7 หน่วยบริการนวัตกรรมใน จ.ขอนแก่น เตรียมพร้อม ต.ค. 67 นี้ เริ่ม "30 บาทรักษาทุกที่ เฟส 4" ร่วมดูแลสิทธิบัตรทองในพื้นที่ เพิ่มเข้าถึงบริการ ด้าน "นพ.จเด็จ"  เผยภาพรวมทั้งประเทศ มีประชาชน 11% เลือกไปหน่วยบริการนวัตกรรมก่อน พร้อมตั้งเป้าขยับเพิ่มเป็นร้อยละ 20 ช่วยลดความแออัดผู้ป่วยใน รพ. ใหญ่

เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ดร.ภก.ณรงค์ อาสายุทธ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 7 ขอนแก่น และคณะ ลงพื้นที่ไปยัง ต.บ้านทุ่ม อ.เมือง จ.ขอนแก่น เพื่อเยี่ยมชมความพร้อมของคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในการดำเนินนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในระยะที่ 4 จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย คลินิกแพทย์พิทยาธร ซึ่งเป็นคลินิกเวชกรรมเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัว, คลินิกทันตกรรมไดมอนด์ เดนทัล และร้านยาฟาร์มมาซิป 

นพ.จเด็จ  กล่าวว่า คลินิกเอกชนต่างๆ ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ที่เตรียมเข้าร่วมนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ต่างมีความพร้อม โดยเฉพาะคลินิกทันตกรรม คลินิกเวชกรรม และคลินิกการแพทย์แผนไทย ที่สนใจและสมัครเป็นหน่วยบริการในระบบมากขึ้น ซึ่งคาดว่า จ.ขอนแก่น จะเริ่มดำเนินการตามนโยบายพร้อมกันกับอีกจังหวัดที่เหลือในแผนการขับเคลื่อนระยะที่ 4 ภายในเดือน ต.ค. 2567 นี้ 
 

“อย่างไรก็ตาม ในส่วนภาพรวมนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ทั่วประเทศ ล่าสุดพบว่าประชาชนสิทธิบัตรทองเมื่อเจ็บป่วยเบื้องต้น จะเลือกไปรับบริการดูแลรักษาพยาบาลที่คลินิกเอกชนซึ่งเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมก่อนเป็นอันดับแรกประมาณร้อยละ 11 แต่ทั้งนี้ สปสช. ต้องการที่จะผลักดันให้มีประชาชนไปใช้บริการมากกว่านี้ อย่างน้อยต้องได้ร้อยละ 20 ขึ้นไป ซึ่งจะเป็นสัดส่วนที่สะท้อนการลดความแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้” นพ.จเด็จ  กล่าว

ดร.ภก.ณรงค์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปสช. เขต 7 ได้ชักชวนคลินิกต่างๆ ภาคเอกชนใน จ.ขอนแก่น ให้มาร่วมเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. เพื่อเตรียมความพร้อมร่วมให้บริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ในระยะ 4 นอกจากคลินิกกายภาพบำบัด ร้านยา และคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ที่สมัครเข้าร่วมกันมากแล้ว ยังมีคลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม และคลินิกแพทย์แผนไทยใน จ.ขอนแก่น ก็เริ่มสมัครเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง สปสช. เขต 7 มีการซักซ้อมทำความเข้าใจกับคลินิกที่เข้าร่วม โดยเฉพาะเรื่องการบันทึกข้อมูล การเบิกจ่าย และการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยบริการ เพื่อไม่ให้มีปัญหาติดขัดในการให้บริการ

“สปสช. เขต 7 ได้ประชาสัมพันธ์กับคลินิก พร้อมทั้งแนะนำ อบรม ชี้แจงการให้บริการตามสิทธิประโยชน์ รวมถึงการเบิกจ่ายค่าชดเชยต่างๆ โดยจะมีการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับหน่วยบริการนวัตกรรมทุกเดือน ช่วยกันแก้ไขข้อติดขัดต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการให้บริการ” ดร.ภก.ณรงค์ กล่าว

