สธ.เตรียมความพร้อมเหตุอุทกภัยภาคเหนือตอนบน กรมสุขภาพจิต มอบหมายทีม MCATT ลงพื้นที่ วางแนวทางรับมือสถานการณ์น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก ประสานการดูแลผู้ป่วยจิตเวช-ผู้ป่วยติดสุราไม่ให้ขาดยา
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงเหตุอุทกภัยในภาคเหนือตอนบน ว่า ได้มอบหมายให้ทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) เขตสุขภาพที่ 1 จัดตั้งทีม EOC (Emergency Operation Center) เตรียมความพร้อมลงพื้นที่ดูแลจิตใจประชาชน วางแนวทางการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก พร้อมประสานการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและผู้ป่วยติดสุราไม่ให้ขาดยา ในเขตสุขภาพที่ 1
นพ.พงศ์เกษม กล่าวอีกว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์นํ้าท่วมรุนแรง หลายครอบครัวต้องขนย้ายข้าวของหนีนํ้า มักเกิดความโกลาหลวุ่นวาย เป็นระยะที่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก ในระยะนี้จึงควรมีการกำหนดบทบาทของสมาชิกและจัดลำดับความสำคัญเตรียมรับมือ จะช่วยลดความสับสนกระวนกระวายและวิตกกังวลลงได้ สิ่งที่ต้องทำ คือ ตั้งสติให้ดี อย่าตกใจ นึกถึงความปลอดภัยของชีวิตเป็นอันดับแรก เช่น ระวังเรื่องไฟฟ้า หลังจากนั้นค่อยคิดหาทางออกเป็นขั้นเป็นตอนจากง่ายไปยาก ตลอดจนลดการสื่อสารหลายช่องทาง ติดตามข่าวสารประกาศเตือนภัยจากแหล่งข่าวสำคัญของท้องถิ่นหรือของทางราชการเป็นหลัก เพื่อลดการตื่นตระหนก และความวิตกกังวล สำหรับผู้มีโรคประจำตัว ก็ขอให้จัดเตรียมยาที่ต้องรับประทานเป็นประจำไว้ใกล้ตัวเพื่อให้หยิบง่ายหากเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยมอบทีมในพื้นที่ดำเนินการ ประกอบด้วย
1. จัดทีมเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ร่วมกับทีม MCATT ในพื้นที่
2. เฝ้าป้องกันกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่มีความอ่อนไหวทางด้านจิตใจ กลุ่มผู้ช่วยเหลือ
3. ค้นหา ส่งต่อ เฝ้าระวัง ดูแลผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มเสี่ยงไม่ให้ขาดยาเด็ดขาด ผู้ป่วยติดสุรา ขาดสุราหรือหยุดดื่ม ให้เตรียมยาป้องกันอาการลงแดง
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ทีมบุคลากรทางการแพทย์ เตรียมความพร้อมในการให้บริการผู้ป่วยผ่านระบบ Tele psychiatry ด้วย พร้อมสำรองเวชภัณฑ์ยาที่จำเป็นเพื่อเตรียมจัดส่งให้ผู้ป่วยที่อาจขาดยา ผู้ป่วยที่ไปตามนัดไม่ได้ขอให้แจ้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นพ.พงศ์เกษม กล่าวต่ออีกว่า ทุกคนสามารถช่วยดูแลจิตใจกันได้ ด้วยหลัก 3 ส. “สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อเชื่อมโยง”
- สอดส่องมองหา โดยการสังเกตพฤติกรรมของคนรอบข้างและคนใกล้ชิด เช่น เหม่อลอย ปลีกตัวจากผู้อื่น ไม่สดใสร่าเริงเหมือนเมื่อก่อน
- ใส่ใจรับฟัง หากพบอาการผิดปกติควรใส่ใจ ให้ระบายความในใจออกมา อาจสื่อสารด้วยภาษากาย การสัมผัส โอบกอบ
- ส่งต่อเชื่อมโยง หากพฤติกรรมยังไม่ดีขึ้น ควรไปหาผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจ และรับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธี
ที่สำคัญ อย่าใช้สุรายาเสพติดมาเป็นทางออกของการจัดการความเครียด กรณีเครียดจากการได้เห็นสภาพความเสียหาย ทำให้เกิดความเครียดสูง จึงควรตั้งสติ คิดวางแผนแก้ไขปัญหาเป็นขั้นเป็นตอน เรียงลำดับก่อนและหลัง เริ่มจากง่ายไปหายาก อย่าหมดกำลังใจ มีสติ ยิ้มสู้กับปัญหา ส่วนกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ขอให้เตรียมความพร้อมร่วมกันในครอบครัว ติดตามประกาศเตือนภัย กำหนดหน้าที่ของคนในครอบครัว และวางแผนการขนย้ายสิ่งของจากบ้านเรือนไว้ให้พร้อม ตั้งสติ อย่าตกใจ คิดถึงความปลอดภัยของชีวิตและคนในครอบครัวไว้ก่อน และทำตามแผนที่วางไว้ ซึ่งจะช่วยลดความสับสน ตื่นตระหนกลงได้ ยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้น และหาทางแก้ไขปัญหาทีละขั้นตอนตามความจำเป็น
