลากร และตรงกับนโยบายท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ซึ่งทราบกันอยู่แล้วว่า บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ยังขาดแคลนอยู่มาก บุคลากรมีภาระงานหนัก ที่ผ่านมาข้อมูลต่างๆ ไม่มีใครสงสัยเรื่องประสิทธิภาพของสาธารณสุข แต่ที่ตามมาคือ บุคลากรเราผลงานเยอะ และภาระงานมากขึ้น ดังนั้น ความร่วมมือครั้งนี้มีส่วนช่วยในการเพิ่มบุคลากร” ปลัดสธ. กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า รพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีศักยภาพในการผลิตบุคลากร โดยเฉพาะการเรียนการสอนชั้นคลินิก หรือการฝึกปฏิบัติกับผู้ป่วยจริง ที่ผ่านมาศูนย์แพทยศาสตรศึกษาของกระทรวงสาธารณสุข มีประมาณ 37 แห่ง ล่าสุดจะเพิ่มอีก ซึ่งนโยบายสธ.กำหนดให้แต่ละจังหวัดมีศูนย์แพทยศาสตรฯอย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง อย่างไรก็ตาม สำหรับความร่วมมือครั้งนี้สามารถผลิตบัณฑิตแพทย์ได้ศูนย์ละ 24 คนต่อปี จากความร่วมมือครั้งนี้รวม 3 ศูนย์แพทยศาสตร์บัณฑิตก็จะผลิตได้ 72 คนต่อปี การร่วมมือครั้งนี้ก็จะทำให้มีแพทย์เข้ามาเติมในระบบเพิ่มขึ้น และดูแลประชาชนในระบบสาธารณสุข ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีการพัฒนาบุคลากรให้มีองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วย
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุข ยังมีโครงการ 9 หมอในการผลิตแพทย์ร่วมกับสถาบันพระบรมราชชนก อย่างไรก็ตาม การผลิตแพทย์และพยาบาลมีความสำคัญ อย่าง แพทย์ 1 คนจะใช้ระยะเวลาเรียน6ปี ต่อด้วยการเพิ่มพูนทักษะ 1ปี และเฉพาะทางอีก 2ปี รวม 9 ปี ซึ่งต้นทุนในการผลิตแพทย์1คนเฉลี่ย 3 ล้านบาท -6 ล้านบาท เมื่อจบมาเป็นบัณฑิตแพทย์ ตลอดชีวิตที่ทำงาน จะสร้างมูลค่ากลับมาให้กับประเทศมากมาย ซึ่งมีข้อมูลที่คำนวณออกมาแล้วว่าแพทย์ 1 คนจะสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ มากกว่า 100 ล้านบาท มองว่า เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว
รศ.ดร.จิรศักดิ์ กล่าวว่า ตามบันทึกข้อตกลงฯ นี้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น และกระทรวงสาธารณสุข จะร่วมกันพัฒนาทั้งตัวหลักสูตร บุคลากรผู้สอน คัดเลือกและพัฒนานิสิต ตลอดจนประเมินผล ร่วมกัน โดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น รับผิดชอบจัดการเรียนการสอน ในชั้นปีที่ 1 – 3 ส่วนศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลปทุมธานี และศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา รับผิดชอบจัดการเรียนการสอนในชั้นปีที่ 4 - 6 และมีการประสาทปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตแก่ผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น
นอกจากนี้ นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ปัจจุบันแพทย์ 1 คนดูแลประชากร อยู่ที่ 1 ต่อ 1,100 ประชากร โดยระยะ 1-2 ปีนี้ ไทยต้องมีแพทย์ อยู่ที่ 1 ต่อ 1,000 ประชากร ส่วนระยะสุดท้าย ใน10 ปีข้างหน้า ตั้งเป้าไว้ อยู่ที่ 1 ต่อ 650 ประชากร เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย หากไทยจะเข้า เป็นกลุ่ม หาความร่วมมือความร่วมมือระหว่างประเทศ จะมีเกณฑ์ในการผลิตบุคลากรเพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางด้านสาธารณสุข
อนึ่ง สำหรับแผนกำลังคนด้านสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้ง คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปกำลังคนและภารกิจบริการด้านสาธารณสุขในภาพรวมทั้งระบบ และยุทธศาสตร์การจัดตั้งเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศด้านการแพทย์ สถาบันทางการแพทย์ และสถาบันการศึกษาต่างๆ ในภาพรวมของประเทศ ระยะยาว (5 – 10 ปี) โดยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ผลิตบุคลากรให้เพียงพอ กระจายตัวอย่างเหมาะสมตามบริบทพื้นที่ และรองรับการบริการในอนาคต เช่น เร่งรัดการผลิตแพทย์ 4,000 คนต่อปี / พยาบาล 15,000 คนต่อปีกายภาพบำบัด 2,000 คนต่อปี แพทย์แผนไทย 1,500 คนต่อปี
- 1125 views