สธ.สรุปสถานการณ์ น้ำท่วม 5 จังหวัด มีสถานบริการสาธารณสุขรับผลกระทบ 30 แห่ง มีผู้บาดเจ็บ 40 ราย เสียชีวิตสะสม 29 ราย ระวังโรคและภัยสุขภาพจากอุทกภัย ทั้ง น้ำกัดเท้า ตาแดง ไข้หวัด อุจจาระร่วง โรคฉีดหนู และไฟฟ้าดูด ด้านสถาบันโรคผิวหนัง สนับสนุนยากระจายให้กับประชาชน ขณะที่ “กัน จอมพลัง” ช่วยยายวัย 80 ปี ศรีสำโรง จ.สุโขทัย น้ำท่วมไป รพ.ไม่ได้ ประสานที่ปรึกษา รมว.สธ.เร่งช่วยเหลือ
เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม กองสาธารณสุขฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข สรุปสถานการณ์ น้ำท่วม ในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ เชียงราย สุโขทัย หนองคาย พิษณุโลก และพิจิตร โดยภาพรวมมีผู้บาดเจ็บสะสม 40 ราย และผู้เสียชีวิตสะสม 29 ราย ขณะที่สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 30 แห่ง เป็นโรงพยาบาล 2 แห่ง สำนักงานสาธาณณสุขอำเภอ 3 แห่ง รพ.สต. 23 แห่ง สสช. 1 แห่ง หน่วยบริการปฐมภูมิ 1 แห่ง สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ 25 แห่ง ปิดบริการ 5 แห่ง
โดยมีคำแนะนำสำหรับประชาชน คือ ระมัดระวังโรคที่มากับน้ำท่วม เช่น น้ำกัดเท้า ตาแดง ไข้หวัด อุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ โรคฉีดหนู ระวังอุบัติเหตุจากการจมน้ำ ไฟฟ้าดูด ระวังการเหยียบของมีคม สัตว์มีพิษกัด
ทั้งนี้ ในหลายพื้นที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ต่างลงไปช่วยเหลือผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงออกจากที่พักอาศัย เนื่องจากน้ำขึ้นสูง
ภาพจากสสจ. จ.พะเยา
วันเดียวกัน นพ.วีรวัต อุครานันท์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมการแพทย์และผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง เปิดเผยถึงการช่วยเหลือทางด้านการแพทย์เกี่ยวกับโรคผิวหนังที่มักพบจากปัญหาน้ำท่วม ว่า โรคผิวหนังยังเป็นโรคลำดับต้นๆของปัญหาทางกายที่เกิดกับผู้ประสบภัย กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง ห่วงใยต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว จึงได้สนับสนุนเวชภัณฑ์ยารักษาโรคผิวหนัง เพื่อกระจายให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยได้รับการช่วยเหลือได้รับการดูแลรักษาได้ทันท่วงที
โดยมอบให้แก่สำนักงานเขตสุขภาพที่ 1 จำนวน 2,400 ชุด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย จำนวน 800 ชุด โรงพยาบาลเทิง จังหวัดเชียงราย จำนวน 1,200 ชุด โรงพยาบาลขุนตาล จังหวัดเชียงราย จำนวน 400 ชุด โรงพยาบาลเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย จำนวน 400 ชุด โรงพยาบาลพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย จำนวน 400 ชุด รวมจำนวนทั้งสิ้น 5,200 ชุด