ด้าน นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิตและผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวว่า ตามประกาศเตือนของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในช่วงวันที่ 24-30 สิงหาคม 2567 อธิบดีกรมสุขภาพจิตได้สั่งการให้โรงพยาบาล จัดทีมเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชม. บูรณาการในพื้นที่ให้บริการประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพจิต เตรียมทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจหรือทีมเอ็มแค็ท (MCATT) พร้อมเวชภัณฑ์ ให้พร้อมลงปฏิบัติงานดูแลจิตใจแก่ผู้ประสบภัย ในกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติการรักษาโรคทางจิตเวช ใช้สารเสพติด ผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักและทรัพย์สิน ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และเด็ก กลุ่มผู้ที่ต้องการบริการด้านสุขภาพจิต ตลอดจนช่วยเหลือเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายทุกราย ทั้งนี้ ในการดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยจะมีหลักสำคัญ 5 ข้อ ได้แก่
1.การทําให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัย ตั้งแต่การให้ข้อมูลข่าวสารอย่างเหมาะสม การให้ที่พักพิง รวมถึงการเข้าถึงความต้องการพื้นฐานต่างๆ
2.การทําให้รู้สึกสงบ ผ่อนคลาย ได้แก่ การรับฟังอย่างเข้าใจ การให้ข้อมูล การให้คําปรึกษาเบื้องต้น ตลอดจนการคลายเครียด
3.การช่วยเหลือ จัดการ ให้มีการติดต่อสื่อสารกันอย่างสมํ่าเสมอ โดยเฉพาะครอบครัว
4.การสร้างความหวังที่เป็นไปได้ เช่น การประสานงานให้ได้รับการช่วยเหลือต่าง ๆ การให้ข้อมูล การช่วยเหลือ การติดตามคนที่สูญหาย การจัดหางาน การฝึกอาชีพ รวมถึงการช่วยเหลือในการกลับไปสู่ภาวะปกติ
5.การส่งเสริม กระตุ้น บุคคล หรือชุมชน ในการใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในการแก้ไขปัญหา ฟื้นฟู และช่วยเหลือกันและกัน
สำหรับปฏิกิริยาทางด้านจิตใจของผู้ประสบภัย จะมีการแสดงออกที่แตกต่างกันไป ตามระยะของการเกิดภัย ซึ่งในระยะนี้ อยู่ในช่วงระยะวิกฤติและฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะเกิดอาการต่าง ๆ
ด้านอารมณ์ เช่น ช็อค โกรธ สิ้นหวัง หวาดกลัว เศร้าโศก เสียใจ หงุดหงิด
ด้านความคิด เช่น ไม่มีสมาธิ ความจำไม่ดี สับสน ตำหนิตัวเอง วิตกกังวล
ด้านร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดต้นคอ ท้ายทอย ใจสั่น นอนไม่หลับ ตื่นเต้น ตกใจง่าย
ด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น แยกตัว ขัดแย้งกับคนใกล้ชิด
อาการเหล่านี้ ถือเป็นการตอบสนองตามปกติที่เกิดขึ้นและจะค่อย ๆ ลดลงจนหายไป แต่ละคนมีระดับความเครียดแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับต้นทุนชีวิตเดิมหรือบุคลิกภาพเดิมเป็นอย่างไร และเป็นคนที่สามารถปรับตัวได้มากน้อยเพียงใด หากพบผู้ประสบภัยมีความเครียดสูง มีภาวะซึมเศร้า เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย สังเกตได้จากเดิมเคยเป็นคนร่าเริง เปลี่ยนเป็นซึมเศร้า บ่นท้อแท้ หดหู่ใจ หรือบ่นถึงความตายบ่อย ๆ จะรีบเข้าไปช่วยเหลือ พูดคุย ให้กำลังใจ ช่วยลดความเครียดลง
สำหรับรายที่มีอาการนอนไม่หลับอย่างรุนแรง ท้อแท้ หรือเครียดมากๆ จนถึงขั้นกระสับกระส่าย ไม่มีสมาธิ อาจต้องให้ยาคลายความเศร้า หรือยาคลายความเครียดที่จะทำให้การนอนหลับดีขึ้นร่วมด้วย โดยจะมีการติดตามอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องต่อไปเป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรงในระยะยาว และเกิดโรคทางจิตเวช เช่น โรคภาวะเครียดหลังเหตุการณ์รุนแรง (PTSD)
- 237 views