ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์ ร่วมเดินหน้าการแพทย์จีโนมิกส์ หลังใช้ประโยชน์แล้วจากการตรวจคัดกรองหายีนโรคมะเร็งเต้านม เตรียมผลักดันโรคอื่นๆ “มะเร็งรังไข่-มะเร็งลำไส้” ในอนาคต ขณะที่สวรส.รอเสนอครม.ใหม่ขับเคลื่อนข้อมูลพันธุกรรมคนไทยจากโครงการจีโนมิกส์ไทยแลนด์อีก 5 หมื่นราย

 

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม นพ.สกานต์ บุญนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายในการสัมมนาวิชาการด้านจีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำ(GENOMICS AND PRECISION MEDICINESEMINAR 2024) ซึ่งจัดโดยกรมการแพทย์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2567  ที่ผ่านมา ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต ว่า ขณะนี้ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย นำเรื่องการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomics Medicine)   มาใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น  การถอดรหัสพันธุกรรม สามารถบอกความเสี่ยงก่อโรคต่างๆ อย่างโรคมะเร็ง หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ก็สามารถบอกว่าเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อย ซึ่งเมื่อทราบข้อมูลตรงนี้ในระยะยาวจะประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอย่างมาก  

“ปัจจุบันสามารถนำมาใช้ประโยชน์ อย่างการประเมินความเสี่ยงหาโรคมะเร็งเต้านม จากยีน BRCA1 และ BRCA2 ซึ่งอยู่ในสิทธิของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง แล้ว โดยสามารถตรวจได้ในโรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ตามแต่ละจังหวัดทั่วประเทศแล้ว  สำหรับจีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำยังช่วยในการบอกยามุ่งเป้าสำหรับมะเร็งเต้านมอีกด้วย นอกจากนี้ เราจะผลักดันในโรคอื่นๆ เช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งลำไส้ คาดว่าจะทำได้ในอนาคตอันใกล้” นพ.สกานต์ กล่าว

ด้าน รศ.(พิเศษ) นพ.สถิตย์ นิรมิตรมหาปัญญา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กล่าวถึงการพัฒนาจีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia)  ว่า  ในแถบ Southeast Asia จะมีประเทศไทย และสิงคโปร์ ที่ค่อนข้างให้ความสนใจในเรื่องการแพทย์จีโนมิกส์ ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้ทำโครงการ จีโนมิกส์ประเทศไทย (Genomics Thailand) เป็นโครงการวิจัยด้านสุขภาพที่รวบรวมฐานข้อมูลพันธุกรรมขนาดใหญ่ของคนไทย ได้ดำเนินการผ่านเฟสแรกไปแล้วด้วยการเก็บข้อมูล 50,000 ราย

“จากข้อมูลเฟสแรกมี 5 หมื่นราย หลังจากนี้เรากำลังก้าวเข้าสู่เฟสที่สองอีกจำนวน 5 หมื่นราย ซึ่งหลังจบโครงการในเฟสที่สอง  จะทำให้มีข้อมูลพันธุกรรมของคนไทยรวม 100,000 ราย ถือว่ามีจำนวนมากเกือบเท่ากับข้อมูลจีโนมิกส์ของ UK ที่มี 110,000 ราย ส่วนสิงคโปร์มีการดำเนินการเช่นกัน  ทั้งนี้ ประเทศอื่นๆ อย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย ก็มีการพัฒนาเช่นกัน แต่สำหรับไทยถือว่า เป็นก้าวสำคัญในการทำข้อมูลด้านพันธุกรรมที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคตได้” รศ.(พิเศษ) นพ.สถิตย์ กล่าว

เมื่อถามว่าเฟสสองจะเริ่มดำเนินการเมื่อไหร่ รศ.(พิเศษ) นพ.สถิตย์ กล่าวว่า ต้องรอนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี( ครม.) พิจารณา ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) ในการเป็นเจ้าภาพหลักเรื่องจีโนมิกส์ไทยแลนด์เฟสสอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จีโนมิกส์ประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ปี 2562 คณะรัฐมนตรี(ครม.) ขณะนั้นได้อนุมัติ แผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย พ.ศ. 2563-2567  (Genomics Thailand) เพื่อเป็นแผนปฏิบัติการที่มีเป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างฐานข้อมูลพันธุกรรมของคนไทยจำนวน  5 หมื่นรายใน 5 กลุ่มโรค คือ กลุ่มโรคมะเร็ง กลุ่มโรคเรื้อรัง กลุ่มโรคติดเชื้อ กลุ่มโรคหายาก และเภสัชพันธุศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันเก็บข้อมูลครบ 5 หมื่นรายแล้ว และผลดังกล่าวจะถูกนำไปวิเคราะห์และส่งคืนให้กับแพทย์หรืออาสาสมัคร หรือต่อยอดไปสู่งานวิจัยต่างๆในอนาคต ส่วนระยะที่ 2 ยังต้องรอครม.ที่กำลังฟอร์มทีมอยู่ขณะนี้ให้มีความชัดเจน โดย สวรส.จะนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อไป