สปสช. จับมือ รพ.นครพิงค์ หนุน “คลินิกทันตกรรมฟอร์จูน” จัด “รถทันตกรรมเคลื่อนที่” ดูแลสุขภาพช่องปากเยาวชนใน “ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 7” ตามโครงการพระราชดำริ ราชทัณฑ์ปันสุขฯ เพื่อให้บริการเชิงรุกกับกลุ่มเปราะบาง
เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2567 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ “ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 7” ต.แม่ริม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพื่อเยี่ยมชม “หน่วยบริการนวัตกรรมรถทันตกรรมเคลื่อนที่” ในโครงการดูแลสุขภาพทันตกรรมเด็กและเยาวชนศูนย์ฝึกฯเขต 7 ภายใต้โครงการพระราชดำริ ราชทัณฑ์ปันสุข ทำความสุข เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ที่ดำเนินการให้บริการโดย คลินิกทันตกรรมฟอร์จูน
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า คลินิกทันตกรรมเป็น 1 ใน 7 หน่วยบริการนวัตกรรมที่ สปสช. ได้เชิญชวนหน่วยบริการเอกชนให้เข้ามาร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ซึ่งการให้บริการคลินิกทันตกรรมเอกชน แบ่งได้ 2 ประเภท คือ การให้บริการที่คลินิกทันตกรรมปกติที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ และบริการผ่านรถทันตกรรมเคลื่อนที่ โดยเป็นบริการเพื่อตอบสนองกลุ่มเปราะบาง หรือผู้ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงรักษา
“บริการรถทันตกรรมเคลื่อนที่ในปีนี้ จะเน้นไปที่การให้บริการกับผู้ต้องขังในเรือนจำ รวมถึงสถานพินิจ และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กฯ เป็นพิเศษอย่างในวันนี้ และในปีหน้าจะขยายการบริการไปยังพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดารมากขึ้น และจากการที่สมาคมรถทันตกรรมเคลื่อนที่ฯ ดำเนินงานร่วมกับ สปสช. ในการขับเคลื่อนร่วมกับเครือข่าย ทำให้ปัจจุบันมีรถทันตกรรมเคลื่อนที่เข้าร่วมให้บริการถึงจำนวน 19 คัน ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถให้บริการแก่กลุ่มเปราะบางได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นภายใต้สิทธิประโยชน์บัตรทอง 30 บาท” ทพ.อรรถพร กล่าว
นายฉัตธิชัย รอดสุทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 7 กล่าวว่า ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กฯ มีหน้าที่ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดตามคำพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวในเขตภาคเหนือตอนบน โดยปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนในความดูแลจำนวน 113 คน แบ่งเป็นเพศชายจำนวน 104 คน และเพศหญิงจำนวน 9 คน โดยในจำนวนนี้ พบว่ามีปัญหาสุขภาพในช่องปากเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้านทันตกรรม
นพ.ศิริพจน์ ศรีบัณฑิตกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลนครพิงค์ กล่าวว่า โรงพยาบาลฯ ได้ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่สาหลวง (รพ.สต.แม่สาหลวง) และหน่วยงานสาธารณสุขต่างๆ ในพื้นที่ เข้าไปให้ความรู้และตรวจคัดกรองโรคเบื้องต้นในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กฯ มาอย่างต่อเนื่อง พบว่าปัญหาสุขภาพของเด็กและเยาวชนอันดับหนึ่ง คือโรคผิวหนัง รองลงมาคือสุขภาพในช่องปาก ที่ผ่านมาหลังทำการตรวจคัดกรองด้านทันตกรรมเบื้องต้น หากเด็กคนไหนมีปัญหาสุขภาพในช่องปาก ก็จะนำเด็กออกไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก
แต่ในปีนี้ด้วยความตั้งใจที่ต้องการเด็กๆ ในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนฯ เหล่านี้ ได้มีโอกาสเข้าถึงบริการทันตกรรมอย่างทั่วถึง ทั้งคัดกรองและรักษา ไม่ต้องเดินทางออกไปข้างนอกศูนย์ฝึกฯ จึงได้ร่วมจัดให้บริการผ่านรถทันตกรรมเคลื่อนที่ โดยเบิกค่าใช้จ่ายบริการจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ขณะที่ รศ.ทพ.แสวง โพธิ์ไทรย์ นายกสมาคมรถทันตกรรมเคลื่อนที่ (ประเทศไทย) และผู้ประกอบการ คลินิกทันตกรรมฟอร์จูน กล่าวว่า คลินิกทันตกรรมฟอร์จูนมีรถทันตกรรมเคลื่อนที่จำนวน 3 คัน ไว้คอยให้บริการ ขณะเดียวกันก็เป็นเครือข่ายการทำงานร่วมกับ สปสช. เพื่อให้บริการในกลุ่มคนเปราะบางที่ประสบปัญหาการเข้าถึงบริการทันตกรรม จึงได้มีการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวตั้งแต่ปีที่แล้ว และที่ผ่านมาได้จัดให้มีการบริการภายในเรือนจำหลายพื้นที่ในจังหวัดทางภาคเหนือ โดยบริการบนรถทันตกรรมจะครอบคลุมหัตถการด้านทันตกรรมพื้นฐาน ได้แก่ การขูดหินปูน การอุดฟัน และการถอนฟัน
“กลุ่มคนเหล่านี้มีปัญหาสุขภาพในช่องปากมากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่นำรถทันตกรรมมาให้บริการแก่เด็กและเยาวชนในศูนย์ฝึกฯ แห่งนี้ แม้ว่ารถทันตกรรมเคลื่อนที่ 1 คัน จะสามารถให้บริการได้มากถึง 100 – 200 คนต่อวัน แต่บริการสุขภาพในช่องปากเป็นงานที่ต้องมีการติดตามผล โดยหลังจากนี้จะเข้ามาให้บริการทันตกรรมแก่เด็กๆ ทุกสัปดาห์ จนกว่าทุกคนที่มีปัญหาจะได้รับการรักษาอย่างครบถ้วน” รศ.ทพ.แสวง กล่าว
- 93 views