นพ.พิทยา เวียงทอง คลินิกแพทย์พิทยาธร ว่า เหตุผลของการเข้าร่วมเป็นคลินิกชุมชนอบอุ่นกับ สปสช. เพื่อให้บริการภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ เพราะต้องการให้คลินิกขยายการให้บริการดูแลรักษาพยาบาลให้กับคนในชุมชนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่จะได้เข้าถึงบริการจากคลินิกเวชกรรมนอกเวลาราชการ ซึ่งจะเพิ่มความสะดวกให้ผู้ป่วยมากยิ่งขึ้นในการเข้าถึงบริการตามสิทธิประโยชน์  

ทั้งนี้ เดิมก่อนเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมกับทาง สปสช. ทางคลินิกฯ จะรับผู้ป่วยทั้งแบบจ่ายเงินเองและสิทธิประกันสังคม โดยเปิดให้บริการนอกเวลาราชการทุกวัน และวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ โดยเฉลี่ยจะมีผู้ป่วยมาใช้บริการประมาณ 30 - 40 คนต่อวัน ซึ่งบางส่วนก็เป็นสิทธิบัตรทองด้วย แต่ที่ผ่านมาต้องชำระค่าใช้จ่ายเองเพราะคลินิกไม่ได้เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการ แต่จากนี้ที่เข้าร่วมแล้วก็จะช่วยให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่เคยมาใช้บริการ รับบริการได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งคลินิกจะไปเบิกจ่ายกับ สปสช. แทน 

ทพญ.รสสุคนธ์ รำมะนา คลินิกทันตกรรมไดมอนด์ เดนทัล กล่าวว่า ทางคลินิกทันตกรรมฯ ได้สมัครร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรม หรือคลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่นกับ สปสช. เมื่อเดือน ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา เพื่อให้บริการกับประชาชนสิทธิบัตรทองในพื้นที่ให้เข้าถึงบริการทันตกรรมเบื้องต้น ทั้งอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน เคลือบฟลูออไรด์ และเคลือบหลุมร่องฟัน โดยสาเหตุที่เข้าร่วมเป็นเพราะวางแผนไว้ว่า เมื่อ จ.ขอนแก่นประกาศให้มีการขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ในระยะ 4 เมื่อใด ก็จะได้ให้บริการกับประชาชนสิทธิบัตรทองนอกพื้นที่เพื่อมาใช้บริการได้ในทันที 
 

“อัตราการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการกับ สปสช. ถือว่าเพียงพอต่อคลินิกที่จะอยู่ได้ แต่ที่สำคัญคือได้ช่วยทำให้ผู้ป่วยบัตรทอง ได้เข้าถึงบริการทำฟันจากเอกชน ทำให้คลินิกเป็นที่รู้จักของประชาชน ที่สำคัญคือ ได้ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล เพราะงานทำฟันที่เป็นชุดสิทธิประโยชน์ที่ให้คลินิกทำฟันดูแล เป็นงานปฐมภูมิที่ทำได้ไม่ยาก ซึ่งจะแบ่งเบาภาระงานทันตกรรมของโรงพยาบาล ทำให้ได้รักษาเคสยากๆ ให้ผู้ป่วยที่จำเป็น” ทพญ.รสสุคนธ์ กล่าว 

 ขณะที่ ภกญ.พภัสสรณ์ แสงกุล ร้านยาฟาร์มมาซิป กล่าวว่า ทางร้านยาฯ ได้เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการและเพิ่งผ่านการรับรองเป็นร้านยาคุณภาพเมื่อเดือน ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อด้านเภสัชกรรม ที่ให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่รับการรักษาในโรงพยาบาลสามารถเลือกมารับยาที่ร้านยาได้ และยังให้บริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ โดยการจ่ายยาตามอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการให้กับผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง รวมถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ด้วย อย่างไรก็ตามขณะนี้ที่ร้านยังมีผู้มารับบริการไม่มากนัก เนื่องจากเพิ่งเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการไม่นานนัก แต่คาดว่าเมื่อมีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ใน จ.ขอนแก่น เริ่มขึ้น ก็จะทำให้ร้านยาเป็นที่รู้จักมากขึ้น และน่าจะมีผู้ป่วยมาใช้บริการมากขึ้นเช่นกัน