นอกจากเวชภัณฑ์ยารักษาโรคผิวหนังในผู้ประสบอุทกภัยแล้ว ประชาชนควรมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลตนเองอย่างถูกวิธี เพื่อลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่าง ๆ ที่จะตามมาได้ ซึ่งโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยและประชาชนในพื้นที่อุทกภัยหรือมีน้ำท่วมขังไม่ควรละเลย คือ โรคน้ำกัดเท้า ซึ่งในการดูแลผู้ป่วยโรคน้ำกัดเท้าสิ่งที่สำคัญคือ หลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำนานๆ ถ้าเลี่ยงไม่ได้จำเป็นต้องสัมผัสน้ำให้ใส่รองเท้าบูท และเมื่อขึ้นจากน้ำให้ล้างเท้าด้วยสบู่และน้ำสะอาด เช็ดเท้าให้แห้งอยู่เสมอและควรทาครีมบำรุงผิว ถ้ามีผื่นแดงเล็กน้อย คัน ควรทายากลุ่มสเตียรอยด์ หากมีผื่นและมีรอยเปื่อยฉีกขาดของผิว มีอาการบวมแดง ปวดเจ็บ หรือมีหนองเป็นอาการติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรงขึ้นควรพบแพทย์
“กรณีที่เท้าแช่น้ำนานหลายสัปดาห์ต่อเนื่องหรือนิ้วเท้าเกย หรือชิดกันมากทำให้อาจติดเชื้อราที่ง่ามนิ้วเท้าเกิดเป็นผื่นขุยเปียกขาวได้ ควรใช้ยาทารักษาเชื้อรา ถ้ามีบาดแผลควรทำแผลและทายาฆ่าเชื้อโรค เช่น เบตาดีน ควรระวังการตัดเล็บเท้าเพราะอาจเกิดบาดแผลซึ่งจะเป็นทางเข้าของเชื้อโรคได้ การทำความสะอาดเท้า ง่ามเท้าทุกครั้งหลังลุยน้ำด้วยสบู่และน้ำสะอาด และเช็ดให้แห้งจะช่วยป้องกันการเกิดโรคผิวหนังดังกล่าวได้” ผอ.สถาบันโรคผิวหนังกล่าว
ภาพจาก สสจ. จ.เชียงราย
ภาพจาก สสจ. จ.สุโขทัย
กัน จอมพลัง ประสานที่ปรึกษา รมว.สธ.ช่วยเหลือน้ำท่วมสุโขทัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา นายกัน จอมพลัง หรือนายกัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ ลงพื้นที่มอบของและช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมย่านศรีสำโรง จ.สุโขทัย โดยได้ไลฟ์ผ่านทางช่องของตนเองผ่านแพลตฟอร์ม TikTok และ Facebook โดยตอนหนึ่งได้เข้าช่วยเหลือยายเดินไม่ไหว คล้ายผู้ป่วยติดเตียง จึงได้ช่วยเหลือ
ทั้งนี้ นายกัน ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า
“ผมเอาของไปช่วยชาวบ้านน้ำท่วม ย่านศรีสำโรงสุโขทัย ไปเจอยายอยู่ท้ายหมู่บ้านเดินไม่ไหว ยายอยากให้ผมช่วยพาไปหาหมอที่พิษณุโลก เพราะหมอนัดยายรักษามะเร็งวันนี้ แต่ตอนนี้น้ำท่วมไม่รู้จะไปยังไงรถก็ไม่มีเงินก็ไม่มี หากยายไม่ได้ตามนัดคิวยายจะถูกเลื่อนออกไปอีกยาว ผมเลยโทรหาพี่ธนกฤต จิตต์อารีย์รัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประสานรพ. มารับตัว ส่วนรถไปส่งผมจะออกค่าใช้จ่ายเอง วันนี้ยายถึง รพ ที่พิษณุโลกแล้ว เคสนี้โชคชะตาให้ผมแวะมาที่นี่ถ้าผมไม่มาช่วยน้ำท่วมที่นี่เชื่อว่ายายไม่ได้ไป รพ แน่ๆ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการไลฟ์ได้มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่มองว่า ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงควรมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาดูแล โดยการรับออกจากพื้นที่น้ำท่วม จนไม่สามารถอยู่ได้ บางคนตั้งคำถามว่า ไม่มีศูนย์พักพิงให้ผู้ประสบภัยหรืออย่างไร ฯลฯ
- 140 views